สำหรับผู้ที่ อัปเดตติดตั้งหรือรีสโตร์ iOS 10.3 ใหม่ ควรตรวจสอบและตั้งค่าส่วนต่างๆของระบบ เพื่อให้อุปกรณ์ iOS ทำงานได้อย่างลื่นไหลพร้อมทั้งประหยัดแบตเตอรี่ด้วย
การตั้งค่าหลังอัปเดตติดตั้งหรือรีสโตร์ 10.3 ใหม่
เพื่อการใช้งานอุปกรณ์ iOS ได้สมบูรณ์ ทีมงานแนะนำให้ผู้ใช้ทำการ Reset All Setting (ข้อมูลไม่หาย) หลังการอัปเดตติดตั้งหรือรีสโตร์ iOS 10.3 เสร็จสิ้น หรือทำการ Erase All Content (ข้อมูลหายหมด) เพื่อล้างเครื่องใหม่ก็ได้ (Backup ก่อนดำเนินการ)
ตั้งค่าบัญชีการใช้งานและความปลอดภัย
1. ตั้งค่าข้อมูลการใช้งาน และ Apple ID
ก่อนอื่นผู้ใช้ควรเข้าไปตรวจสอบก่อนว่าข้อมูลบัญชีการใช้งานและ Apple ID ที่ผูกกับอุปกรณ์นั้นอยู่ ข้อมูลมีความครบถ้วนถูกต้องหรือไม่
ไปที่ Settings > แตะที่ชื่อ Apple ID, iCloud, iTunes & App Store
เข้าไปตรวจสอบข้อมูลและตั้งค่าในส่วนที่สำคัญให้เรียบร้อยดังนี้
- Name, Phone Numbers, Email : กรอกข้อมูลการติดต่อและข้อมูลส่วนตัว
- Password & Security : ตั้งค่ารหัสผ่านและข้อมูลความปลอดภัย
- Payment & Shiping : ตั้งค่าข้อมูลบัตเครดิต การชำระเงิน และที่อยู่การจัดส่ง
- iCloud : ตรวจสอบข้อมูลบัญชี และพื้นที่การใช้งาน iCloud
- iTunes & App Store : ตั้งค่าการอัปเดตแอปอัตโนมัติ
2. เปิดการใช้งาน iCloud
ไปที่ Settings > แตะที่ชื่อ Apple ID, iCloud, iTunes & App Store > iCloud
นี่คือหัวใจสำคัญที่ต้องขอบอกให้ทุกคนต้องมีเป็นของตัวเองอย่าใช้งานร่วมกับผู้อื่น ก่อนจะใช้งาน iCloud ได้นั้นสิ่งที่ต้องมีคือ Apple ID สมัครได้ฟรีดูที่นี่ จากนั้นก็ล็อคอิน iCloud เพื่อตั้งค่าตามนี้
แนะนำให้เปิดทุกอันเลยใน iCloud
- iCloud Drive : ใช้เก็บไฟล์แชร์ไฟล์ระหว่าง iPhone, Mac, Windows (ฟีเจอร์คล้ายๆ DropBox)
- รูปภาพและคลังภาพ iCloud : เปิดเพื่อเก็บรูปถ่ายและวิดีโอจาก iOS
- เมล : เก็บข้อมูลอีเมล iCloud
- รายชื่อ : สำรองรายชื่อใน iPhone เราไว้ ไม่ให้หาย สะดวกเมื่อเปลี่ยนเครื่องหรือเครื่องสูญหาย
- ปฏิทิน : เก็บข้อมูลในปฏิทิน การประชุมหรือกำหนดการต่างๆ ที่บันทึกไว้ ยิ่งมีหลายอุปกรณ์ก็จะยิ่งลิงก์กันได้สะดวก
- โน้ต : เก็บข้อมูลในแอปโน้ต
- ข้อมูลสำรอง : เก็บข้อมูลที่จำเป็นทั้งเครื่องเอาไว้ สะดวกในยามย้ายเครื่องหรือเครื่องหาย สามารถถึงไฟล์ก้อนข้อมูลทั้งชุดที่สำรองเอาไว้ลงมาใน iPhone เครื่องใหม่ได้เลย
- ค้นหา iPhone ของฉัน หรือ Find My iPhone : เปิดไว้เพื่อค้นหาตำแหน่งของ iPhone และป้องกันไม่ให้ขโมยที่ได้เครื่องไปสามารถนำเครื่องไปใช้งานได้
3. ตั้งรหัสผ่าน Passcode และ Touch ID
ผู้ใช้ควรตั้งค่าในส่วนนี้เพื่อความปลอดภัย สามารถตั้งรหัสเข้าเครื่องได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น แบบ Simple (ตัวเลข 4 ตัว) หรือแบบ Complex (ที่มีตัวอักษร) สำหรับอุปกรณ์อย่าง iPhone 5s, 6, 6 Plus, 6s, 6s Plus, SE, 7 และ 7 Plus แนะนำให้ทำการสแกนนิ้วไว้ด้วยเลย
ไปที่ Settings > Touch ID & Passcode
4. ปิดการใช้งาน Control Center ที่หน้า Lockscreen
ปิดดารใช้งานในส่วนนี้เพื่อป้องกันคนมือซนมาปรับเมนูต่างๆ ใน Control Center เล่นขณะที่เราล็อคหน้าจอเอาไว้ เช่น อาจจะเปิดโหมดเครื่องบิน, WiFi & Bluetooth ทิ้งไว้ให้เปลืองโดยไม่ได้ใช้งาน เป็นต้น
ไปที่ Settings > Control Center > ปิด Access on Lock Screen
ตั้งค่าเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
5. ปรับแต่งคีย์บอร์ด
ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะใช้ภาษาไทยเป็นภาษาหลักดังนั้นแนะนำให้เพิ่มคีย์บอร์ดภาษาไทยเข้าไปด้วย (ในกรณีที่ระบบไม่ได้เพิ่มมาให้)
ไปที่ Settings > General > Keyboard > Keyboards > Add New Keyboard… > Thai
ถ้าอยากได้ภาษาอื่นให้เลือกภาษาที่ต้องการเข้าไปด้วย และแนะนำให้ปรับลูกเล่นเพื่อให้ใช้งานได้อย่างสะดวก โดยเข้าไปตั้งค่าในส่วนที่สำคัญดังนี้
ไปที่เมนู Settings > General > Keyboard
- ปิด Auto-Correction (เสนอคำอัติโนมัติ) : ปิดไม่ให้ iPhone ฉลาดคิดคำแทนเราว่าเรากำลังจะพิมพ์อะไรเพราะส่วนใหญ่คิดคำผิดให้ความหมายเปลี่ยน
- ปิด Predictive (การคาดเดา) : ข้อดีของการเปิดตัวนี้คือ ระบบ iOS จะเดาคำที่เรากำลังจะพิมพ์ จากนั้นเราสามารถแตะได้เลย แต่หากใครพิมพ์เร็วๆ และไม่ค่อยผิดก็สามารถปิดฟังก์ชันนี้ได้
- เปิด Enable Dictation (เปิดใช้งานป้อนตามคำบอก) : สั่ง iOS ให้พิมพ์ในสิ่งที่เราพูดได้
- ปิด Auto-Capitalization (ตัวพิมพ์ใหญ่อัตโนมัติ) : เพื่อไม่ให้ตัวแรกมันเป็นตัวใหญ่เสมอ (สำหรับภาษาอังกฤษ) เพราะบางครั้งเราอยากเขียนตัวเล็กหมดจะได้ไม่ต้องคอยกด Shift
6. ตั้งค่าเวลาสำหรับการล็อคหน้าจอ
ไปที่ Settings > Display & Brightness > Auto-Lock
ค่าปกติของระบบตั้งไว้ที่ 1 นาทีถ้าใครอยากปรับให้เร็วหรือช้ากว่านั้นก็เลือกตามความสะดวก หรือเลือก Never เพื่อไม่ให้หน้าจอล็อคเองอัตโนมัติ
7. ตั้งเวลาเปิด Do Not Disturb แบบอัตโนมัติ
Do Not Disturb สามารถปรับตั้งค่าให้เปิดเองได้ หากเปิด Scheduled ให้เป็น On หมายถึง ถ้าเวลา 4 ทุ่ม – 7 โมงเช้าเครื่องจะอยู่ในโหมดห้ามรบกวน ข้อความแจ้งจะไม่ดัง โทรหาอาจจะไม่ติด ต้องโทรหลายๆ ครั้งถึงจะติด ประโยชน์ก็เพื่อเราจะได้พักผ่อนและไม่ให้ iPhone ส่งเสียงดังเตือนทั้งวันทั้งคืน
ไปที่ Settings > Do Not Disturb > เลื่อน เปิด Scheduled เพื่อตั้งช่วงเวลา
หรือจะเปิดผ่าน Control Center โดยใช้นิ้ว Slide Control Center ขึ้นมา > แตะที่ รูปพระจันทร์เสี้ยว > จะขึ้น Do Not Disturb On (เปิด)
8. ปรับการควบคุมแสงของหน้าจอและปรับขนาดตัวอักษรที่เหมาะสม
ไปที่ Settings > Display & Brightness > ปิด Auto-Brightness และปรับระดับแสงการใช้งานทั่วไปให้อยู่ที่ประมาณ 40% แสงจะได้ไม่จ้าเกินและประหยัดพลังงาน ทั้งนี้หากต้องการแสงเพิ่มก็สามารถปรับที่ Control Center ได้
ปรับ Text Size (ขนาดตัวอักษร) เลือกปรับเล็กใหญ่ได้ตามความต้องการ
9. เปิด Night Shift หลังพระอาทิตย์ตกดิน
Night Shift เป็นคุณสมบัติที่มาพร้อม iOS 9.3 เป็นต้นมาและใน iOS 10 ก็มีเช่นกันครับ ฟีเจอร์นี้ถูกพัฒนามา เพื่อลดแสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอ iPhone, iPad โดยใช้วิธีการปรับคลื่นแสง (Color Spectrum) สีฟ้าให้เป็นแสงสีเหลืองทำให้หน้าจออุ่นขึ้น(จอเหลือง) ช่วยถนอมสายตา สำหรับผู้ใช้ iPhone, iPad ในที่แสงน้อยหรือเวลากลางคืน
ใช้นิ้ว Slide Control Center ขึ้นมา > แตะที่ รูปดวงอาทิตย์ > จะขึ้น Night Shift On (เปิด)
รายละเอียดการตั้งค่าและเปิดใช้งาน Night Shift เพิ่มเติม
10. ตั้งค่า Raise to Wake (ยกเครื่องเพื่อปลุก)
Raise to Wake เป็นคุณสมบัติที่พัฒนาเพื่อให้ผู้ใช้ iPhone สามารถดูการแจ้งเตือน, ดูเวลา, Siri, สภาพอากาศและเปิดกล้องผ่านหน้าจอ Lock Screen โดยง่าย เพียงแค่ยกเครื่องขึ้นมาดู และเมื่อวางเครื่องลง หรือคว่ำหน้าจอลง หน้าจอก็จะดับไปเองโดยอัตโนมัติ
ไปที่ Setting > Display & Brightness > แตะที่ Raise to Wake > เลื่อน เปิด – ปิด ตามต้องการ
*Raise to Wake รองรับ iPhone 6s, 6s Plus, SE, 7 และ 7 Plus เท่านั้น
11. เปิด Rest Finger to Open เพื่อปลดล็อคหน้าจอ
Rest Finger to Open เป็นคุณสมบัติที่มาทดแทน Slide to Unlock ช่วยให้ผู้ใช้ iPhone iPad รองรับ Touch ID และมี iOS 10 ขึ้นไป สามารถปลดล็อคหน้าจอโดยใช้เพียงนิ้ววางที่ปุ่ม Touch ID เท่านั้น
ไปที่ Setting > General > Accessibility > Home Button > แตะที่ Rest Finger to Open > เลื่อน เปิด – ปิด ตามต้องการ
*Rest Finger to Open รองรับ iPhone 6s, 6s Plus, SE, 7 และ 7 Plus เท่านั้น
ตั้งค่าเพื่อความลื่นไหลในการใช้งาน
12. เปิด Reduce Motion ให้เครื่องทำงานเร็วขึ้น
ไปที่ Settings > General > Accessibility > Reduce Motion > เลื่อน เปิด Reduce Motion
Reduce Motion จะช่วยลดเอฟเฟกซ์ต่างๆ ของอุปกรณ์ทำให้เครื่องเปิดปิดแอปต่างๆได้เร็วและลื่นไหลมากขึ้น
13. เปิด Increase Contrast
ไปที่ Settings > General > Accessibility > Increase Contrast > เลื่อน เปิด Reduce Transparency และ Darken Color
การเปิด Reduce Transparency จะช่วยลดการโปร่งแสงของเมนูต่างๆ ทำให้ระบบประมวลผลได้เร็ว และการเปิด Darken Color ทำให้ระบบลดแสงสีขาวลง ช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้มากขึ้น
ตั้งค่าระบบอื่นๆ
14. ตั้งค่าการจัดเรียงรายชื่อ
ส่วนใหญ่คนไทยจะเรียกชื่อขึ้นก่อนนามสกุลเสมอแต่ว่าทางตะวันตกเขามันจะใช้นามสกุลขึ้นก่อน ค่าปกติของรายชื่อเลยจัดเรียงแบบนั้นส่งผลให้ไม่คุ้นเคย
สามารถปรับตั้งค่าที่ Sort Order หรือการจัดเรียงลำดับให้แสดงชื่อแล้วตามด้วยนามสกุล (First, Last)
ไปที่ Settings > Contacts > Sort Order > First, Last
15. ปรับให้ Spotlight Search ค้นหาสิ่งที่เราต้องการให้หา
เดิมที iOS เปิดให้ Spotlight ค้นหาจากทั้งหมดทุกแอปที่มีในเครื่องซึ่งทำให้เกินความจำเป็น โดยปกติแล้วเราจะใช้ Spotlight ค้นหา เพลง รายชื่อผู้ติดต่อ, ข้อความในโน้ตหรือแอปจาก App Store เราก็เลือกเปิดเท่าที่เราต้องการจะค้นหา
ไปที่ Setting > General > Spotlight Search
16. ตั้งค่าแผนที่นำทาง
เลือกระดับเสียงและหน่วยระยะทางแสดงผลให้เป็นกิโลเมตรแบบที่เราคุ้นเคย
ไปที่ Settings > Maps > เลือก Distances เป็น in Kilometers (กิโลเมตร)
17. เปิดการใช้งาน iMessage และ Facetime
- ไปที่ Setting > Message เพื่อรับส่งข้อความจาก iOS Device และ macOS ได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย(ยกเว้นค่าอินเทอร์เน็ต)
- ไปที่ Setting > FaceTime สามารถโทรวิดีโอคอลหรือแบบเห็นหน้าได้หรือจะเลือกโทรแบบเฉพาะเสียงผ่าน VOIP แบบนี้ไม่เสียค่าโทรของเครือข่ายมือถือนะครับเพราะจะใช้อินเทอร์เน็ตแทน ถ้าโทรผ่าน WiFi ก็ฟรีครับ ถ้าโทรผ่าน 3G/4G ก็หักอินเทอร์เน็ตจากแพ็กเกจที่เรามี
เทคนิคเพิ่มเติมสำหรับ FaceTime หากมีหลายอุปกรณ์ เช่น iPhone 1 เครื่องและ iPad 1 เครื่อง ใช้งาน Apple ID ใน FaceTime เดียวกัน จะทำอย่างไรไม่ให้ที่ iPad แจ้งเตือนรับสายเมื่อมีคนโทรเข้า iPhone
คำตอบคือ FaceTime ใน iPad ต้องไม่ติ๊กเบอร์โทรของ iPhone
18. เปิดการใช้งาน Siri
ไปที่ Settings > Siri
เธอคือเลขาส่วนตัวที่เราสามารถสั่งการหรือสอบถามข้อมูลต่างๆ จากเธอได้และอย่าลืมเปิด Hey Siri ด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Siri
ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งค่าระบบหลังจากอัปเดตติดตั้งหรือรีสโตร์ iOS 10.3 ตามแบบฉบับของ iPhoneMod แนะนำให้ลองทำตามดูเผื่อใครชื่นชอบ
สำหรับ iOS 10 – 10.2 สามารถติดตามวิธีตั้งค่าแบบเดียวกันได้ที่ การตั้งค่าหลังอัปเดตติดตั้งหรือรีสโตร์ iOS 10 – 10.2 ใหม่ ควรเช็คจุดไหนบ้าง
เรื่องโดย iPhoneMod.net