in , ,

ซื้อ iPhone 16, iPhone 16 Pro ใหม่ ตอนรับเครื่อง ควรเช็คจุดไหนบ้าง

Apple, ตัวแทนจำหน่าย และค่ายมือถือในไทย ได้เปิดให้สั่งซื้อ iPhone 16 Series ล่วงหน้ากันแล้ว พร้อมรับเครื่องตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2567 เป็นต้นไป สำหรับใครที่จองและเตรียมรับเครื่อง มาชมกันก่อนว่าจะต้องเช็คจุดไหนบ้าง

ซื้อ iPhone 16, iPhone 16 Pro ใหม่ ตอนรับเครื่อง ควรเช็คจุดไหนบ้าง

วิธีการเช็คเครื่องต่อไปนี้เป็นวิธีเบื้องต้นที่ผู้ซื้อ iPhone 16 ใหม่ ควรตรวจเช็คตอนที่รับเครื่อง ทีมงานได้แนบเอกสารประกอบการตรวจเช็คไว้ให้ สามารถดาวน์โหลดได้ที่

1. เช็คกล่องและสภาพภายนอก

iPhone 16 ทุกรุ่นมาพร้อมแถบซีลที่เป็นกระดาษปิดผนึกด้านหลังกล่อง โดยมีทั้งด้านบนและด้านล่าง ซึลจะต้องไม่ถูกแกออก และให้เช็คข้อมูลว่า รุ่น ความจุ สี ถูกต้องตามที่สั่งซื้อหรือไม่

ส่วนการเช็ตตัวเครื่องภายนอก ให้เช็ตโดยรอบ เครื่องจะต้องไม่มีรอยขีดข่วน ไม่มีรอยแตกร้าว กล้องต้องใส ไร้ฝุ่น ไม่มีรอยแตกร้าวด้วยเช่นกัน

เช็คปุ่มต่าง ๆ รอบตัวเครื่อง ต้องได้รับการประกอบแน่น ไม่หลวม สามารถกดใช้งานได้

อุปกรณ์ในกล่อง มีตัวเครื่อง iPhone, สายชาร์จ USB-C, เข็มจิ้มซิม และคู่มือการใช้งาน ครั้งนี้ Apple ไม่มีสติกเกอร์โลโก้ Apple มาให้ในกล่องแล้ว

2. ตรวจเช็คประกันความคุ้มครอง

เครื่องใหม่จากศูนย์มือหนึ่ง ประกันตัวเครื่องต้องหมดในอีก 1 ปี นับจากวันที่เปิดใช้เครื่อง ประกันต้องไม่เดินไปก่อน

การตั้งค่า > ทั่วไป > เกี่ยวกับ > การคุ้มครอง > เลือก iPhone ของตนเอง > ดูวันสิ้นสุดการรับประกันแบบจำกัดต้องหมดใน 1 ปี นับจากวันที่เปิดเครื่อง

3. สุขภาพแบตเตอรี่

เครื่องใหม่ต้องมีสุขภาพแบตเตอรี่ความจุสูงสุด 100% เช็คได้ที่ การตั้งค่า > แบตเตอรี่ > สุขภาพแบตเตอรี่ > ความจุสูงสุดต้องเป็น 100% และรอบการชาร์จควรน้อย

4. เช็คสัญญาณ + ซิมการ์ด และระบบ 2 ซิม

iPhone 16 ที่ขายในไทยจะเป็นระบบ 2 ซิม คือ Nano SIM และ eSIM และสามารถใส่เป็น eSIM ทั้งสองซิมได้แล้ว ให้ลองใส่ซิมการ์ดของเครือข่ายในไทยเข้าไป โดยใส่ซิมหลักที่เป็นแบบ Nano SIM เข้าไปก่อน การแสดงผลเครือข่ายจะต้องรับสัญญาณได้

ถ้าหากเราได้โอนย้ายข้อมูลจากเครื่องเดิม หรือกรณีที่เราเริ่มลงทะเบียน eSIM ครั้งแรกกับเครื่องใหม่ ก็สามารถทดสอบการใช้งานด้วย eSIM ดูด้วยก็ได้ ว่าสามารถใช้เบอร์โทรที่เป็น eSIM โทรออกได้หรือไม่

รวมถึงลองเช็คสัญญาณ 5G หากเรามีแพ็กเก็จ 5G อยู่แล้ว ให้ตรวจสอบดูว่าสามารถใช้งาน 5G ได้ปกติหรือไม่ และควรตรวจสอบพื้นที่ให้บริการ 5G จากผู้บริการเครือข่ายก่อน

5. การสัมผัสหน้าจอ

ให้ลองสัมผัสหน้าจอ ด้วยการ แตะ ปัด เลื่อน ว่าสามารถใช้งานได้ปกติหรือไม่ การทัชสกรีนไหลลื่นดีหรือไม่

6. การทำงานของ Always on Display

ตรวจสอบการทำงานของหน้าจอ ของคุณสมบัติ Always on Display แต่จะต้องไปเช็คก่อนว่าเราเปิดใช้งานคุณสมบัตินี้แล้วหรือยัง ไปที่ การตั้งค่า > จอภาพและความสว่าง > หน้าจอเปิดตลอด > เปิด หน้าจอเปิดตลอด

หลังจากเปิดใช้งานแล้วก็ลองกดปุ่มด้านข้าง แล้วดูว่าหน้าจอมืดลงและแสดงข้อมูลบนหน้าจอหรือไม่

จากนั้นก็ลองกดปุ่มด้านข้างอีกครั้ง เพื่อเช็คดูว่าหน้าจอสว่างขึ้นหรือไม่ สามารถกดปุ่มด้านข้างซ้ำ ๆ เพื่อเช็คการทำงานของคุณสมบัตินี้

7. ระบบสแกนใบหน้า Face ID

ตั้งค่า Face ID เพื่อสแกนใบหน้า โดยตั้งค่าในขั้นตอนการ Activate (เปิดใช้งานตัวเครื่อง) ตั้งแต่เริ่มเปิดเครื่อง จากนั้นลองปลดล็อกด้วยใบหน้าของตนเองดู เพื่อให้มั่นใจว่าส่วนนี้ใช้งานได้ดีและถูกต้อง

8. ปุ่มด้านข้าง และปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง

เช็คปุ่มทั้งหมด โดยไล่กดและเช็คการทำงานทีละปุ่มว่าหลวมไปหรือไม่ และเช็คการทำงานของปุ่ม อาจจะเริ่มจากปุ่มด้านข้าง โดยปิดเครื่องก่อน จากนั้นก็กดค้างเพื่อเปิดเครื่องใหม่ และลองกดเพื่อล็อคหน้าจอ เช็คดูว่าปุ่มทำงานได้ถูกต้องหรือไม่

ส่วนปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง ให้ลองเปิดเพลงจาก Apple Music (ถ้ามี) หรือ YouTube หรือจะอัดเสียงที่แอปบันทึกเสียงไว้ แล้วเปิดฟัง พร้อมกับกดปุ่มเพิ่ม-ลดเสียง  ว่าทำงานได้ถูกต้องหรือไม่

9. ปุ่ม Action

iPhone 16 ทุกรุ่นมาพร้อมปุ่ม Action ซึ่งค่าเริ่มต้นก็จะเป็นการกดเพื่อเปิด-ปิดเสียง ให้เราลองกดปุ่ม Action ดูว่าสามารถเปิดปิดเสียงได้หรือไม่ หรืออาจจะลองเข้าไปตั้งค่าใช้งานฟีเจอร์อื่น ๆ สำหรับปุ่ม Action ก็ได้

10. ตัวควบคุมกล้อง (Camera Control)

iPhone 16 ทุกรุ่น มาพร้อมตัวควบคุมกล้อง (Camera Control) อยู่ด้านล่างปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง โดยตัวควบคุมกล้องนี้จะทำงานร่วมกับแอปกล้อง เราสามารถเช็คเบื้องต้นได้ดังนี้

  • เปิดแอปกล้อง : กดปุ่ม Camera Control หนึ่งครั้งเพื่อเปิดแอปกล้อง
  • ถ่ายรูปภาพ : หลังจากเปิดแอปกล้อง ก็กดอีกครั้งเพื่อถ่ายรูปภาพ
  • บันทึกวิดีโอ : กดปุ่ม Camera Control ค้างไว้เพื่อเริ่มบันทึกวิดีโอ
  • เปิดตัวควบคุมกล้อง : กด Camera Control เบา ๆ เพื่อเปิดตัวควบคุมกล้อง เช่น การซูม
  • ควบคุมเหมือน Trackpad : เซ็นเซอร์บน Camera Control นั้นทำงานเหมือน Trackpad ของ Mac ที่ผู้ใช้สามารถเลื่อนนิ้วไปทางซ้าย ทางขวา เพื่อซูมเข้าซูมออก เลือกเมนูตัวควบคุมการถ่ายภาพต่าง ๆ ได้

สามารถเข้าไปอ่านรายละเอียดและการใช้งานอื่น ๆ เพิ่มเติมได้ที่ Camera Control ปุ่มใหม่ใน iPhone 16 คืออะไร ทำอะไรได้บ้าง

11. เช็คกล้องหลัง

หลังจากที่เปิดกล้องด้วยตัวควบคุม (Camera Control) แล้ว เราก็ทำการทดสอบกล้องหลังกันต่อได้เลย โดยทดสอบถ่ายรูปปกติ และแนะนำให้เช็คกล้องแต่ละตัวและฟีเจอร์กล้องอื่น ๆ ดังนี้

  • ทดสอบการถ่ายภาพด้วย กล้อง Ultra-Wide ด้วยระยะ 0.5x
  • ทดสอบการถ่ายภาพด้วย กล้อง Fusion ด้วยระยะ 1x และ 2x
  • ทดสอบการถ่ายภาพด้วย กล้อง Telephoto ด้วยระยะ 5x เฉพาะ iPhone 16 Pro และ iPhone 16 Pro Max
  • ทดสอบการแตะโฟกัสที่หน้าจอ
  • ทดสอบการโหมดถ่ายภาพบุคคลด้วยกล้องหลังว่าภาพเป็นหน้าชัดหลังเบลอหรือไม่ สามารถปรับค่า f รูรับแสงได้หรือไม่
  • ทดสอบการซูม โดยใช้สองนิ้วจีบเข้า-ออก ว่าซูมได้ปกติหรือไม่
  • ทดสอบแฟลชกล้องหลังโดยการเปิดแฟลชถ่ายหรือการเปิดไฟฉายที่ Control Center หรือเปิดแฟลชกล้องหลังไว้ในแอปกล้อง
  • ทดสอบการถ่ายวิดีโอ และเปิดดูว่ามีภาพและเสียงคมชัดหรือไม่ จับโฟกัสได้ปกติหรือไม่

12. เช็คกล้องหน้า

หลังจากที่เช็คกล้องหลังเรียบร้อยแล้ว ให้เรามาเช็คกล้องหน้ากันบ้าง โดยแตะปุ่มสลับมาเป็นกล้องหน้า จากนั้นก็ลองถ่ายรูปได้เลย แนะนำให้ลองเช็คดังนี้

  • ทดสอบการถ่ายรูปด้วยกล้องหน้า
  • ทดสอบการการถ่ายภาพมุมกว้างด้วยกล้องหน้า
  • ทดสอบการถ่ายวิดีโอด้วยกล้องหน้า
  • ทดสอบการแตะโฟกัสที่หน้าจอ
  • ทดสอบ Retina Flash กล้องหน้า โดยเปิดใช้แฟลชในแอปกล้อง
  • ทดสอบการโหมดถ่ายภาพบุคคลด้วยกล้องหน้าว่าภาพเป็นหน้าชัดหลังเบลอหรือไม่

13. LiDAR Scanner (สำหรับ iPhone 16 Pro และ iPhone 16 Pro Max)

แนะนำให้ทดสอบการทำงานของ LiDAR Scanner ที่มาพร้อมกับ iPhone 16 Pro และ iPhone 16 Pro Max (iPhone 16 และ iPhone 16 Plus ไม่มี LiDAR Scanner ไม่ต้องทดสอบข้อนี้)

ให้ไปที่แอปเครื่องมือวัด (Measure) จากนั้นก็ลองวัดความสูงของคนดูว่าทำงานได้หรือไม่

14. เสียงลำโพง (เสียงเรียกเข้า)

ลำโพงของ iPhone 16 ทุกรุ่นมีลำโพงอยู่ตรงด้านล่างของตัวเครื่อง ให้เช็คเสียงจากลำโพงทั้งหมดจากเสียงเรียกเข้าหรือเปิดเพลงจากแอป YouTube, Apple Music ลำโพงจะต้องดังและไม่แตก พร้อมลองปรับเพิ่มลดเสียงว่าทำงานปกติดีหรือไม่

15. เสียงลำโพงหูฟัง

ทดสอบการโทรเข้าหรือโทรออกและฟังเสียงจากลำโพงหูฟังว่าได้ยินชัดเจนหรือไม่ และลองปรับเพิ่มลดเสียงว่าการทำงานปกติดีหรือไม่

16. เช็คไมโครโฟน

เช็คการใช้งานของไมโครโฟน ว่าทำงานได้ปกติหรือไม่ โดยเข้าไปที่แอปบันทึกเสียงแล้วลองอัดเสียง จากนั้นก็บันทึกและลองฟังดูว่าเสียงคมชัดหรือไม่ หรือจะใช้การอัดวิดีโอจากแอปกล้องก็ได้

นอกจากนี้ยังสามารถลองเช็คไมโครโฟนทั้ง 4 ตัวของ iPhone 16 Pro และ iPhone 16 Pro Max ด้วยการถ่ายวิดีโอเดินไปรอบ ๆ แล้วลองเช็คเสียงด้วยฟีเจอร์ Audio Mix ว่าแต่ละไมโครโฟนเก็บเสียงได้ครบหรือไม่

17. เซ็นเซอร์ปิดจอ ขณะโทร

ลองกดโทรออก ให้มีคนรับสาย แล้วเอามือบังที่เซ็นเซอร์บริเวณ Dynamic Island เพื่อดูว่าหน้าจอดับหรือไม่ขณะโทรศัพท์ ถ้าเอามือปิดเซ็นเซอร์ หน้าจอจะต้องดับ และถ้าเอามือออก หน้าจอจะต้องแสดงปกติ

18. ตรวจเช็คการเชื่อมต่อ Wi-Fi และ Bluetooth

ทดสอบเชื่อมต่อ Wi-Fi โดยการเปิด Wi-Fi และเข้าใช้ Wi-Fi ของร้านหรือผู้ให้บริการ ว่าสามารถเชื่อมต่อและใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ปกติหรือไม่

ทดสอบการเชื่อม Bluetooth เช็คดูว่าเครื่องสามารถค้นหาอุปกรณ์ใกล้เคียงเจอหรือไม่ เช่น หูฟังบลูทูธ ลำโพง ถ้าหากไม่ได้นำอุปกรณ์ไปด้วย อาจจะขอยืมอุปกรณ์บลูทูธจากทางร้านก็ได้

19. การชาร์จแบตเตอรี่

iPhone 16 ทุกรุ่น มีสาย USB-C มาให้ แต่ไม่มีหัวชาร์จมาให้ เราอาจจะต้องเตรียมหัวชาร์จ USB-C หรือขอยืมจากในร้าน เพื่อลองเสียบชาร์จรวมกับสายที่มีมาให้ในกล่อง แล้วเช็คดูว่า iPhone ชาร์จได้ปกติหรือไม่ และสายชาร์จที่ให้มาในกล่องสามารถชาร์จใช้งานได้หรือไม่

ถ้ามีที่ชาร์จ MagSafe หรือที่ชาร์จไร้สาย Qi ก็ลองทดสอบการชาร์จไร้สายดูด้วยว่าทำงานปกติหรือไม่

20. Haptic Touch

ทดสอบระบบ Haptic Touch โดยลองแตะค้างที่ไอคอนแอปในหน้าจอโฮม แล้วดูว่ามีการตอบสนองแบบสั่นและมีตัวเลือกการทำงานอื่น ๆ แสดงขึ้นมาหรือไม่

21. ทดสอบ Tap to Wake

iPhone 16 ทุกรุ่นรองรับ Tap to Wake หรือการแตะเพื่อปลุก ทดสอบโดยวาง iPhone ไว้เฉย ๆ ให้หน้าจอดับดำสนิท จากนั้นใช้นิ้วแตะที่จอ 1 ครั้ง ดูว่าหน้าจอแสดงขึ้นมาหลังจากที่แตะหรือไม่

22. หน้าจอ Dead & Bright Pixel

ทดสอบหาจุดของ OLED ที่เสียวิธีสังเกตุง่าย ๆ คือ เมื่อเปิดดูภาพสีใดใน 5 สี คือ ดำ ขาว แดง เขียวและน้ำเงิน สีนั้นจะต้องแสดงเป็นสีเดียวกันทั้งหมด เช่น ทดสอบสีดำจอต้องดำหมดห้ามมีจุดสีขาวขึ้นมา (ถ้ามีจุดสีขาวโผล่มาเรียก Bright Pixel) หรือทดสอบสีขาวห้ามมีสีดำโผล่มา (ถ้ามีดำโผล่มาเรียก Dead Pixel)

ทดสอบโดยการเปิด Safari ให้ไปที่ YouTube youtube.com/watch?v=gIA_4nV-CqE ผ่านทาง iPhone แล้วเปิดเล่นวิดีโอ พร้อมเปิดการแสดงผลเต็มหน้าจอ จากนั้นให้ใช้สองนิ้วขยายหน้าจอ เพื่อให้ตรวจสอบได้เต็มหน้าจอ

23. เซ็นเซอร์การหมุนจอ

อาจจะลองเปิดแอปแล้วหมุนหน้าจอเป็นแนวนอนและแนวตั้ง และสังเกตการทำงานว่าหมุนได้ตามปกติหรือไม่ เช่น เปิดแอป YouTube แล้วหมุนหน้าจอตั้งแนวตั้งและแนวนอน ดูว่าเนื้อหาหมุนไปตามที่เราถือหรือไม่

นอกจากนี้ให้ลองทดสอบการล็อคหน้าจอที่ Control Center ด้วยว่าเมื่อล็อคแล้ว หน้าจอจะต้องไม่หมุน

24. เช็คระบบ GPS

ตรวจเช็คระบบ GPS ว่าสามารถทำงานได้ถูกต้องหรือไม่ แต่จะต้องไปตั้งค่าเปิดใช้งานบริการหาตำแหน่งที่ตั้งก่อน ไปที่ การตั้งค่า > ความเป็นส่วนตัว > บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง > เปิด บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

จากนั้นเปิดแอปแผนที่ (Maps) และลองแตะระบุตำแหน่งที่ตั้งด้านบนขวา เพื่อเช็คดูว่า GPS สามารถบอกตำแหน่งถูกต้องหรือไม่ และลองค้นหาสถานที่หรือตำแหน่งอื่น ๆ ดูด้วยว่ามีการระบุตำแหน่งถูกต้องหรือไม่

25. เช็คการทำงานของ Siri

ตั้งค่าเปิดใช้งาน Siri ที่ การตั้งค่า > Siri > เปิดใช้งาน ฟัง “หวัดดี Siri” หรือเปิดใช้งาน กดปุ่มด้านข้างเพื่อคุยกับ Siri

การทดสอบก็ลองเรียก หวัดดี Siri และตอบโต้พูดคุยดูว่าทำงานได้ปกติหรือไม่ จากนั้นลองกดปุ่มโฮมค้างไว้ เพื่อเรียก Siri ดู อย่าลืมเปิดใช้งานอินเทอร์เน็ตด้วยนะ

26. ทดสอบเข็มทิศ

เปิดแอปเข็มทิศหรือ Compass ขึ้นมาจากนั้นลองหันไปยังทิศทางที่เรารู้จัก เช็คว่าทิศทางถูกต้องหรือไม่

27. เช็ค Gyroscope

Gyroscope เป็นเซ็นเซอร์การเคลื่อนไหวของอุปกรณ์ โดยจับทิศทางการหมุนและเอียงของอุปกรณ์ ให้ลองดาวน์โหลดเกมหรือแอปแนว Gyroscope มาลองเล่นดูว่าสามารถเอียงหรือเคลื่อนไหวได้ตามที่เราบังคับหรือไม่ หากไม่มีการเคลื่อนไหวแสดงว่าอุปกรณ์อาจจะมีปัญหา

ทดสอบ Gyroscope ผ่านแอป Sensor Kinetics หรือเกมแข่งรถ เช่น เกม Asphalt 8 มาลองเล่นดูก็ได้

ทั้งหมดนี้ ก็เป็นวิธีการเช็ค iPhone เครื่องใหม่แต่ละจุดที่สามารถทำควบคู่กับเอกสารตรวจเช็ค หากพบปัญหาระหว่างการเช็คแนะนำว่าให้แจ้งพนักงานหรือสอบถามโดยทันที

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Zakura Kim

Bachelor degree of science, Software engineering major, Payap University