in

AIS จับมือ สวพส. ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนห่างไกล ผ่านโครงการ “Green Energy Green Network for THAIs”

AIS และ สวพส. ร่วมกันสร้างโครงการ “Green Energy Green Network for THAIs” มุ่งนำพลังงานสะอาดจากแผงโซลาร์เซลล์ และระบบสื่อสารโทรคมนาคม โครงการนี้ ช่วยให้ชุมชนที่ห่างไกล เข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษ และประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย

AIS จับมือ สวพส. ยกระดับคุณภาพชีวิตให้ชุมชนห่างไกล ผ่านโครงการ ” Green Energy Green Network for THAIs”

7 มิถุนายน 2567 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF องค์กรชั้นนำด้านพลังงานและโครงสร้างพื้นฐานยั่งยืนในระดับภูมิภาค ผนึกกำลังร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในฐานะผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิทัลชั้นนำของไทย พร้อมด้วย สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส.

เดินหน้ายกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในพื้นที่ห่างไกลให้เข้าถึงบริการโครงสร้างขั้นพื้นฐาน ชูการนำจุดแข็งของทั้ง 2 องค์กรภาคเอกชน และการผสานกำลังกับภาครัฐอย่าง สวพส. ที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมบนพื้นที่สูงของประเทศ มาร่วมกันส่งมอบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ที่ผลิตโดยพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ให้แก่ชุมชน

พร้อมติดตั้งสถานีฐานโดยใช้แหล่งพลังงานจากแสงอาทิตย์เชื่อมต่อระบบเครือข่ายสัญญาณดิจิทัลสำหรับชุมชนผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย นำร่อง 2 พื้นที่ห่างไกล ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก พร้อมตั้งเป้าการทำงานร่วมกันมุ่งขยายผลโครงการต่อเนื่องในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างการเติบโตร่วมกันของเศรษฐกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS อธิบายต่อไปอีกว่า “จากความมุ่งมั่นในการก้าวสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีโทรคมนาคมอัจฉริยะ หรือ Cognitive Tech-Co ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AIS เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลให้มีความแข็งแรง มีความพร้อมมากพอที่จะเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (Ecosystem Economy) เพราะเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าระบบสื่อสารโครงข่ายดิจิทัลเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างโอกาสให้กับผู้คนให้เข้าถึงความรู้ใหม่ ๆ ที่สามารถต่อยอดการใช้ชีวิตเพื่อสร้างคุณค่าหลากหลายด้านได้อย่างมากมายภายใต้การเปลี่ยนแปลง”

การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ ด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้ โดย AIS และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่าง ๆ

เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆอย่างแท้จริงและยั่งยืน ดังเช่น ชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง”

นางสาวธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากการที่ GULF และ GULF1 บริษัทในเครือ นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารตั้งแต่ปี 2566 ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ บ้านห้วยน้ำไซ อ.นครไทย จ.พิษณุโลก เกาะทุ่งนางดำ อ.คุระบุรี จ.พังงา และบ้านดอกไม้สด อ.ท่าสองยาง จ.ตาก รวมถึงมีทีมวิศวกรจาก GULF1 ให้ความรู้ด้านการบำรุงรักษาและวิธีการใช้งานชุดอุปกรณ์โซลาร์เซลล์แก่ชุมชน

เพื่อให้สามารถใช้งานระบบโซลาร์ได้อย่างยั่งยืน เมื่อได้ลงพื้นที่จริง และพูดคุยกับชุมชนถึงปัญหาในการสื่อสารกับคนภายนอกพื้นที่ จึงเล็งเห็นการต่อยอดโครงการโดยการชักชวนพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง AIS เพื่อผนึกกำลังขยายสัญญาณสื่อสาร มอบโอกาสในการเข้าถึงพลังงานและเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสทางการศึกษา การพัฒนาอาชีพ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข รวมถึงสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของ GULF ในการขับเคลื่อนให้สังคมมุ่งสู่อนาคตคาร์บอนต่ำผ่านการใช้พลังงานสะอาดอีกด้วย

ในปีนี้ ทาง GULF ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไปแล้วใน 3 พื้นที่ ได้แก่ อยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น เดิมชาวบ้านมอโก้โพคีประกอบอาชีพปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ทำให้มีการทำลายป่าเป็นวงกว้าง และยังทำลายสุขภาพผู้ปลูกเนื่องจากการใช้สารเคมี

นอกจากนั้น การเผาในฤดูเก็บเกี่ยวยังก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 อีกด้วย ซึ่งทาง GULF ได้ร่วมมือกับผู้นำชุมชนสานต่องานรักษาผืนป่าและพัฒนาอาชีพในการปลูกกาแฟให้กับคนในชุมชน GULF จึงได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น โดยการใช้พลังงานสะอาด สิ่งเหล่านี้จะส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน

และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ GULF ยังนำชาวบ้านจากดอยมอโก้โพคี ไปเรียนรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ที่ จ.เชียงราย เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา นับว่าเป็นการช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนแห่งนี้ ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำได้อย่างเป็นอย่างดี”

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Aize Piyamon

Aize, Piyamon Pokpingmuang (ไอซ์ ปิยมน)
Faculty of Fine Arts, ChiangMai University