จากการจัดกิจกรรมแข่ง Swift Student Challenge ล่าสุด Apple ได้เลือกผู้ชนะจำนวน 350 คนจาก 41 ประเทศและภูมิภาค ก่อนจัดงาน WWDC 2020 สัปดาห์หน้า
Apple ประกาศผู้ชนะการแข่ง Swift Student Challenge ในงาน WWDC20 ของ Apple มุ่งมั่นที่จะสร้างอนาคต
งาน Worldwide Developers Conference 2020 ของ Apple จะเริ่มต้นในวันที่ 22 มิถุนายนนี้ จัดในรูปแบบใหม่ผ่านระบบออนไลน์เสมือนจริง เหล่านักพัฒนาแอปทั่วโลกกว่า 23 ล้านคนจะมีโอกาสเข้าร่วมงานนี้จากบ้านของตัวเองผ่านทางแอปและเว็บไซต์ Apple Developer
งานนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 31 แล้วโดยใช้ชื่อว่า WWDC20 ซึ่งเป็นการนำเหล่านักคิดและนักลงทุนมาเจอกันเพื่อติดต่อ แชร์ความคิด และสร้างสรรค์ร่วมกัน
ในบรรดาผู้เข้าร่วมงานก็จะมีผู้ชนะการแข่ง Swift Student Challenge จำนวน 350 คนจาก 41 ประเทศ/ภูมิภาค นักเรียนเหล่านี้ได้รับเลือกจากผลงาน Swift Playgrounds ของตัวเองที่ส่งเข้ามา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปีของ Apple ที่มีขึ้นเพื่อเชิดชูความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับนักเขียนโค้ดและครีเอเตอร์รุ่นใหม่
Apple ได้แนะนำผู้ชนะ 3 คน ได้แก่ Sofia Ongele, Palash Taneja และ Devin Green เด็กเหล่านี้มีเป้าหมายชีวิตคล้ายกันอย่างที่ Ongele กล่าวสรุปไว้คือ “การสร้างเทคโนโลยีและทำสิ่งดี ๆ ไปพร้อมกัน” ทั้งสามคนมองว่าปัญหาในโลกนี้เป็นเหมือนโอกาสที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ทุกปัญหาคือเสียงเรียกร้องให้เราลงมือทำอะไรสักอย่าง และพวกเขาก็ได้ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องนั้นแล้วอย่างกึกก้องและชัดเจน
Sofia Ongel
สำหรับ Sofia Ongele วัย 19 ปีที่เพิ่งเรียนจบชั้นปี 2 ที่ Fordham University ในนิวยอร์ก ความมุ่งมั่นที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงของเธออยู่ในส่วนที่คาบเกี่ยวกันระหว่างเทคโนโลยีและความยุติธรรมทางสังคม ReDawn ซึ่งเป็นแอป iOS ตัวแรกของเธอนับเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อนคนหนึ่งของเธอถูกล่วงละเมิดทางเพศตอนปี 1 หลังจากนั้น Ongele จึงสร้างแอป ReDawn ขึ้นมาเพื่อช่วยให้ผู้ตกเป็นเหยื่อเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างง่ายดาย ปลอดภัย และเป็นความลับ
“ฉันอยากสร้างอะไรที่ทำให้ผู้ที่เข้าสู่กระบวนการนี้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว” Ongele ได้รับการทาบทามจากองค์กรต่างๆ ว่าอยากเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมพัฒนาแอปนี้กับเธอ แต่ความคิดเห็นสำคัญที่สุดที่เธอได้รับนั้นมาจากเพื่อนที่ถูกล่วงละเมิด “เพื่อนบอกว่าแอปนี้น่าจะสร้างความแตกต่างให้กับผู้คนได้จริง ซึ่งนั่นสำคัญกับฉันที่สุด”
Ongele เริ่มเขียนโค้ดในปี 2016 ตอนที่เธอเข้าค่าย Kode With Klossy ซึ่งเป็นคอร์สเรียนเขียนโค้ดฟรีสำหรับเด็กผู้หญิงอายุ 13 ถึง 18 ปี Ongele บอกว่าการเรียนเขียนโค้ดนั้นเปลี่ยนโลกของเธอไปเลย “เหมือนความคิดของฉันหมุนเปลี่ยนแบบ 180 องศา ฉันรู้เลยว่านี่แหละคือสิ่งที่ฉันอยากจะทำ” Ongele กล่าว
ซึ่งเธอได้กลายมาเป็นผู้สอนของโปรแกรมนี้ต่อด้วย “ฉันอยากจะส่งต่อความรู้ให้กับผู้หญิงจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงผิวสี พวกเขาจะได้ไม่รู้สึกว่างานสาขานี้เป็นอะไรที่ไกลเกินเอื้อม”
Ongele ยกให้ตุลาการศาลสูงสุด Sandra Day O’Connor และ Ruth Bader Ginsburg รวมทั้งสมาชิกสภา Alexandria Ocasio-Cortez เป็นเหมือนฮีโร่ของเธอ และเธอยังชั่งใจอยู่ว่าจะเรียนต่อด้านนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ หรือทั้งคู่ดี ไม่ว่าจะเลือกเส้นทางไหน เธอก็รู้ว่าทักษะการเขียนโค้ดของเธอจะเป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางนั้น: “ในทุกๆ วัน ฉันแค่อยากจะใช้เทคโนโลยีเพื่อสิ่งดีๆ ในสังคม”
Palash Taneja
Palash Taneja อายุ 19 ปีเติบโตมาในเมืองนิวเดลี ประเทศอินเดีย เมื่อ 4 ปีก่อน เขาป่วยเป็นไข้เลือดออก ไวรัสตัวร้ายที่ติดต่อจากยุง ซึ่งอาการรุนแรงมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล
“ผมทรมานอยู่ตั้ง 2-3 เดือน และคิดว่านั่นแหละเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนเขียนโปรแกรมและใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา” Taneja กล่าว ตอนนี้เขาเพิ่งจบปี 1 ที่ University of Texas ในเมืองออสติน
เขาต่อยอดโดยการสร้างเครื่องมือบนเว็บที่ใช้การเรียนรู้ของระบบเพื่อทำนายว่า โรคติดต่อที่มียุงเป็นพาหะอย่างไข้เลือดออกนั้นมีการแพร่เชื้ออย่างไร และสำหรับผลงานที่ส่งเข้าร่วมการแข่ง Swift Student Challenge ในปีนี้นั้น เขาได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดย Taneja ได้ออกแบบ Swift Playgrounds ที่สอนการเขียนโค้ดขณะที่จำลองการแพร่ระบาดในหมู่ประชากร โดยแสดงให้เห็นว่าการใช้มาตรการป้องกันอย่างการเว้นระยะห่างทางสังคมและหน้ากากอนามัยนั้นช่วยชะลออัตราการติดเชื้อได้แค่ไหน เขาสร้างผลงานนี้เพื่อให้ความรู้แก่คนรุ่นใหม่ หลังจากที่เห็นคนบางกลุ่มยังไม่ระวังตัวเท่าที่ควร
นอกจากนี้ Taneja ยังใส่ใจเรื่องการศึกษาด้วย ในอินเดียสมัยที่ยังเป็นวัยรุ่น เขาอาสาสอนวิชาภาษาอังกฤษและคณิตศาสตร์ในโรงเรียนสำหรับเด็กที่ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน ก่อนจะจากบ้านเกิดมาเรียนต่อที่สหรัฐฯ เขาสร้างโปรแกรมที่แปลวิดีโอการศึกษาออนไลน์ยอดนิยมเป็นภาษาอื่น ๆ ร่วม 40 ภาษา เพื่อให้เด็ก ๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่ดีสามารถเรียนรู้ผ่านเว็บได้
“ผมชอบทำงานกับเด็ก ๆ และคิดว่าการศึกษาเป็นหนึ่งในหลายสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตคนได้” Taneja กล่าว “โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา”
Devin Green
Devin Green ชอบที่จะแก้ปัญหาด้วยเทคโนโลยีและหาแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบตัว หลังจากจบการเรียนมัธยมปลายที่บ้านเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เขาใช้ห้องนอนที่บ้านในแคสโตรแวลลีย์ แคลิฟอร์เนียเป็นห้องทดลอง
หนุ่มวัย 18 ปีที่จะเริ่มชีวิตเด็กปี 1 ที่มหาวิทยาลัย Stanford ในปีนี้ กำลังมีปัญหาในการตื่นตอนเช้า เขาจึงออกแบบโปรแกรมที่ใช้กับแผ่นวัดแรงกดที่วางไว้ใต้เตียง ถ้าโปรแกรมตรวจพบว่ายังมีน้ำหนักกดทับในเวลาเขาที่สมควรจะลุกจากเตียง นาฬิกาปลุกจะส่งเสียงดังไม่หยุดจนกว่าจะใช้มือถือสแกนคิวอาร์โค้ด
“มีคิวอาร์โค้ด 12 แบบติดไว้ทั่วบ้าน และโปรแกรมจะสุ่มให้สแกนแบบที่แตกต่างกันไปทุกเช้า” Green บอก “ดังนั้นผมจึงไม่มีทางรู้แน่นอนได้เลยว่าจะต้องไปปิดเสียงปลุกที่ไหน”
ความคิดสร้างสรรค์เช่นเดียวกันนี้ได้แทรกซึมอยู่ในผลงานทุกชิ้นที่ Green สร้าง ผลงานที่ชนะการแข่ง Swift Student Challenge ของเขาคือหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ชื่อ Stanny ซึ่งสามารถรู้จำและโต้ตอบความคิดเห็นและคำถามต่าง ๆ ได้ถึง 63 รูปแบบ
นอกจากนี้ Green ยังมีแอป 2 ตัวใน App Store โดยแอปตัวแรกสร้างตั้งแต่อายุ 13 ปี แอปตัวที่สองชื่อ Slight Work เป็นแอปทำการบ้านที่อาศัยเทคนิคบริหารเวลา Pomodoro Technique เพื่อเพิ่มเวลาทำงานโดยใช้การพักเบรกอย่างมีระบบ เขากับเพื่อนเคยใช้ตอนเรียนมัธยมปลายปีสุดท้าย และใช้เรื่อยมาจนถึงมหาวิทยาลัย
เมื่อพูดถึงเรื่องอนาคต Green หวังว่าจะใช้ทักษะในการแก้ปัญหาที่เขามีเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับที่ใหญ่ขึ้น
“ผมอยากมีส่วนช่วยในเรื่องความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง” Green กล่าว “การให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ที่จำเป็นในการรู้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันในสังคม หรือเข้าถึงการลงทะเบียนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งหรือสิทธิพลเมืองขั้นพื้นฐาน การแก้ปัญหาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญกับผมมาก”
Apple ภูมิใจที่ได้สนับสนุนและหล่อหลอมนักพัฒนาแอปรุ่นใหม่ผ่านทางโปรแกรมสำหรับนักเรียนประจำปีอย่าง WWDC และนั่นเป็นเพียงหนึ่งในหลายวิธีที่ WWDC20 แสดงการเชิดชูความสามารถและเฉลิมฉลองให้กับเหล่านักเขียนโค้ดและผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทั้งหลาย ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่หรือมีพื้นฐานด้านไหนก็ตาม เป็นครั้งแรกที่จะมีกิจกรรมพิเศษที่คัดสรรมาเพื่อนักเขียนโค้ดและนักออกแบบโปรแกรมรุ่นเยาว์โดยเฉพาะ รวมทั้งภารกิจ Swift Playgrounds ประจำวันที่ทุกคนสามารถเข้าร่วมและมาสนุกกันได้
ปกติแล้วผู้ชนะจะได้รับการเข้างาน WWDC และที่พักฟรีในเมืองซานโฮเซ่ แต่สถานการณ์ในปีนี้ที่ต้องจัดแบบออนไลน์ ผู้ชนะยังคงได้รับแจ็คเก็ตแบบพิเศษ รวมถึงหมุดปักเสื้อ และยังได้เข้าถึงห้องทดลองสำหรับนักพัฒนาแบบตัวต่อตัวกับวิศวกรของ Apple โดยที่ไม่ต้องการค่าสมาชิก
ขอบคุณ Apple Newsroom