ยังคงมีมาให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ สำหรับอีเมลปลอมที่ส่งมาเพื่อหลอกให้เรากรอกข้อมูลบัตรเครดิต ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นอีเมลปลอมที่อ้างว่าส่งมาจาก Apple และเรียกเก็บค่าบริการแอปต่างๆ วันนี้เรามี เคล็ดลับ ที่ช่วยป้องกันให้ไม่โดนหลอกจากอีเมลปลอม มาแนะนำกัน
5 เคล็ดลับ ที่จะช่วยให้คุณไม่โดนหลอกจากอีเมลปลอม
1. ตรวจสอบอีเมลผู้ส่ง
สิ่งที่ต้องสังเกตเป็นอันดับแรกคือ ชื่ออีเมลผู้ส่ง ซึ่งอีเมลปลอมมักจะใช้ชื่อให้เป็นทางการ เช่น Apple ID, Apple Music เพื่อหลอกผู้ใช้ว่าส่งจาก Apple จริงๆ สิ่งที่เราต้องดูดีๆ คือ อีเมลแอดเดรสที่ส่งมา จากรูปตัวอย่าง no-replysnotificationaccountlogins@newsletter-01vannenza-01.apple.com ดูแล้วรู้เลยว่าเป็นอีเมลปลอม เนื่องจากอีเมลของ Apple จะไม่ใช้อีเมลโดเมนอื่นที่ดูไม่เป็นทางการ และอีเมลที่ใช้ติดต่อของ Apple คือ คือ [email protected]
2. เนื้อหามีการร้องขอแปลกๆ
บางอีเมลปลอมมักจะหลอกลวงให้เราเปิดไฟล์ PDF เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หรือเอกสารต่างๆ ที่ดูว่ามาจาก Apple จริงๆ โดยใส่โลโก้ และจัดวางข้อความให้เหมือน ดังตัวอย่าง เป็นอีเมลหลอกว่าเราได้มีการสั่งซื้อ iPhone 7 Plus และมีข้อความระบุในอีเมลว่า “เราแนะนำให้คุณเปิดไฟล์แนบ (PDF) เพื่อตรวจสอบสถานะการจัดส่ง คุณสามารถยกเลิกการสั่งซื้อได้ภายใน 24 ชั่วโมง” ซึ่งการร้องขอลักษณะนี้ดูแปลกและไม่น่าเชื่อถือ หากเราไม่ได้มีการสั่งซื้อ ก็ควรจะหลีกเลี่ยงหรือโทรสอบถามกับทาง Apple จะดีกว่า
3. ตรวจสอบชื่อผู้รับ
ชื่อผู้รับอีเมลควรจะเป็นชื่อและอีเมลของเราจริงๆ ดังตัวอย่าง ได้ส่งถึง “undisclosed recipients” ซึ่งระบุว่าเป็นกลุ่มผู้รับที่ไม่รู้จัก และการจั่วหัวข้อเริ่มแรก Dear Apple User ซึ่งการระบุผู้รับทั้ง 2 แบบนี้ คาดการณ์ได้ว่าเป็นอีเมลปลอมแน่นอน เพราะอีเมลจาก Apple จะต้องระบุชื่อและอีเมลของผู้รับชัดเจน โดยต้องแสดงเป็นชื่อของเราจริงๆ เช่น Dear Sakura Phutthalong
4. ตรวจสอบคำขึ้นต้นทักทาย
เคสนี้จะคล้ายๆ กับการตรวจสอบชื่อผู้รับ ซึ่งคำขึ้นต้นทักทายในอีเมล ก็ควรจะเป็นคำทักทายที่เป็นชื่อของเราจริงๆ อย่างแอป Paypal ที่เป็นแอปทางด้านการเงินที่น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ทั่วโลก ก็ยังคงมีอีเมลปลอมส่งมาหลอกผู้ใช้หลายคนอยู่ ดังนั้นควรคำนึงอยู่เสมอว่า ผู้ให้บริการจะไม่ใช้คำขึ้นต้นทักทายที่ไม่ใช่ชื่อเราเป็นอันขาด ดังรูปตัวอย่าง Dear Valued User การขึ้นต้นคำทักทายลักษณะนี้ เราต้องสังเกตและควรหลีกเลี่ยงที่จะกดลิงค์และกรอกข้อมูลสำคัญของเราลงไป
5. ดูการจัดรูปแบบอีเมล
ในรูปตัวอย่างนี้เป็นอีเมลจาก Paypal ที่นอกจากชื่อผู้ส่งและหัวข้ออีเมลจะดูแปลกปลอมแล้ว การจัดวางรูปแบบอีเมล ยังผิดแปลกไปจากอีเมลจริงของ Paypal อีกด้วย หากเราเคยใช้ Paypal จะรู้เลยว่ารูปแบบอีเมลของ Paypal จะไม่ใช่ลักษณะแบบนี้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอีเมลจากผู้ให้บริการเจ้าไหนก็ตาม หากเราดูรูปแบบแล้วรู้สึกว่าไม่เหมือนหรือคล้ายกับของเดิม ก็ไม่ควรที่จะกดลิงค์หรือให้ข้อมูลใดๆ ทั้งสิ้น
ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างอีเมลปลอมและเทคนิคการตรวจสอบ เพื่อให้เราสังเกตก่อนที่จะกดหรือกรอกข้อมูลบัตรเครดิตลงไป สำหรับใครที่ได้รับอีเมลจากผู้ให้บริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Paypal, Ebay, Amazon หรือ Youtube ก็ควรจะเช็คและดูให้ดีๆ ก่อน หากไม่แน่ใจแนะนำให้ส่งอีเมล์หรือโทรสอบถามกับฝ่ายสนับสนุนก่อนจะดีกว่า
ขอบคุณ idropnews