in ,

คำแนะนำเบื้องต้นผู้ใช้รถไฟฟ้ามือใหม่ก่อนชาร์จควรรู้อะไรบ้าง

ต้องบอกเลยว่าใคร ๆ ก็งงเป็นเรื่องปกติทั้งก่อนที่จะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหรือแม้กระทั่งซื้อไปแล้วในช่วงแรก ๆ ไม่รู้ว่าจะชาร์จรถยังไง ต้องชาร์จที่ไหนและจะเลือกชาร์จที่ไหนดี วันนี้ทีมงาน iMoD มีคำแนะนำเบื้องต้นมาบอกกันครับ

คำแนะนำเบื้องต้นผู้ใช้รถไฟฟ้ามือใหม่ก่อนชาร์จควรรู้อะไรบ้าง

เนื่องจากผมเองก่อนที่จะซื้อ Tesla Model Y และ ORA Good Cat ก็คิดหนักเหมือนกันว่าจะชาร์จรถไฟฟ้าของเราต้องทำยังไง บทความนี้เลยเขียนคำแนะนำเอาไว้ให้สำหรับผู้ใช้มือใหม่ได้ทราบกันครับ

1. ตำแหน่งของพอร์ตชาร์จ

พอร์ตการชาร์จของรถไฟฟ้าแต่ละยี่ห้อตำแหน่งจะแตกต่างกัน เช่น ORA Good Cat จะอยู่ที่ด้านหน้าซ้าย ส่วน Tesla Model Y, 3 จะอยู่ด้านหลังซ้าย ฯลฯ ซึ่งการทราบตำแหน่งทำให้รู้ว่าเราต้องจอดรถที่จุดชาร์จแบบไหน จะเอาหน้ารถเข้าหรือต้องถอดเข้า อันนี้ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องรู้ไว้ก่อน

ตำแหน่งการชาร์จของ Tesla
ตำแหน่งพอร์ตชาร์จ ORA Good Cat

2. ชนิดของพอร์ตชาร์จ

รถไฟฟ้าแบบ 100% ที่จำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่จะมาพร้อมพอร์ตดังนี้

  • Type 2 สำหรับการชาร์จไฟกระแสสลับ (AC) จะใช้กับตู้ชาร์จตามบ้าน, ห้างสรรพสินค้า, โรงแรม​ และมีตู้ชาร์จขนาดใหญ่บางผู้ให้บริการก็จะให้สาย Type 2 มาเสียบด้วยเช่นกัน
  • CCS Combo 2 หรือเรียกสั้น ๆ ว่า CCS2 สำหรับการชาร์จไฟกระแสตรง DC ซึ่งพอร์ตนี้จะออกแบบให้พอร์ต Type 2 อยู่ด้านบนและมีอีก 2 พอร์ตที่อยู่ด้านล่าง ทำให้ชาร์จได้ทั้งหัวของ CCS2 เองและหัว Type 2  โดยสายชาร์จแบบ CCS2 จะพบได้ที่ตู้ชาร์จสาธารณะทั่วไปที่กำลังไฟตั้งแต่ 50kW ขึ้นไป และเป็นมาตรฐาน ณ สำหรับการชาร์จเร็ว ณ ตอนนี้ก็ว่าได้
  • CHAdeMO เป็นพอร์ตการชาร์จเร็วที่พบในรถยนต์ไฟฟ้าจากค่าย NISSAN พบได้ที่ตู้สาธารณะของ PEA Volta เป็นต้น ใช้สำหรับการชาร์จไฟกระแสตรงเช่นกัน
พอร์ตชาร์จ CCS2 ของ Tesla Model Y รุ่นนำเข้าจากฮ่องกง

การที่เราทราบชนิดของพอร์ตการชาร์จของรถไฟฟ้าก็เพื่อจะเลือกเสียบชาร์จให้ถูกต้องนั่นเองครับ ก็เหมือน ๆ กับที่เราขับรถน้ำมันนั่นแหละที่เราต้องรู้ว่ารถนั้นเติมน้ำมันอะไร

สำหรับผู้ใช้ Tesla ต้องบอกว่ารถที่นำเข้ามาขายในไทยนั้นจะใช้ CCS2 ในการชาร์จซึ่งจะแตกต่างจาก Tesla ที่ขายในอเมริกา ดังนั้น Tesla ในไทยสามารถชาร์จได้ที่ตู้ชาร์จสาธารณะทั่วไปได้เลย ทั้ง CCS2 และ Type 2 ส่วน  ORA Good Cat พอร์ตชาร์จก็เป็น CCS2 เช่นเดียวกับ Tesla ครับ

3. ชาร์จที่ไหนดีระหว่างบ้านและตู้ชาร์จสาธารณะ

ก่อนอื่น ๆ ผู้ใช้รถไฟฟ้า 100% สำหรับผู้ที่มีบ้านพักอาศัยแนะนำว่าต้องติดตั้ง Home Charger เอาไว้ ซึ่งเครื่องชาร์จดังกล่าวบางผู้ขายจะแถมให้พร้อมการติดตั้งฟรีหรือไม่ก็ให้เฉพาะเครื่องมาเฉย ๆ เราก็ให้ช่างมาติดตั้งเครื่องให้

ชาร์จกับตู้ EV Home Charger

การชาร์จที่บ้านจะสะดวกที่สุดเหมือนเราชาร์จมือถือให้พร้อมใช้งานในแต่ละวัน โดยตู้ชาร์จไฟที่บ้านจะมีกำลังไฟ (Power) ตั้งแต่ 7kW, 11kW และ 22kW พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ ชาร์จ 1 ชั่วโมงจะได้พลังงาน 7 – 22 หน่วย (kWh) ตามกำลังเครื่องจ่าย (เครื่องที่จ่ายกำลังไฟ 11 – 22kW นั้นจะต้องติดตั้งกับไฟฟ้าแบบ 3 เฟสเท่านั้น แต่ว่าบ้านส่วนใหญ่คนทั่วไปจะใช้ไฟฟ้าแบบ 1 เฟส)

ค่าไฟการชาร์จก็ตามค่าไฟหน่วยบ้าน ถ้าอยากได้ถูกสุดก็ต้องติดตั้งหม้อแปลงไฟฟ้าแบบ TOU (Time Of Use) จะทำให้ได้ค่าไฟที่ถูกสุดประมาณหน่วยละ 2 บาท เมื่อชาร์จช่วง Off-Peak

ชาร์จที่ตู้ EV Station ของ ปตท.

ส่วนการชาร์จที่ตู้สาธารณะนั้นจะเหมาะสำหรับการเดินทางหรือสำหรับผู้ที่พักตามคอนโดมิเนียม, หอพัก ฯลฯ ที่ไม่มีที่ติดตั้ง Home Chager ของตนเอง ข้อดีของตู้สาธารณะคือกำลังไฟแรงชาร์จได้เร็ว มีให้เลือกชาร์จหลายผู้ให้บริการ โดยค่าไฟจะคิดเป็นหน่วย ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 4.1 – 7.5 บาท หรือบางรายจะคิดแบบแบบหน่วยเวลาชาร์จก็มีเช่นกัน ดังนั้นก็เลือกตามความเหมาะสม

อย่างผมเองที่ออฟฟิศและบ้านก็ติด Home Charger ไว้ส่วนถ้าต้องเดินทางหรืออยากชาร์จไฟแรง ๆ ก็ไปชาร์จที่ตู้ชาร์จสาธารณะ อย่าง PTT EV Station, EleX by EGAT, PEA Volta, EA Anywhere และ EVolt

4. แอปที่ต้องใช้สำหรับชาร์จมีอะไรบ้าง

แอป EV Station และ PlugShare

ถ้าต้องการชาร์จที่ตู้ชาร์จสาธารณะเราต้องมีแอปสำหรับการใช้งาน ซึ่งที่นิยมใช้บ่อย ๆ ก็มีดังนี้ครับ

  • PlugShare สำหรับค้นหาตู้ชาร์จ แอปนี้จะดีที่มีผู้ใช้ช่วยอัปเดตข้อมูลและเขียนรีวิวเกี่ยวกับตู้ชาร์จไว้ให้ และทำให้เห็นภาพรวมของตู้ชาร์จแต่ละผู้ให้บริการในเส้นทางที่เราจะเดินทางได้ – iOS, Android
  • PEA Volta สำหรับชาร์จที่ตู้ PEA Volta ชำระโดยการเติมเงินผ่าน QR Code ก่อนใช้งาน – iOS, Android
  • EV Station สำหรับชาร์จไฟที่ปั้ม ปตท. ชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต – iOS, Android
  • EA Anywhere สำหรับชาร์จไฟของตู้เครือข่าย EA Anywhere ชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต – iOS, Android
  • EleXA  สำหรับชาร์จไฟของตู้ชาร์จเครือข่ายของ Elex by EGAT ชำระค่าบริการผ่านบัครเครดิต, QR Code และ Mobile Banking (SCB) – iOS, Android
  • EVolt สำหรับชาร์จไฟของตู้ชาร์จเครือข่ายของ EVolt  – iOS, Android

ดังนั้นสมาร์ตโฟนของเราจำเป็นต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างการใช้งานนะครับ

5. ต้องชาร์จแบตเตอรี่เท่าไหร่ ต้องชาร์จเต็ม 100% เลยหรือเปล่า?

Tesla Model Y ชาร์จ 90%

รถยนต์ไฟฟ้าจะมาพร้อมแบตเตอรี่ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนมากที่เจอในรุ่นที่จำหน่ายปัจจุบันคือ NMC และ LFP

  • NMC – แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบของ Nickel, Manganese และ Cobalt แบตเตอรี่ชนิดนี้ผู้ผลิตแนะนำว่าให้ชาร์จระดับ 80-90% สำหรับการใช้งานประจำวัน ส่วนหากต้องการเดินทางไกลสามารถชาร์จเต็ม 100% ได้
  • LFP – แบตเตอรี่ที่มีส่วนประกอบของ Lithium Iron และ Phosphate แบตเตอรี่ชนิดนี้ผู้ผลิตแนะนำว่าให้ชาร์จเต็ม 100% ได้เลยทุกวันและหลีกเลี่ยงการใช้แบตเตอรี่จนหมด เพื่อป้องกันการทำงานที่ผิดพลาดของระบบไฟฟ้าในรถยนต์ไฟฟ้า

ดังนั้น แนะนำว่าให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าแต่ละรุ่นสอบถามและหาข้อมูลว่ารถยนต์ไฟฟ้าที่เราซื้อมาใช้งานนั้นใช้แบตเตอรี่ประเภทไหนจะได้ทำการชาร์จได้อย่างถูกต้อง และทั้งนี้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการชาร์จไฟแบบช้าด้วยหัวชาร์จ AC จะช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรี่ได้ยาวนานกว่า

6. หยุดชาร์จหรือชาร์จเสร็จต้องทำอย่างไร

Tesla Unlock Charge Port

ระหว่างการชาร์จหากเราต้องการหยุดชาร์จให้ทำการหยุดที่ตัวแอปก่อนหากชาร์จที่ตู้สาธารณะเพื่อให้ระบบของรถและตู้ชาร์จคุยกันเพื่อเข้าขั้นตอนการหยุดจ่ายไฟ ส่วนหากชาร์จที่บ้านสามารถหยุดได้ทันที เช่น ที่ Tesla จะมีเมนูให้กด Stop Charging เพื่อหยุดชาร์จ หรือบางคันเราก็ปลดล็อครถแล้วดึงสายชาร์จออกได้เลย

ก่อนจะดึงสายชาร์จออกจากพอร์ตชาร์จของรถได้นั้นจำเป็นต้องปลดล็อคประตูรถก่อนและบางคันต้องกดปลคล็อคพอร์ตชาร์จด้วย อย่างเช่น Tesla Model Y ของผมจะมีปุ่มบอกว่า Unlock Charging Port ต้องกดก่อนเพื่อให้ดึงสายชาร์จออกได้

หรืออย่าง ORA Good Cat จะไม่มีปุ่มกดปลคล็อคพอร์ตชาร์จเราต้องปลดรถก่อนค่อยดึงออกหรือถ้ายังดึงออกไม่ได้ก็ให้ล็อครถและปลดล็อคอีกทีก็จะดึงออกได้ครับ

ส่งท้าย

นี่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ควรทราบสำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลว่ารถยนต์เรานั้นจะชาร์จอย่างไร หัดใช้งานไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็จะเริ่มชินไปเองนะครับ ทั้งนี้หากยังมีข้อสงสัยจุดไหนสามารถคอมเมนต์สอบถามได้เลยนะครับ

ไว้พบกันในบทความฉบับหน้า

ขอบคุณสำหรับการติดตาม

สวัสดีครับ

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Attapon Thaphaengphan

ศิษย์เก่าวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ม. ขอนแก่น ผู้ก่อตั้ง iPhoneMod.net ตั้งแต่ปี 2009
อดีต Dell Technical Support รู้จัก ​Apple เพราะ Macbook Pro และใช้ iPhone ตั้งแต่รุ่น 3G จนถึงปัจจุบัน