อีกหนึ่งคำถามที่พอมีเข้ามาบ้างทุกครั้งที่ iPhone เปิดตัวรุ่นใหม่ และถึงแม้ว่าปัญหานี้อาจไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการมือถือ เพราะทางฝั่ง Android หลายรุ่นที่มีสติกเกอร์ใหญ่กว่านี่ก็สงสัยกัน (จนเลิกสังสัยไปแล้ว) แต่สำหรับเครื่องไอโฟนถึงแม้สติกเกอร์จะมีขนาดเล็ก แต่บางครั้งก็มีคนตาดีสังเกตเห็นว่ามันเขียนว่า Class B
หลังกล่องไอโฟนเขียนว่า Class B คืออะไร ?
ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจก่อนว่า ทุกอุปกรณ์ที่ใส่ซิมได้และต้องการมาขายในประเทศไทย จำเป็นต้องผ่านการรับรองจากหน่วยงานราชการอย่าง กสทช. หรือชื่อเต็มก็คือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ยาวจัง) โดยมีการแบ่งประเภทดังนี้
- ประเภท ก. (Class A) คือ เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการ ต้องแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องตามมาตรฐานทางเทคนิคหรือข้อกำหนดทางเทคนิค โดยผ่านการทดสอบจากหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน แล้วจึงแจ้งจดทะเบียนเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์นั้นต่อสำนักงาน กสทช.
- ประเภท ข. (Class B) คือ เครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์ที่ผู้ประกอบการ ต้องแสดงให้เห็นถึงความสอดคล้องตามมาตรฐานทางเทคนิคหรือข้อกำหนดทางเทคนิค โดยผ่านการทดสอบจากหน่วยตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน และเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์นั้น ต้องได้รับการรับรองจากสำนักงาน กสทช. ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
หรือกล่าวก็คือมือถือทุกเครื่องในไทยจะต้องเป็นประเภท ข. หรือ Class B ทุกเครื่อง (ตามข้อกำหนดและกฎระเบียบ) ซึ่งมันก็ไม่เกี่ยวว่าเป็นเครื่องเกรดบีหรือเกรดเอ ตามแบบที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าใจกัน และแน่นอนว่าหากเป็นเครื่องที่ซื้อจากต่างประเทศ หรือนำเข้ามาอย่างไม่ถูกต้องก็จะไม่มีสติกเกอร์นี้
แถมให้อีกนิดคือเทคนิคการอ่านรหัสใบอนุญาตสุดง่าย (อันที่จริงก็ไม่ง่ายหรอก พิมพ์ไปงั้นแหล่ะ) นั่นก็คือหลังตัวเลข NTC ID. จะมีความหมายดังต่อไปนี้
- AAAAAA หมายถึง หมายเลขการรับรอง (6 หลัก)
- BB หมายถึง เลข ปี ค.ศ. ที่รับรอง (สองหลักสุดท้าย)
- XXXX หมายถึง รหัสประจำตัวของผู้ประกอบการ (4 หลัก)
ซึ่งอันที่จริงไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ (ฮา) แต่ไหน ๆ ก็พูดถึงเครื่อง Class B มาแล้วก็เลยร่ายยาวเลยก็แล้วกัน เผื่อว่ามันจะมีออกในข้อสอบที่ไหนสักแห่ง
ที่มา – standard1.nbtc.go.th