in , , ,

7 เคล็ดลับการตั้งค่าและการใช้แอป Google Chrome บน iPhone, iPad

มีผู้ใช้ iPhone และ iPad หลายคนที่ยังคงชอบท่องเว็บไซต์ด้วยแอปเว็บบราวเซอร์ Google Chrome ทีมงานจึงมีเคล็ดลับการตั้งค่าและการใช้งานเล็ก ๆ น้อย ๆ มาฝากกันค่ะ

7 เคล็ดลับการตั้งค่าและการใช้แอป Google Chrome บน iPhone, iPad

 1. ซิงค์ข้อมูลเว็บไซต์กับอุปกรณ์อื่น ๆ

หากเราใช้งานหลายอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็น iPhone, iPad, Mac หรือคอมพิวเตอร์อื่น ๆ แนะนำว่าให้ซิงค์ข้อมูล Chrome ไว้ เพื่อให้การเข้าถึงข้อมูลเว็บไซต์ง่ายขึ้น เวลาที่เราเปิดใช้ Chrom บนอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ล็อกอินด้วยบัญชี Google เดียวกัน ข้อมูลทั้งหมดก็จะถูกนำไปใช้งานได้ด้วย ซึ่งเราสามารถกำหนดได้ว่าจะซิงค์ข้อมูลอะไรบ้าง

ไปที่แอป Chrome > แตะไอคอนสามจุดด้านล่าง แล้วแตะ การตั้งค่า (Settings) > แตะ การซิงค์และบริการของ Google (Sync and Google Services) > เปิด ซิงค์ข้อมูล Chrome (Sync Your Chrome Data) จากนั้นก็จัดการการซิงค์ด้วย

จะเลือกซิงค์ทุกอย่าง หรือเลือกซิงค์เฉพาะข้อมูลที่ต้องการได้ เช่น การป้อนอัตโนมัติ บุ๊กมาร์ค ประวัติ รหัสผ่าน เป็นต้น เมื่อเราไปเปิด Chrome ที่อุปกรณ์อื่น ข้อมูลเหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้งานด้วย

2. จัดการแถบ (Tabs)

เราสามารถเปิดหน้าเว็บไซต์ได้หลายแถบ รวมถึงจัดการแถบได้อีกด้วย โดยแตะไอคอนสี่เหลี่ยมด้านล่าง เพื่อเข้าสู่มุมมองแถบ

 

จากนั้นก็เลือกจัดการแถบแบบปกติ แถบแบบไม่ระบุตัวตน และหน้าเว็บไซต์ที่เปิดบนอุปกรณ์อื่นที่เราซิงค์มาได้ จัดการโดยการเพิ่ม ลบ ย้ายตำแหน่ง

3. การบันทึกรหัสผ่านและการกรอกข้อมูลการชำระเงินอัตโนมัติ

สำหรับเว็บไซต์ที่ต้องมีการล็อกอินเข้าสู่ระบบ เราสามารถบันทึกบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านเก็บไว้ใน Chrome ได้ เพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลล็อคอินเว็บไซต์ใครครั้งถัดไป และเวลาที่เราเปิดเว็บไซต์ที่มีการบันทึกรหัสผ่านใน Chrome บนคอมพิวเตอร์ เว็บก็จะกรอกบัญชีและรหัสผ่านให้อัตโนมัติ ช่วยให้ง่ายขึ้นเวลาที่ลืมรหัสผ่าน

ไปที่ไอคอนสามจุดด้านล่าง แล้วแตะ การตั้งค่า (Settings) > แตะ รหัสผ่าน (Passwords) จากนั้นก็เปิด บันทึกรหัสผ่าน (Save Passwords) ไว้ ส่วนด้านล่างก็จะเป็นข้อมูลรหัสผ่านของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เราเคยบันทึกไว้ สามารถแตะเข้าไปดู หรือจะแตะแก้ไขด้านบน เพื่อลบบางเว็บไซต์ที่ไม่ได้ใช้งานแล้ว

เมื่อมีการลงชื่อเข้าใช้เว็บไซต์ใน Chrome บนคอมพิวเตอร์ บราวเซอร์ก็จะถามว่าจะบันทึกรหัสผ่านสำหรับเว็บนี้หรือไม่ ถ้าเราบันทึกข้อมูลรหัสผ่านก็จะถูกเก็บไว้ใน Chrome

ส่วนของวิธีการชำระเงินนั้น เราก็สามารถบันทึกข้อมูลและกรอกวิธีการชำระเงินอัตโนมัติได้เช่นกัน ช่วยอำนวยความสะดวกเวลาที่เราต้องกรอกข้อมูลบัตรเครดิต/เดบิต เพื่อชำระเงินผ่านเว็บไซต์ ซึ่งมีข้อมูลหลายส่วนที่ต้องกรอก การเปิดบันทึกและกรอกวิธีการชำระเงินก็ช่วยให้เราไม่ต้องกรอกใหม่ทุกครั้ง

ไปที่ไอคอนสามจุดด้านล่าง แล้วแตะ การตั้งค่า (Settings) > วิธีการชำระเงิน (Payment Methods) > เปิด บันทึกและกรอกวิธีการชำระเงิน (Save and Fill Payment Methods)

4. การแปลทั้งหน้าเว็บ

ถ้าหากเราเข้าชมเว็บไซต์ภาษาต่างประเทศหรือภาษาอื่น ๆ เราก็สามารถใช้งาน Google Translate ที่มีอยู่ในแอป Chrome ช่วยแปลทั้งหน้าเว็บได้

เปิดเว็บไซต์ขึ้นมา > แตะไอคอนสามจุด แล้วเลือก แปล (Translate) > หน้าเว็บก็จะแปลตามภาษาที่เราเลือกไว้

หากต้องการเปลี่ยนเป็นภาษาอื่น ๆ ให้แตะไอคอนตั้งค่า แล้วเลือก ภาษาเพิ่มเติม… > เลือกภาษาที่ต้องการแปล

5. ดูบุ๊กมาร์ค เรื่องรออ่าน  และประวัติ

สำหรับใครที่เก็บเว็บไซต์เป็นบุ๊กมาร์คหรือเรื่องรออ่านที่เราบันทึกไว้อ่านภายหลัง หรือต้องการดูประวัติการเข้าชมเว็บ ก็สามารถเข้าถึงเว็บไซต์เหล่านี้ได้

สำหรับการดูบุ๊กมาร์ค ให้แตะไอคอนสามจุด แล้วเลือก บุ๊กมาร์ค (Bookmarks) > เลือกโฟลเดอร์บุ๊กมาร์กที่ต้องการ > เข้าถึงเว็บไซต์ที่เราบันทึกเป็นบุ๊กมาร์คได้เลย

สำหรับการดูรายการเว็บไซต์เรื่องที่รออ่านนั้น มาจากการที่เราบันทึกหน้าเว็บเป็นอ่านทีหลัง เหมาะกับเวลาที่เราเจอบทความที่ชื่นชอบแล้วยังไม่มีเวลาอ่าน ณ ตอนนั้น ก็สามารถบันทึกเป็นอ่านทีหลังได้ (ดังรูปแรก)

จากนั้นเมื่อมีการบันทึกรายการอ่านทีหลังแล้ว เวลาที่ต้องการเปิดอ่านก็ให้แตะไอคอนสามจุด แล้วแตะ เรื่องรออ่าน (Reading List) จากนั้นก็เข้าสู่หน้าเว็บที่เราต้องการได้เลย

ในส่วนของประวัติการเข้าชมเว็บไซต์นั้น เราสามารถย้อนดูรายการเว็บไซต์ที่เคยเข้าชมได้ โดยแตะไอคอนสามจุด แล้วเลือก ประวัติการเข้าชม (History) จากนั้นก็เข้าสู่เว็บไซต์ที่ต้องการได้เลย สามารถค้นหาได้ในส่วนด้านบน

6. การค้นหาด้วยเสียง

ในแอป Chrome มีส่วนของการค้นหาด้วยเสียงในตัว ที่ให้ผู้ใช้พูดในสิ่งที่ต้องการค้นหาผ่าน Google Assistance ภายในแอปได้เลย เปิดตั้งค่าได้ดังนี้

ไปที่ไอคอนสามจุดด้านล่าง แตะเลือกการตั้งค่า (Settings) > การค้นหาด้วยเสียง (Voice Search) แตะเลือกภาษาที่ต้องการใช้ค้นหา (ภาษาไทยยังไม่รองรับการพูดคำตอบกลับ)

เมื่อเปิดหน้าโฮม ให้เราแตะไอคอนไมโครโฟน จากนั้นก็พูดในสิ่งที่ต้องการค้นหาได้เลย สะดวกมาก ๆ สามารถค้นหาโดยไม่ต้องพิมพ์เอง

7. ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและเนื้อหา

สำหรับใครที่อยากจะใช้งาน Chrome อย่างสบายใจ ก็สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและเนื้อหาอื่น ๆ ได้ดังนี้

การตั้งค่าความเป็นส่วนตัว เราสามารถตั้งค่าเปิดหรือปิดแฮนด์ออฟ (Handoff) ได้ ถ้าหากเปิดไว้ อุปกรณ์อื่น ๆ ที่ลงชื่อเข้าใช้แอป Chrome ด้วยบัญชี Google เดียวกันก็จะแสดงการเปิดเว็บไซต์บนอุปกรณ์ของเรา หากใครไม่ต้องการให้แสดงก็ปิดไว้ได้ [ทำความเข้าใจกับฟีเจอร์ Handoff เพิ่มเติม]

ไปที่ไอคอนสามจุด เลือกการตั้งค่า (Settings) > แตะ ความเป็นส่วนตัว (Privacy) > แตะ แฮนด์ออฟ (Handoff) เลือก เปิดหรือปิดได้ตามต้องการ

การตั้งค่าเนื้อหา เราสามารถตั้งค่าเปิดหรือปิดการบล็อกป๊อปอัป และเลือกแอปเริ่มต้นเพื่อเปิดอีเมลหรือเอกสารตามแอปที่ต้องการได้

สามารถตั้งค่าได้ที่ เมนู การตังค่าเนื้อหา (Content Settings) > แตะบล็อกป๊อปอัป ตั้งค่าเปิดหรือปิดตามต้องการ จากนั้นก็ตั้งค่าแอปเริ่มต้นสำหรับอีเมลหรือแอปอื่น ๆ ด้วย

กานรตั้งค่าแบนด์วิดท์ เป็นการตั้งค่าการโหลดหน้าเว็บในแอป Google Chrome สามารถตั้งค่าได้ที่เมนู แบนด์วิดท์ (Bandwidth) จากนั้นก็ตั้งค่าการโหลดหน้าเว็บล่วงหน้า ว่าจะให้ใช้ Wi-Fi เท่านั้น, หรือโหลดหน้าเว็บทุกครั้ง หรือจะเลือกเป็นไม่ต้องโหลดเลย ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยให้ประหยัดเน็ตสำหรับคนที่ใช้แพ็กเกจ 4G แบบจำกัดได้

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเคล็ดลับการใช้งานและตั้งค่าในด้านต่าง ๆ ของแอปเว็บบราวเซอร์ Google Chrome บน iPhone, iPad ใครที่ชอบใช้งานแอป Chrome และยังไม่ทราบการตั้งค่าเหล่านี้มาก่อนก็ตั้งค่าให้เหมาะกับกับการใช้งานของตนเองนะคะ

สำหรับใครที่อยากลองหรือเริ่มใช้งานแอป Google Chrome บน iPhone, iPad ก็สามารถดาวน์โหลดแอปได้ที่ App Store [แตะดาวน์โหลดที่นี่]

ขอบคุณ idownloadblog

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Zakura Kim

Bachelor degree of science, Software engineering major, Payap University