วันนี้ผมมีโอกาสได้ทดสอบ Be Internet Awesome สื่อเรียนรู้เรื่องโลกออนไลน์สำหรับเด็ก จากข่าวโรดโชว์ของทาง Google ที่ให้ครูจากโรงเรียนในเขตต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เดินทางมาร่วมฝึกอบรม เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ใหม่กลับไปต่อยอด ในการเรียนการสอนให้กับนักเรียน อีกทั้งบทเรียนนี้ยังทันสมัยเหมาะกับยุคปัจจุบัน
Be Internet Awesome
เกริ่นนำก็คือทั้งหมดจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตผ่านทาง Interland เพื่อการใช้อินเทอร์เน็ตให้ก่อเกิดประโยชน์สูงสุด และได้ทำให้เด็กวัย 8-12 ปี ที่เริ่มต้นการเป็นพลเมืองดิจิทัลมีความปลอดภัย สามารถเข้าไปท่องโลกออนไลน์ได้อย่างมั่นใจ โดยหลักสูตรจะแบ่งออกเป็น 5 เรื่องด้วยกัน
1. BE INTERNET SMART คิดก่อนแชร์
ข่าวต่าง ๆ (ทั้งดีและไม่ดี) แพร่กระจายในโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็ว และหากไม่คิดให้รอบคอบ เด็ก ๆ อาจตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากซึ่งอาจมีผลกระทบในระยะยาว ดูวิธีแชร์ข้อมูลกับคนที่รู้จักและไม่รู้จักได้เลย
สื่อสารอย่างมีความรับผิดชอบ
ส่งเสริมการคิดก่อนแชร์โดยใช้หลักคิดง่าย ๆ ว่าการสื่อสารออนไลน์ก็เหมือนกับการสื่อสารแบบตัวต่อตัว ถ้าไม่ใช่เรื่องที่น่าพูด ก็แปลว่าไม่ใช่เรื่องที่น่าโพสต์ สร้างคู่มือเกี่ยวกับประเภทการสื่อสารที่ เหมาะสม (และไม่เหมาะสม) เก็บรายละเอียดเกี่ยวกับครอบครัวและเพื่อน ๆ ไว้เป็นความลับ
2. BE INTERNET ALERT ไม่ตกหลุมพรางกลลวง
คุณต้องช่วยให้เด็ก ๆ เข้าใจว่าผู้คนและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อาจไม่ได้เป็นอย่างที่เห็น ความสามารถในการแยกแยะระหว่างข้อมูลจริง และเท็จเป็นบทเรียนที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยในโลกออนไลน์
รู้เท่าทันสัญญาณของกลโกง
- ถ้าเห็นคำว่า “ชนะรางวัล” หรือได้รับของ “ฟรี” แล้วรู้สึกได้ว่าดีเกินกว่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนใหญ่ก็เป็นกับดักที่ขุดมาล่อเรานั่นแหละ
- การแลกเปลี่ยนที่ยุติธรรมไม่ควรมีเรื่องข้อมูลส่วนตัวมาเกี่ยวข้อง
- คิดอย่างรอบคอบทุกครั้งก่อนที่จะทำอะไรในโลกออนไลน์ และเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในสัญชาตญาณของตนเอง ระแวดระวังการฟิชชิง ซึ่งก็คือการพยายามขโมยข้อมูลต่าง ๆ เช่น รายละเอียดการเข้าสู่ระบบหรือบัญชี โดยปลอมตัวเป็นคนที่ดูน่าเชื่อถือในอีเมล ข้อความ หรือการสื่อสารออนไลน์อื่น ๆ
3. BE INTERNET STRONG เก็บข้อมูลไว้เป็นความลับ
ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยส่วนบุคคลในโลกออนไลน์ และออฟไลน์นั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน การปกป้องข้อมูลที่สำคัญ ช่วยให้เด็ก ๆ หลีกเลี่ยงความเสียหายต่ออุปกรณ์ ชื่อเสียง และความสัมพันธ์ได้
สร้างรหัสผ่านที่รัดกุม
- สร้างรหัสผ่านที่จำได้ง่ายแต่หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อหรือวันเกิด
- ใช้ตัวอักษรพิมพ์ใหญ่ ตัวอักษรพิมพ์เล็ก สัญลักษณ์ และตัวเลขผสมกัน
- R3pl@ce le++ers wit# sYmb0ls & n^mb3rs 1ike Thi$
เปลี่ยนไปมา
- อย่าใช้รหัสผ่านเดียวกันในหลายเว็บไซต์
- สร้างรหัสผ่านให้แตกต่างกันเล็กน้อยสำหรับใช้กับหลาย ๆ บัญชี
4. BE INTERNET KIND เป็นคนดีเท่จะตาย
อินเทอร์เน็ตเป็นกระบอกเสียงอันทรงพลัง ในการเผยแพร่เรื่องที่ดีและไม่ดี ช่วยให้เด็ก ๆ เลือกทางที่ถูกต้องโดยใช้แนวคิด “จงปฏิบัติต่อผู้อื่นเหมือนที่อยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อตัวเรา” กับการทำสิ่งต่าง ๆ ในโลกออนไลน์ ซึ่งจะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับผู้อื่น และกำจัดพฤติกรรมการกลั่นแกล้งให้หมดไป
สร้างตัวอย่าง
- ใช้พลังของอินเทอร์เน็ตในการส่งพลังทางบวกให้คนรอบข้าง
- หยุดการแพร่กระจายข้อความที่เป็นอันตรายหรือเป็นเท็จโดยการไม่ส่งต่อให้ผู้อื่น
- เคารพในความแตกต่างของผู้อื่น
ลงมือทำ
- บล็อกพฤติกรรมที่น่ารังเกียจหรือไม่เหมาะสมทางออนไลน์
- ยืนหยัดเพื่อสนับสนุนผู้ที่ถูกกลั่นแกล้ง
- สนับสนุนให้เด็ก ๆ กล้าพูด และรายงานการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์
5. BE INTERNET BRAVE สงสัยเมื่อไร ก็ถามได้เลย
บทเรียนหนึ่งที่ควรจะต้องสอนเด็ก ๆ ไม่ว่าจะพบสิ่งใดในโลกออนไลน์ก็คือ เมื่อใดก็ตามที่มีคำถาม พวกเขาควรพูดคุยกับผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจได้อย่างสบายใจ ซึ่งผู้ใหญ่สนับสนุนพฤติกรรมนี้ได้ ด้วยการส่งเสริมการพูดคุยแบบเปิดเผยทั้งที่บ้านและในชั้นเรียน
สนับสนุนพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่กล้าหาญ
- ประกาศให้ทราบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับกฎในครอบครัวหรือชั้นเรียน และความคาดหวังเกี่ยวกับเทคโนโลยี รวมถึงผลของการใช้ในทางที่ผิด
- พูดคุยอย่างสม่ำเสมอโดยการถามไถ่เป็นประจำและสนับสนุนให้เด็กๆ ถามคำถาม
- ขยายวงสนทนาไปสู่ผู้ใหญ่ที่ไว้วางใจได้เช่น ครูอาจารย์, โค้ช, ที่ปรึกษา, เพื่อน และญาติพี่น้อง
การใช้งานจะเป็นลักษณะเล่นเป็นเว็บไซต์ทั้งหมด (ไม่ต้องติดตั้ง) โดยแบ่งออกเป็นหลักสูตรออกเป็นลักษณะ “มินิเกม” เพื่อเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์ เริ่มตั้งแต่เรื่องง่าย ๆ อยากการแชร์วิดีโอ ผู้ใช้งานสามารถเล่นได้ว่าจะแชร์วิดีโอของผู้อื่นไปให้ใครดูได้บ้าง คำตอบคือไม่ควรแชร์คลิปผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อให้มันจะดูตลกในสายตาเรา แต่มันอาจเป็นการละเมิดสิทธิ์ผู้อื่นได้ รวมถึงไม่ควรถ่ายผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต
หรือแม้แต่คลิปวิดีโอทัศนศึกษา การแชร์เป็นเรื่องสาธารณะก็ถือว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง (อาจเป็นภัยกับเด็กเอง) แต่สามารถส่งให้ผู้ปกครองดูได้ และคลิปบางเรื่องในครอบครัวก็ควรเก็บเอาไว้ดูภายในครอบครัว อันนี้สอดแทรกเรื่องของสิทธิ์และความปลอดภัยได้เป็นอย่างดี มีการสอนว่าข้อมูลทุกอย่างในโลกออนไลน์จะไปอย่างรวดเร็ว
ต้องยอมรับว่า Google ทำออกมาได้น่าสนใจ แทบไม่รู้สึกเลยว่าเป็นบทเรียน เกมนี้จะช่วยเน้นย้ำแนวคิดของหลักสูตร ทำความเข้าใจเกี่ยวกับการโต้ตอบในโลกดิจิทัล (และผลที่จะตามมา) หากครูหรือผู้ปกครองท่านใดสนใจ สามารถดาวน์โหลดแผนการเรียนการสอนที่ได้รับ Seal of Alignment จาก ISTE ได้แล้ววันนี้ (ภาษาไทย)
ที่มา : beinternetawesome.withgoogle.com