in

รู้จัก 10 เยาวชนผู้ชนะจากไทยในโครงการ Swift Student Challenge 2025

ทำความรู้จักกับ 10 เยาวชนผู้ชนะจากไทยในโครงการ Swift Student Challenge 2025 เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้สร้างแอปบน Swift Playgrounds ด้วยภาษา Swift ซึ่งเป็นภาษาที่นักพัฒนาแอประดับมืออาชีพใช้จริง

รู้จัก 10 เยาวชนผู้ชนะจากไทยในโครงการ Swift Student Challenge 2025

ทุกๆ ปี Apple เปิดโอกาสให้นักเรียนและเยาวชนได้แสดงศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ผ่านการพัฒนาแอปพลิเคชันในโครงการ Swift Student Challenge ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงงาน Worldwide Developers Conference (WWDC) โดยโครงการนี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมจากทั่วโลกได้สร้างแอปบน Swift Playgrounds ด้วยภาษา Swift ซึ่งเป็นภาษาที่นักพัฒนาแอประดับมืออาชีพใช้จริง เพื่อจุดประกายไอเดียและส่งเสริมความสามารถของนักพัฒนาแอปในอนาคต และในปี 2025 นี้ เยาวชนไทยได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศผ่านการแข่งขันระดับโลก ด้วยการคว้ารางวัลผู้ชนะจากโครงการนี้ได้ถึง 10 คน และถือเป็นปีแรกที่ไทยมีผู้ชนะจากสถาบันอาชีวศึกษาอีกด้วย ในจำนวนผู้ชนะทั้ง 10 คน มีผู้ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ หรือ Distinguished Winner จากประเทศไทย ทั้งสิ้น 1 คน ได้แก่ ‘จุ๊บ พรชนก เพชรอินทร์’ โดยเธอจะได้รับเชิญให้เดินทางไปยัง Apple Park เพื่อเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษกับเยาวชนผู้ชนะเลิศจากทั่วโลก ที่เมืองคูเปอร์ติโน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เป็นระยะเวลา 3 วัน

พรชนก เพชรอินทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนเบ็ญจะมะมหาราช จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ที่เริ่มสนใจด้านการเขียนโค้ดจากการเข้าร่วมแข่งขันออกแบบและสร้างหุ่นยนต์กู้ภัย ทั้งยังทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนให้แก่อาจารย์ในคลาสวิชาวิทยาการหุ่นยนต์สำหรับนักเรียนคนอื่นๆ ที่สนใจ และหลังได้แรงบันดาลใจจากรุ่นพี่ที่เคยส่งผลงานเข้าร่วม Swift Student Challenge พรชนกจึงเริ่มศึกษาการเขียนโปรแกรมภาษา Swift ด้วยตนเองผ่าน YouTube ที่สอนเนื้อหาตั้งแต่พื้นฐาน และพัฒนาทักษะต่อเนื่องจนสามารถสร้างแอปพลิเคชันของตนเองได้สำเร็จ ในปีนี้พรชนกคว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานการสร้างสรรค์แอป CyberGuardian ที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง Cyber Security ซึ่งเธอมองว่าเป็นองค์ความรู้ที่น่าสนใจ แต่การเข้าถึงองค์ความรู้เหล่านี้จะต้องจ่ายเงินจึงสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้ เธอจึงเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างแอปที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่อง Cyber Security ได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม อีกทั้งยังมาพร้อมกับเกมตอบคำถามที่สร้างความท้าทาย กระตุ้นผู้เล่นให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีผู้ชนะอีก 9 คนด้วยกัน คือ

ชวภณ เนติสิงหะ จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ผู้เริ่มต้นเส้นทางการเขียนโค้ดตั้งแต่อายุ 10 ขวบ จากการทดลองเขียนคำสั่งในเกม Minecraft ก่อนจะต่อยอดสู่ภาษา Swift เขาได้พัฒนาแอปที่มีชื่อว่า Systaxia ซึ่งเป็นเกมที่มีเส้นเรื่องน่าสนใจ โดยผู้เล่นจะต้องช่วย ‘ยูกิ’ ตัวละครหลักซึ่งเข้าไปติดในคอมพิวเตอร์ให้ออกมาสู่โลกภายนอกให้ได้ พร้อม ๆ กับเรียนรู้พื้นฐานการเขียนโค้ดและทำแบบทดสอบในแต่ละด่านให้สำเร็จ

รัสรินทร์ นิธิเจริญอริยะ บัณฑิตจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ที่เติบโตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจทำให้เธอมีแรงบันดาลใจที่จะถ่ายทอดความรู้ด้านธุรกิจให้กับคนทุกเพศทุกวัย เธอจึงได้พัฒนาเกม Ba.Con เกมแสนสนุกที่ช่วยให้เด็กๆ เรียนรู้หลักการทำธุรกิจผ่านการบริหารร้านขายเบคอนที่ปลูกฝังแนวคิดด้านธุรกิจอย่างยั่งยืน

สุคนธา ภู่พระอินทร์ จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้รับแรงบันดาลใจการสร้างเกม Money Loop จากแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์และปัญหาด้านความจำ เธอตระหนักถึงผลกระทบของโรคดังกล่าว จึงเกิดเป็นเกมแยกแยะและจัดการเงินบาทไทยที่ช่วยฝึกความจำและพัฒนาทักษะทางสมองเพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดปัญหาด้านความจำและลดความเสี่ยงการเป็นโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต

ระพีพัฒน์ ทำดี จากวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) ได้พัฒนาเกมเพื่อการศึกษาอย่าง Mystery Plant เกมดูแลต้นไม้ที่สนุก เข้าใจง่ายและสอนให้ผู้เล่นรู้จักการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดและการคิดเชิงกลยุทธ์ผ่านการตัดสินใจที่ตัวละครหลักในเกมจะต้องเลือกในแต่ละครั้งเพื่อเลี้ยงต้นไม้ปริศนาให้เติบโตและสะสมให้ครบทั้งคอลเลคชัน

ศรุติ์ อาจณรงค์ จากโรงเรียนนาคประสิทธิ์ มูลนิธิวัดบางช้างเหนือ ผู้เริ่มต้นเส้นทางการเขียนโค้ดตั้งแต่อายุ 13 ปี เขาได้นำความถนัดในการเขียนโค้ดรวมเข้ากับความรักในการเล่นเปียโนจนสร้างสรรค์แอปที่มีชื่อว่า HearPiano แอปนี้ออกแบบมาเพื่อฝึกการฟังเสียงเปียโนและการจูนโน้ต โดยผู้ใช้จะสวมบทเป็นช่างจูนเปียโน ปรับเสียงให้ตรงคีย์ในเวลาที่จำกัดเพื่อช่วยเสริมทักษะการแยกแยะเสียงในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน

เทต ออง ไชน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ผู้ที่ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนโค้ดจากลุงของเขาซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ การเขียนโค้ดไม่เพียงแต่ทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับครอบครัวมากขึ้น แต่ยังจุดประกายความสนใจและกำหนดทิศทางในอนาคตของเขาในฐานะนักพัฒนาแอปอีกด้วย ในปีนี้เขาได้สร้างสรรค์แอป EcoVision ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถประเมินค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ได้ทันทีเพียงแค่ยกกล้องขึ้นถ่าย

หลี่ เจิ้น หยี่ ลี นักเรียนจากโรงเรียนวารีเชียงใหม่ เขาเกิดมาพร้อมกับปัญหาด้านการได้ยินซึ่งทำให้เขาได้ยินเสียงจากหูซ้ายน้อยกว่าหูขวา เรื่องนี้ได้จุดประกายไอเดียของเขาในการช่วยเหลือชุมชนผู้ที่มีปัญหาการได้ยินผ่านแอป HearMeOut โดยแอปนี้สามารถแปลงเสียงพูดเป็นข้อความได้แบบเรียลไทม์ โดยใช้เทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เพื่อช่วยให้การสื่อสารของผู้ที่มีปัญหาการได้ยินมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เจษฎา พงศ์ภัณฑารักษ์ นักเรียนจากโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม ผู้มีความสนใจในประเด็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้เขามุ่งมั่นพัฒนาโครงการที่ลดปัญหาขยะไมโครพลาสติก และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของประเด็นนี้ที่มีต่อสิ่งแวดล้อม เขาจึงพัฒนาแอป microPLASTICS เกมแบบอินเทอร์แอกทีฟที่ให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะอย่างถูกวิธี พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงอันตรายของไมโครพลาสติกในรูปแบบที่เข้าใจง่ายและน่าสนใจ

นนท์ปวิธ อินต๊ะแก้ว นักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (SIIT-RS) นักศึกษาผู้เคยคว้ารางวัลจาก Swift Student Challenge 2023 มาแล้วผ่านผลงาน Color Master และในปีนี้ เขาคว้ารางวัลผู้ชนะอีกครั้งจากผลงานการสร้างสรรค์แอป Gate Genius แอปที่สอนพื้นฐานการทำงานของลอจิกเกต (Logic Gates) ผ่านบทเรียนและการจำลองแบบอินเทอร์แอกทีฟ ทำให้การเรียนรู้เรื่องลอจิกเกต กลายเป็นเรื่องเข้าใจง่าย สนุกและไม่น่าเบื่อ

เยาวชนทั้ง 10 คนจากประเทศไทยที่ได้รับคัดเลือกในปีนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงทักษะด้านการพัฒนาแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความเป็นเลิศในด้านนวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์ ผลกระทบทางสังคม และการส่งเสริมความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยีอีกด้วย

ที่มา: Apple

 

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Nattida Suriyodara

Writer and Creator from IMod