ต้องยอมรับว่าอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น ณ ปัจจุบันมีการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกที่ควรกันมากขึ้นจนทำให้ทุกวันนี้ประสิทธิภาพของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งแบบสายเคเบิ้ล, ไฟเบอร์หรือแม้กระทั่งสัญญาณไร้สายผ่านเครือข่าย 4G ก็ดี มีประสิทธิภาพควาเร็วติดอันดับต้นๆ ของโลก และอีกไม่นานนี้ประเทศของเราก็จะก้าวกระโดดอีกครั้งไปสู่ยุค 5G
คนไทยกำลังจะได้ทดสอบความแรงของสัญญาณ 5G ในปี 2561 และเปิดใช้งานปี 2563 ที่จะถึงนี้
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ผมเองก็ถือว่าเป็นผู้ใช้รายหนึ่งที่อยู่กับวงการโทรคมนาคมของไทยซึ่งคอยติดตามการอัปเดตเทคโนโลยีใหม่ๆ ของผู้ใช้บริการมาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง เริ่มตั้งแต่ยุค 2G ที่ใช้สัญญาณ GPRS, EDGE และเปลี่ยนมาเป็นสัญญาณ 3G ในช่วง iPhone 3G, 3GS เริ่มเข้ามาในไทยก็สักราวๆ ปี 2009 เห็นจะได้ ณ ปัจจุบันก็อยู่ในยุคของ 4G LTE ความเร็วก็เพิ่มขึ้นมาเยอะ ส่วนล่าสุดเองไทยเราก็กำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้งนั่นในการที่จะก้าวสู่ยุค 5G และในท้ายปี 2018 นี้ ก็มีเหตุการณ์สำคัญที่กำลังจะเกิดขึ้นที่อยากให้ทุกคนได้ติดตามข้อมูลกันให้ดี
งาน 5G จุดเปลี่ยน LANDSCAPE เศรษฐกิจ-การเมืองไทย จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมานั้นเป้าหมายหลักก็เพื่อเป็นการส่งสัญญาณให้ทราบพร้อมให้ประชาชนตระหนักถึงการมาของ 5G และแชร์ทิศทางการของการพัฒนาสัญญาณ 5G ระหว่างภาครัฐ, เอกชนและนักวิชาการ เพื่อให้ไปในทิศทางเดียว โดยหนึ่งในข้อสรุปที่สำคัญจากงานครั้งนี้ที่น่าตื่นเต้นก็คือ
กสทช. อนุญาตให้ทดสอบสัญญาณ 5G ในประเทศไทย ช่วงวันที่ 22 พ.ย. – 15 ธ.ค. 2561 นี้
ซึ่ง TrueMove H ได้รับสิทธิ์ให้ทดสอบที่ห้างสรรพสินค้า The EmQuartier และ AIS ได้สิทธิ์ทำการทดสอบที่ห้างสรรพสินค้า The Emporium ส่วน dtac นั้นยังไม่มีกำหนดคาดว่าจะทราบเร็วๆ นี้ โดยคลื่นที่จะถูกนำมาใช้ทดสอบ 5G นั้นได้แก่ความถี่ 26 GHz ขนาด Bandwidth 200MHz ซึ่งถือว่าเยอะมากเลยทีเดียว
ในงานนี้นอกจากข้อมูลจากทาง กสทช. แล้วทางผู้ให้บริการเครือข่ายหลักอย่าง TrueMove H, AIS และ dtac ต่างก็ขึ้นเวทีแชร์ข้อมูลพร้อมแนวทางการพัฒนาเครือข่ายของตนให้พร้อมรับกับ 5G โดยไฮไลท์ของแต่ละเครือข่ายจับประเด็นหลักดังนี้
TrueMove H
การใช้ 5G จะช่วยต่อยอดทั้งในด้านสุขภาพ, ความปลอดภัย, โรงงานอุตสาหกรรม, การเดินทาง, การเกษตร แต่ทั้งนี้ก็มีความท้าทายอีกมากในการจะทำให้ 5G เกิดได้จริงไม่ใช่แค่โครงสร้างหรือระบบ แต่มีความท้าทายด้านหลายด้านเข้ามาเกี่ยวข้อง ตัวอย่างเช่น โดยเฉพาะธุรกิจที่ใช้งานได้จริง (Business Case), ข้อกำหนดในการใช้งาน (Regulation Policy) และคลื่นความถี่ที่มีให้ใช้ (Spectrum) ซึ่งจะต้องวางแผนการพัฒนาให้ดีเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ให้กระทบหรือว่ากระทบน้อยที่สุด
AIS
บอกว่า 4G สำหรับคนใช้ทั่วไป แต่ 5G จะต่อยอดอุตสาหกรรมไปอีกมาก ประเทศที่เปิด 5G ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้ผลิต
DTAC
การนำ 5G เข้ามาใช้นั้นต้องใช้แรงงานและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก แต่ DTAC ก็มีความพร้อมที่จะใช้ 5G เช่นเดียวกัน และจะช่วยพัฒนาประเทศไปได้อีกมากด้วย 5G เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว
นั่นคือท่าทีของผู้ให้บริการเครือข่ายในไทยที่ให้ความเห็นเกี่ยวกับ 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นในบ้านเรา ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีเพราะการร่วมมือจากทั้งภาครัฐและการแข่งขันของฝั่งเอกชนก็จะยิ่งกระตุ้นให้มีการพัฒนาระบบ 5G ให้เกิดเป็นรูปธรรมในไทยได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ผลประโยชน์ก็จะตกมายังผู้ใช้งานอย่างเราๆ นั่นเอง
ในปี 2019 หรือ 2562 ที่จะถึงนี้และนับถอยหลังไปยังปี 2020 (พ.ศ. 2563) คนไทยก็คงจะได้ลองสัมผัสประสบการณ์ 5G ที่ถือว่าไม่ไกลเกินเอื้อมกันอีกต่อไป
ชมบันทึกงานครั้งนี้