แน่นอนว่าการเปิดตัวของ Apple Watch Series 4 (2018) ที่มาพร้อมกับระบบตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ยังคงเป็นที่พูดถึงของคนหลายกลุ่มว่า Apple Watch Series 4 นั้นจะสามารถวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้แม่นยำหรือไม่และมีแนวโน้มของความถูกต้องมากแค่ไหน วันนี้เราจะมาชมที่มาของฟีเจอร์นี้กัน
Apple Watch Series 4 (2018) วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้แม่นยำมากกว่า 98%
การจะได้มาของฟีเจอร์วัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) บน Apple Watch Series 4 นั้น อุปกรณ์จะต้องได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) หรือที่เรารู้จักกันดีในนามว่า อย. นั่นเอง ซึ่ง FDA ในต่างประเทศมีความเข้มงวดในเรื่องนี้สุดๆ โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา
Apple จะต้องส่งข้อมูลการศึกษาทั้งหมดของระบบวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจให้กับ FDA เรามาชมกันว่าการศึกษาที่ว่านี้ Apple ทำอย่างไร
Apple ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด รัฐแคลิฟอเนีย ในการศึกษาระบบตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) ที่นำมาใช้บน Apple Watch Series 4 การศึกษานี้มีชื่อว่า Apple Heart Study ที่ได้รวมอาสาสมัคร 588 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่มีภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation หรือ AFib) หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดโดยพบได้ร้อยละ 1-2 ในคนทั่วไป และอีกครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีปกติ
จากการทดสอบแอปพลิเคชัน ECG สามารถระบุผู้ที่มีภาวะ AFib ได้ถูกต้องถึง 98% และระบุผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นปกติถูกต้องถึง 99% ซึ่งถือว่ามีความแม่นยำสูง แต่ก็ไม่ได้แม่นยำ 100%
Apple Watch สามารถทดแทนอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้หรือไม่
ในการวัดคลื่นหัวใจด้วยเครื่องมือในสถานพยาบาลต่างๆ จะต้องใช้อปุกรณ์ที่มีลักษณะเป็นสติ๊กเกอร์ 12 จุด แปะบนทรวงอก รวมถึงแขนและขา เพื่อให้แพทย์ได้ภาพการเต้นของหัวใจ 4 ห้องที่ชัดเจน
ภาพจาก www.aviva.co.uk
เทคโนโลยีการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจใน Apple Watch Series 4 เป็นเพียงการสัมผัสจุดเดียวที่ข้อมือที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเต้นของหัวใจว่ามีอัตราการเต้นที่ช้าหรือเร็วเกินไป จนทำให้พบภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (AFib)
แต่จะให้วัดและให้ข้อมูลแบบละเอียดเท่ากับเครื่องมือทางการแพทย์คงเป็นไปไม่ได้ เนื่องจาก Apple Watch ไม่ใช่เครื่องมือทางด้านการแพทย์แต่เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมที่คอยช่วยตรวจจับอัตราการเต้นของหัวใจ จึงไม่จำเป็นจะต้องรายงานภาพแบบเต็มรูปแบบเหมือนกับเครื่องวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้าในสถานพยาบาล
อุปกรณ์ในราคา 399$ ไม่ใช่อุปกรณ์ที่จะทดแทนเครื่องมือทางการแพทย์ในโรงพยาบาลได้ ซึ่ง Apple Watch ก็ไม่ได้ทำมาเพื่อจุดประสงค์นั้น
เพียงแต่ Apple Watch จะเป็นอุปกรณ์ที่คอยติดตามปัญหาการเต้นของหัวใจที่อาจจะเกิดกับคนที่ไม่เคยรู้ตัวมาก่อนหรือเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคหัวใจอยู่แล้ว พร้อมกับแจ้งเตือนและเก็บข้อมูลเบื้องต้นให้แพทย์ทำการวินิจฉัยต่ออย่างละเอียด
การอนุมัติจาก FDA อุปกรณ์ของ Apple จัดอยู่ในประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำถึงปลานกลาง ซึ่งความเสี่ยงที่ว่านี้ก็คือผู้บริโภคอาจจะเชื่อการวัดคลื่นหัวใจไฟฟ้าใน Apple Watch ในระหว่างที่อุปกรณ์ตรวจจับผิดพลาด
ในจดหมายการอนุมัติของ FDA แจ้งว่า Apple Watch มีความเสี่ยงที่จะอ่านค่าผิดพลาดและแนะนำว่าให้ Apple ระบุถึงความเสี่ยงเหล่านี้และแจ้งให้ผู้ใช้เข้าใจว่า Apple Watch ไม่สามารถทดแทนอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ และผู้ป่วยไม่ควรตัดสินใจจากข้อมูลที่ได้จากอุปกรณ์ แต่แนะนำให้ตรวจสอบโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสถานพยาบาล
ดังนั้นก็สรุปให้เข้าใจตรงกันว่า Apple Watch เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมที่คอยช่วยติดตามปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจเท่านั้นและข้อมูลที่วัดได้ก็เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ไม่ได้มีความละเอียดที่สามารถวินิจฉัยโรคหัวใจได้ดีเท่ากับแพทย์ แต่สิ่งที่ Apple Watch ให้กับผู้บริโภคได้คือการแจ้งเตือนเมื่อพบว่าหัวใจเต้นผิดปกติ ทำให้เราได้ทราบปัญหาเบื้องต้นก่อนและก็ต้องเข้ารับการวินิฉัยจากแพทย์อีกครั้ง
และฟีเจอร์ตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) จะเปิดใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนเป็นอันดับแรก ในปี 2018 นะคะ
สำหรับ Apple Watch ก็เปิดพรีออเดอร์ในกลุ่มประเทศแรกเมื่อวาน (14 ก.ย) และเตรียมจัดส่งในวันที่ 21 ก.ย. นี้
ขอบคุณ 9to5mac