หลังจากที่ปล่อย รีวิว Smart Battery Case เคสแบตสำรอง iPhone XS, XS Max, XR ไปเมื่อวาน (12 ก.พ. 2562) ก็มีคำถามที่ชวนสงสัยเพิ่มเติมเข้ามาว่าทำไมเคสแบตสำรองนี้ให้ความจุมาน้อยจัง (1,369 mAh) นี่จึงเป็นที่มาของเรื่องที่กำลังจะเขียนนี้ โดยสรุปใจความสำคัญเบื้องต้นก่อนว่า “ปริมาณความจุ mAh ไม่ได้เป็นตัวตัดสินว่าแบตเตอรี่ไหนอึดกว่ากันไปซะทั้งหมด” เพราะอะไรนั้น เรามาลงดูรายละเอียดกัน
ค่าที่แสดงบนแบตเตอรี่ที่เห็นเป็นค่า mAh และ Wh นั้นบอกอะไรได้บ้าง?
มันจะเกี่ยวข้องกับทฤษฎีทางไฟฟ้าที่บอกเลยว่าจะปวดหัวหน่อยสำหรับคนทั่วไป (อย่าว่าแต่คนทั่วไปเลย แอดก็ปวดหัวเหมือนกันตอนเรียน แต่ก็พอเข้าใจอยู่บ้าง) แต่เดี๋ยวจะขออธิบายแบบง่าย ๆ ให้ทราบกัน สิ่งที่เราจะพิจารณากันในรอบนี้คือ
- ความจุ mAh (อ่านว่า มิลลิแอมป์) เรามักจะเลือกซื้อรุ่นที่เยอะ ๆ เอาไว้ก่อน ซึ่งยิ่งเยอะยิ่งดี ถามว่าถูกต้องไหม ก็ถูกนะแต่ไม่ทั้งหมด ค่านี้ยิ่งมากก็ยิ่งดี
- ค่า Wh (Watt-Hour) คือ ค่าพลังงานต่อชั่วโมง ยิ่งมากยิ่งดี
- ค่า V คือค่าแรงดันไฟฟ้าของแบตเตอรี่นั้น ๆ
การพิจารณาว่าแบตเตอรี่ไหนดีกว่า ทนกว่า ให้กำลังไฟที่ดีกว่า (ใช้ได้นานกว่า) นอกจากค่า mAh ที่ต้องพิจารณาแล้ว เราสามารถดูที่ค่า Wh ซึ่งจะเป็นค่าที่ถูกต้องมากกว่า
จากสูตร Watt-hours = milliamp-hours × volts / 1000 หรือ Wh = mAh x V / 1000
ตัวอย่างเช่น
แบตเตอรี่สำรองก้อนนี้จะบอกข้อมูลเอาไว้ว่ามีความจุแบตเตอรี่ทั้งสิ้น 20,100 mAh และให้ค่าพลังงาน 74.37 Wh ซึ่งค่าตัวเลขด้านหลังนี้จะสามารถนำไปคำนวนหรือว่าจะสามารถชาร์จอุปกรณ์อย่าง iPhone, iPad ได้กี่รอบ เช่น iPhone XS Max มีค่า Wh อยู่ที่ 12.08 ดังนั้นหากนำแบตสำรองก้อนนี้ไปชาร์จ iPhone XS Max จะได้ทั้งสิ้น
74.37/12.08 = 6.15 รอบ โดยประมาณ
ซึ่งแบตสำรองบอกรุ่นแม้ค่า mAh จะเท่ากันแต่ค่า Wh อาจจะไม่เท่ากันและแรงดันที่จ่ายไฟออกมานั้นไม่เท่ากันก็มีให้เห็นเช่นกัน (หมายเหตุ แบตสำรองที่ความจุ mAh เท่ากันแต่รุ่นไหนที่จ่ายที่แรงดัน V ได้สูงกว่า นั่นหมายถึงประสิทธิภาพการทำงานจะดีกว่า)
สเปกแบตเตอรี่ของ iPhone ทุกรุ่น กี่ mAh และกี่ Wh
ในส่วนของแบตเตอรี่ iPhone ค่าที่บอกอยู่บนแบตเตอรี่ทุกรุ่นผมรวมมาให้ตามด้านล่างนี้ (อ้างอิงจากหลาย ๆ แหล่งดูเฉพาะ iFixit) สิ่งที่อยากให้ดูคือค่า Wh และ mAh ของแต่ละรุ่น
ค่า Wh = mAh / 1000 x V
- iPhone 1st – 5.18 Wh (1,400 mAh/3.7V)
- iPhone 3G – 4.25 Wh (1,150 mAh/3.7V)
- iPhone 3GS – 4.51 Wh (1,219 mAh/3.7V)
- iPhone 4 – 5.25 Wh (1,420 mAh/3.7V)
- iPhone 4S – 5.3 Wh (1,430 mAh/3.7V)
- iPhone 5 – 5.45 Wh (1,440 mAh/3.8V)
- iPhone 5C – 5.73 Wh (1,510 mAh/3.8V)
- iPhone 5S – 5.92 Wh (1,560 mAh/3.8V)
- iPhone 6 – 6.91 Wh (1,810 mAh/3.82V)
- iPhone 6 Plus – 11.1 Wh (2,915vmAh/3.82V)
- iPhone 6S – 6.55 Wh (1,715 mAh/3.82V)
- iPhone 6S Plus – 10.45 Wh (2,750 mAh/3.80V)
- iPhone 7 – 7.45 Wh (1,960 mAh/3.80V)
- iPhone 7 Plus – 11.10 Wh (2,900. mAh/3.82V)
- iPhone 8 – 6.97 Wh (1,821 mAh/3.8V)
- iPhone 8 Plus – 10.28 Wh (2,691 mAh/3.80V)
- iPhone X – 10.35 Wh (2,716 mAh/3.81V)
- iPhone XS – 10.13 Wh (2,658 mAh /3.81V)
- iPhone XS Max – 12.08 Wh (3,174 mAh / 3.80V)
- iPhone XR – 11.16 Wh (2,949 mAh/3.79V)
ทีนี้มาลองคิดเล่น ๆ กันว่า mAh ที่น้อยกว่าอย่าง iPhone XS vs. iPhone X นั้น แบตเตอรี่ใครจะใช้ได้นานกว่า?
Apple แจ้งบนหน้าเว็บว่า iPhone XS ใช้งานได้นานกว่า iPhone X ประมาณ 30 นาที ทั้ง ๆ ที่จำนวนความจุของแบตเตอรี่ของ iPhone XS นั้นมีเพียง 2,658 mAh ส่วน iPhone X นั้นมีความจุอยู่ที่ 2,716 mAh ทั้งนี้มาจากปัจจัยอื่น ๆ นอกจากความจุด้วย เช่น ชิปพลังงานตัวใหม่ที่จัดการพลังงานได้ดีกว่า, ซีพียูใหม่ที่ออกมาและกินพลังงานน้อยกว่า เป็นต้น
และให้ชมเพิ่มเติมสำหรับสเปกของ Smart Battery Case ของ Apple ที่จะทำให้เห็นความแตกต่างมากขึ้นว่า แม้ mAh จะน้อยกว่าแต่ว่าให้พลังงานที่มากกว่า (Wh)
- Smart Battery Case iPhone 6/6s – 7.13Wh (1,877 mAh/3.8V)
- Smart Battery Case iPhone 7 – 8.96Wh (2,365 mAh/3.8V)
- Smart Battery Case iPhone XS, XS Max, XR – 10.1Wh (1,369 mAh/7.38V)
สรุป 2 ใจความจำคัญอีกอย่างอยู่ที่ แรงดันไฟ (Voltage) มีผลโดยตรงต่อพลังงาน ดังนั้นไม่ควรพิจารณาที่ค่า mAh อย่างเดียว เพราะ mAh ที่เท่ากันแรงดันต่างกันจะทำให้ได้พลังงานที่ต่างกันนั่นเอง
ดูตัวอย่างจากภาพด้านล่างแม้ว่าความจุ (Capacity mAh) ของเคสแบตเตอรี่ iPhone 7 จะมากกว่า iPhone XS แต่ว่าพลังงานจากเคสของ iPhone XS นั้นให้เยอะกว่า (เทียบง่ายๆ ดูที่ 8.96 Wh vs. 10.1 Wh ค่าที่มากกว่าจะดีกว่า)
ขอบอกก่อนนะครับ ไม่ได้เชียร์หรือแนะนำว่าทุกคนต้องมาซื้อเคสแบตสำรองของ Apple เพราะคนที่เขาจะซื้อนั้นเราไม่ต้องแนะนำเขาก็ซื้ออยู่แล้ว นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่างที่ค่อนข้างเห็นชัดเจนเท่านั้นว่า จำนวนความจุแบตเตอรี่ที่น้อยกว่านั้นสามารถให้พลังงานที่มากกว่าจำนวนประจุที่มากกว่าได้
ยังมีอีกหลายส่วนของแบตเตอรี่
เราพูดถึงค่าความจุของประจุแบตเตอรี่ (mAh) ไปแล้ว, ค่าพลังงาน (Wh) พร้อมเอ่ยถึงค่าแรงดัน (V) ไปนิดหนึ่ง อีกส่วนที่ยังไม่ได้กล่าวถึงก็เช่น ค่าการสูญเสียของพลังงาน (Loss) ที่จะเกิดขึ้นกับแบตเตอรี่ยิ่งถ้าแบตไม่ดีค่า Loss จะสูงส่งผลให้แบตแม้จะให้มาเยอะแต่ใช้ได้นิดเดียว (อย่าลืมว่าค่าประจุที่เพิ่มขึ้นมีผลกับน้ำหนักของแบตเตอรี่นั้น ๆ ด้วย) นี่ยังไม่ได้พูดถูกสารเคมีภายในแบตที่ใช้มีให้เลือกทั้งแบบ Li-ion และ Li-Po ซึ่งความสามารถในการเก็บประจุก็ต่างกันอีก
ดังนั้นที่อยากฝากเอาไว้คือ
อย่าดูแค่ค่า mAh อย่างเดียว ให้ดูค่าอื่นๆ ประกอบด้วย โดยเฉพาะค่า Wh และ Votage ที่เขียนบอกเอาไว้
ถ้าหากเลือกค่า mAh สูงอย่างเดียวแต่แรงดันไม่ดี, ค่า Loss สูง มันก็เสมือนว่าคุณถือไม้ท่อนใหญ่หนัก ๆ เพื่อไปทุบผนัง ซึ่งมันไม่ได้ผลเท่าใช้ฆ้อนหัวเหล็กที่น้ำหนักเบากว่าแต่สามารถทุบผนังนั้นพังได้ง่ายกว่า
จำไว้อีกอย่างว่าทุกวันนี้ ปริมาณ ที่มากกว่าก็ไม่ได้การันตีไปซะทุกอย่างว่า ประสิทธิภาพจะดีกว่า จะได้เลิกเกทับสักทีว่ารุ่นนี้ความจุแบตเยอะกว่ามาก แต่พอใช้งานจริงแล้วแบตหมดก่อนรุ่นแบตน้อยอีก !!
ขอบคุณสำหรับการติดตามอ่านจนจบ
ปล. หากข้อมูลผิดพลาดหรือขาดตกจุดใดสามารถคอมเมนต์แจ้งเข้ามาได้นะครับจะได้ปรับให้สมบูรณ์ครับ