in

True สนับสนุนให้เกิดประมูลคลื่นความถี่ ชี้เป็นจุดกำหนดอนาคตครั้งสำคัญของประเทศไทย

ทรู คอร์ปอเรชั่น สนับสนุนให้มีการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้คลื่นความถี่กลายเป็นทรัพยากรสำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล

True สนับสนุนให้เกิดประมูลคลื่นความถี่ ชี้เป็นจุดกำหนดอนาคตครั้งสำคัญของประเทศไทย

6 กุมภาพันธ์ 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz โดยสนับสนุนให้ กสทช. นำคลื่นความถี่มาจัดสรรเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้งานคลื่นความถี่อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพสูงสุดพร้อมทั้งเพื่อเสริมการพัฒนาขีดความสามารถของประเทศในบริบทของการเสริมสร้างโครงสร้างโทรคมนาคมที่แข็งแกร่ง ซึ่งถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในยุค 5G ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) กับนานาประเทศได้อย่างยั่งยืน

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียแปซิฟิค การประมูลที่กำลังจะจัดขึ้นจึงมีความสำคัญในการส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ

อย่างไรก็ตามร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูลที่ กสทช.นำมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ เห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อมุ่งส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดให้มีประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านพร้อมกันเพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกันและลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล

นอกจากนี้ บริษัทฯ เห็นว่าราคาขั้นต่ำ หรือ Reserve Price ที่ระบุในร่างประกาศฯ แม้ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในอดีตแต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควรและทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ

ประกอบกับเงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และปั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา”

ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักว่าคลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสำคัญและเป็นรากฐานในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ซึ่งจะเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในระดับสากลให้กับประเทศ พร้อมกันนี้ยังได้นำเสนอข้อคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์การประมูล เพื่อให้การจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

 

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย thanapon