Apple เผยว่า ได้พัฒนาโครงการรีไซเคิ
Apple ขยายโครงการรีไซเคิลทั่วโลก สามารถแยกชิ้นส่วนรีไซเคิลได้ถึง 4 เท่า
Apple ได้ประกาศพัฒนาโครงการรีไซเคิลครั้งใหญ่โดยเพิ่มจำนวนสถานที่ซึ่งลูกค้าในสหรัฐอเมริกาสามารถส่ง iPhone® ไปให้ Daisy หุ่นยนต์รีไซเคิลแยกชิ้นส่วนมากขึ้น 4 เท่า โดย Daisy จะแยกชิ้นส่วนและรีไซเคิล iPhone ใช้แล้วที่ลูกค้านำมาคืนที่ร้าน Best Buy ทั่วสหรัฐอเมริกาและร้าน KPN ในเนเธอร์แลนด์ ลูกค้าสามารถนำอุปกรณ์ที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์มารีไซเคิลได้ที่ Apple Store® ทุกสาขาหรือผ่าน apple.com/th ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Apple Trade In
Apple ได้รับอุปกรณ์เกือบ 1 ล้านเครื่องจากโครงการเหล่านี้ และหุ่น Daisy แต่ละตัวก็สามารถแยกชิ้นส่วนอุปกรณ์ได้ 1.2 ล้านเครื่องต่อปี ในปี 2018 บริษัทได้นำอุปกรณ์ Apple กว่า 7.8 ล้านเครื่องไปประกอบใหม่ซึ่งช่วยลดการส่งขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปฝังกลบกว่า 48,000 เมตริกตัน
“กระบวนการรีไซเคิลที่ล้ำหน้าต้องเป็นส่วนสำคัญของซัพพลายเชนอิเล็กทรอนิกส์ และ Apple ก็กำลังบุกเบิกหาหนทางใหม่ๆ เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมให้ก้าวหน้า” Lisa Jackson รองประธานฝ่ายสิ่งแวดล้อม นโยบาย และโครงการริเริ่มเพื่อสังคมของ Apple กล่าว “เราทำงานอย่างหนักเพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ ลูกค้าสามารถใช้งานได้ในระยะยาว และเราหวังว่าโครงการที่เข้าร่วมได้อย่างง่ายดายและมีประโยชน์มากมายเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้ทุกคนนำอุปกรณ์เก่ามารีไซเคิล”
ตอนนี้ Daisy สามารถแยกชิ้นส่วน iPhone ที่แตกต่างกัน 15 รุ่นได้ 200 เครื่องต่อชั่วโมง ซึ่งช่วยให้มีวัสดุสำคัญที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้เพิ่มขึ้นอีก เมื่อวัสดุต่างๆ ผ่านกระบวนการแยกชิ้นส่วนจาก Daisy แล้วก็จะถูกนำกลับไปใช้ในกระบวนการผลิตต่อไป ส่วนโคบอลต์ซึ่งเป็นวัสดุหลักของแบตเตอรี่นั้น Apple จะส่งแบตเตอรี่ iPhone ที่ผ่านการคัดแยกชิ้นส่วนจาก Daisy ไปยังซัพพลายเชน จากนั้นชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะถูกนำไปรวมกับเศษวัสดุจากแหล่งผลิต โคบอลต์ที่ได้จากขั้นตอนนี้ก็จะนำไปใช้ทำแบตเตอรี่ Apple ใหม่ นับว่าเป็นการหมุนเวียนวัสดุล้ำค่ากลับมาใช้ได้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ Apple ยังใช้ดีบุกรีไซเคิล 100% ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของแผงวงจรหลักสำหรับผลิตภัณฑ์ Apple ถึง 11 ประเภท โลหะผสมอะลูมิเนียมของบริษัทที่ทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิล 100% ช่วยลดคาร์บอนฟุตพริ้นต์ของ MacBook Air® และ Mac mini® ให้น้อยกว่ารุ่นก่อนๆ เกือบครึ่งหนึ่ง โดยอะลูมิเนียมที่คัดแยกได้จากโครงการ Apple Trade In จะถูกนำไปหลอมเป็นตัวเครื่อง MacBook Air
Apple ยังประกาศเปิดตัว Material Recovery Lab ที่สร้างขึ้นเพื่อคิดค้นกระบวนการรีไซเคิลในอนาคต พร้อมผลักดันงานวิจัยด้านการรีไซเคิลให้ไปไกลกว่าเดิม ตัวอาคารใหม่ขนาด 9,000 ตารางฟุตในเมืองออสติน รัฐเท็กซัสพร้อมรองรับโซลูชั่นใหม่ๆ ที่นำหุ่นยนต์และการเรียนรู้ของระบบมาพัฒนาวิธีการแยกชิ้นส่วน คัดแยก และตัดเป็นชิ้นเล็กๆ แบบเดิมๆ ทีมงานจากห้องแล็บจะทำงานร่วมกับทีมวิศวกรของ Apple และนักวิชาการเพื่อหารือและเสนอวิธีแก้ไขปัญหาการรีไซเคิลของวงการอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
Apple พัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มั่นใจได้ว่าอุปกรณ์จะใช้งานได้นานที่สุด โดย Apple Store และเครือข่ายศูนย์บริการที่ได้รับอนุญาตจาก Apple ได้ขยายสาขาเพิ่มกว่า 5,000 แห่งทั่วโลก ในช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีที่แล้ว Apple ได้เปิดตัววิธีการซ่อมหน้าจอ iPhone แบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งช่วยให้ร้านค้าหลายแห่งเปิดให้บริการนี้ได้ พร้อมทั้งเปิดตัวโครงการเปลี่ยนแบตเตอรี่และรีไซเคิลของผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นอีกด้วย
วันนี้ Apple เผยแพร่รายงานด้านสิ่งแวดล้อมประจำปี 2019 ซึ่งมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของบริษัท รวมถึงประกาศฉบับล่าสุดที่เผยว่าซัพพลายเออร์ 44 แห่งได้มุ่งมั่นที่จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เมื่อทำการผลิตให้กับ Apple คุณสามารถอ่านรายงานได้ที่ apple.com/th/environment บริษัทจะฉลองวันคุ้มครองโลกในวันที่ 22 เมษายนโดยกำหนดให้เซสชั่น Today at Apple® ที่ Apple Store ทุกสาขาเป็นธีมสิ่งแวดล้อม พร้อมนำเสนอเรื่องราว คอลเลกชั่นแอพ และเกมต่างๆ บน App Store เพื่อส่งเสริมให้ผู้คนรักโลกและตระหนักถึงบทบาทของตนต่อระบบนิเวศ กิจกรรมท้าทายวันคุ้มครองโลกของ Apple ยังส่งเสริมให้ผู้ใช้ Apple Watch® ออกกำลังกายกลางแจ้งนาน 30 นาทีขึ้นไปเพื่อรับรางวัลพิเศษเนื่องในวันคุ้มครองโลกและสติ๊กเกอร์ไว้ใช้ในแอพข้อความ1
นอกจากนี้ Apple ยังพัฒนาการทำงานเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดทรัพยากรให้ดีขึ้นกว่าปีก่อนโดยสนับสนุนองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อม Conversation International, SEE Foundation และ The Recycling Partnership