เป็นข่าวดังไปทั่วหลังจาก Spotify เปิดตัวในไทย กับผู้ให้บริการ Music Streaming อันดับ 1 ของโลก ที่บางคนถึงขนาดต้อง VPN เพื่อข้ามโซนไปสมัครใช้บริการ และด้วยการเปิดตัวด้วยราคาที่ถูกแสนถูก (บางคนบอกว่าถูกกว่าต่างประเทศเสียอีก) จึงน่าจะเปลี่ยนใจคนไทยจากสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ได้ไม่ยาก และในวันนี้เนื่องจากตัวผู้เขียนเองไม่มีความรู้เรื่องเพลงเท่าไหร่ จึงได้ขอสัมภาษณ์คุณ Worrathas Wongthai มาร่วมให้ความรู้ด้านนี้ด้วย
Apple Music
เริ่มต้นที่ขาใหญ่แห่งวงการที่มีจุดเด่นอยู่ทีระบบ Eco System (และตอนนี้ฟังบน Android ได้แล้ว!) หลังจากแนวคิด Steve Jobs ที่เน้นระบบซื้อเพลงแบบขาดได้สิ้นสุดลง Apple Music จึงได้เข้ามาแทนที่ระบบเก่า พร้อมโปรโมชั่นโดนใจอย่าง “ทดลองใช้ฟรี 3 เดือน” ซึ่งเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคได้ไม่ยาก
Apple Music มีข้อจำกัดในการใช้งานเยอะ แต่ก็ถือว่าสะดวกที่สุดสำหรับคนใช้ iOS, macOS
จุดแข็งของ Apple อยู่ที่ความเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลและสายป่านยาว สามารถทุ่มเงินให้ศิลปินและค่ายเพลงเพื่อทำอัลบั้ม Exclusive เฉพาะอย่างในอดีตก็มี Taylor Swift เป็นต้น แถมยังมีเพลงในระบบถึงกว่า 40 ล้านเพลง เหมาะกับนักผจญเพลงที่ต้องการความหลากหลาย แต่น่าเสียดายที่คุณภาพเสียงค่อนข้างด้อยกว่าคู่แข่งทั้งสอง
Spotify
เปิดชนด้วยราคาเดียวกับ Apple Music (บางคนบอกถูกกว่าราคาในต่างประเทศเสียอีก) ถึงแม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีราคานักศึกษาก็ตาม จุดเด่นของ Spotify อยู่ที่ Playlist ซึ่งหลายคนบอกว่าดีที่สุด มีระบบ Machine Learning ที่คอยติดตามพฤติกรรมว่าเราชอบหรือไม่ชอบเพลงแนวไหน อีกทั้งเพลงสากลยุคเก่าหรือพวกค่ายอินดี้ที่หาฟังที่อื่นไม่ได้ก็ยังมีให้ฟัง รวมแล้วมีกว่า 30 ล้านเพลง
Spotify โดดเด่นด้าน Machine Learning เรียนรู้พฤติกรรมผู้ฟังทำให้ตอบโจทย์ได้ตรงใจ
ก่อนหน้านี้ Spotify ได้รับสมัครงาน Music Editor, Thailand และก็ได้บรรณาธิการมือเก๋า จากนิตยสารค่ายเพลงหนึ่งไปเป็นที่เรียบร้อย ส่วนคุณภาพเสียงนั้นค่อนข้างสูงกว่าคู่แข่งทั้งสอง แถมยังมีการแลกเปลี่ยน Playlist กันในหมู่นักฟังเพลงด้วยกัน ยิ่งทำให้ทวีคูณความน่าใช้งานขึ้นไปอีก สามารถฟังเพลงฟรีได้โดยมีโฆษณาและข้อจำกัด (เล็กน้อย)
Joox
ด้วยความเป็นสัญชาติจีนแท้ ๆ ที่เข้าใจคนเอเชียเป็นอย่างดี มีการจัด Playlist ที่ค่อนข้าง Localized เป็นพิเศษ หากมองดูในมุมมอง App จะค่อนข้างมีลูกเล่นเยอะมาก อย่างเช่นแชร์เพลงให้เพื่อน, การพิมพ์เนื้อรองลงภาพ, หรือแม้แต่การร้องคาราโอเกะ (ก็ยังมี) สามารถปรับความละเอียดของเพลงได้หลากหลาย และยังมีคุณภาพสูงกว่า Apple ส่วนเรื่องราคาก็ถือว่าถูกมาก (หากไม่นับแชร์แบบครอบครัว) เพราะมีการจัดโปรโมชั่นลดแลกแจกแถมอยู่สม่ำเสมอ
Joox ลูกเล่นเยอะ มีความสนุก มีความเป็นเอเชีย และเข้าใจคนเอเชียกว่า
คลังเพลงของ Joox ถึงแม้จะน้อยสุดแต่ก็ยังมีเพลงสากลยอดฮิตให้เกือบครบ ซึ่งอันที่จริงก็ชดเชยด้วยความ “ใกล้ชิด” กับศิลปินไทยมากกว่าอย่าง Joox Live หรือกิจกรรมสารพัดที่จัดขึ้นอย่างเป็นประจำ Joox อาจไม่มองตัวเองเป็นแค่ Music Streaming แต่เป็นเครือข่ายคนฟังเพลงที่เชื่อมเข้าอย่างใกล้ชิดกับศิลปิน เปรียบได้ดั่ง DJ ในยุคก่อนที่เอาเพลงมาเสิร์ฟไม่ให้ตกกระแสกัน สามารถฟังเพลงฟรีได้โดยมีโฆษณาและข้อจำกัด (เล็กน้อย) อีกทั้งยังเป็นค่ายเดียวที่ฟังเพลง RS ได้ด้วย
สรุป
สุดท้ายนี้คงต้อง “ลองฟัง” ด้วยตัวเองจริง ๆ เพราะจุดแข็งแต่ละผู้ให้บริการก็แตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งสไตล์การฟังเพลงของแต่ละคนที่มีจริตการชอบ Playlist ที่แตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะเลือกค่ายไหนซึ่งไม่ว่าจะฟังฟรีหรือเสียเงินก็ตาม คุณก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบแล้วครับ
สนับสนุนการฟังเพลงอย่างถูกลิขสิทธิ์