ก่อนหน้านี้มีประเด็นมากมายเกี่ยวกับการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการแอปหรือสื่อโซเชียลต่างๆ และวันนี้ทีมงานก็มีข้อมูลการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ของผู้ให้บริการแต่ละค่ายมาฝากกันค่ะ ลองเช็คดูว่าค่ายไหนเข้าถึงข้อมูลอะไรบ้าง
เช็คกันหน่อย ผู้ให้บริการค่ายใหญ่เข้าถึงข้อมูลส่วนตัวอะไรของผู้ใช้บ้าง
Security Baron ได้ทำการตรวจสอบนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้ให้บริการค่ายดังหลายค่าย ได้แก่ Facebook, Google, Apple, Twitter, Amazon และ Microsoft และแจกแจงเป็นภาพอินโฟกราฟิคว่าค่ายไหนเข้าถึงหรือได้รับข้อมูลจากผู้ใช้อะไรบ้าง
ถ้าดูจากรูปข้อมูลที่ทุกค่ายได้รับนั้นจะเป็นข้อมูลอีเมล เบอร์โทร และตำแหน่งที่ตั้ง โดยอีเมลและเบอร์โทรส่วนใหญ่ผู้ใช้จะต้องใช้ทำการสมัครบริการและยืนยันการสมัครหรือเข้าสู่ระบบอยู่แล้ว ส่วนตำแหน่งที่ตั้งบางแอปผู้ใช้สามารถจัดการเปิดหรือปิดการใช้งานได้ (อาจจะเลือกเปิดเฉพาะตอนใช้งานเท่าที่จำเป็น)
ส่วนการเข้าถึงข้อมูลของ Facebook เห็นได้ว่ามีการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว เช่น ข้อมูลการทำงาน รายได้ ศาสนา เชื้อชาติ ความเห็นทางการเมือง รวมถึงการดูโฆษณาต่างๆ ซึ่งข้อมูลที่ได้ไปนั้น Facebook อาจจะนำไปใช้ประโยชน์ในการโฆษณาหรือวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ
ถ้าหากเปรียบเทียบกับแอปที่เป็นประเภทโซเชียลด้วยกันอย่าง Twitter แล้ว Twitter จะเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวน้อยกว่า โดยไม่มีการเข้าถึงชื่อ เพศ และวันเกิด แต่เข้าถึงข้อมูลการรับชมวิดีโอและการออกอากาศอื่นๆ
ส่วน Google และ Microsoft เจ้าใหญ่ ก็เข้าถึงข้อมูลค่อนข้างเยอะเช่นกัน แต่อาจจะแยกตามประเภทการใช้งานของแอป โดยการเข้าถึงนั้นก็อาจจะนำไปประกอบการใช้งานหรืออาจจะเก็บรวบรวมข้อมูลสำหรับการทำโฆษณาและนำไปวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ส่วน Apple จะเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้เท่าที่จำเป็น และข้อมูลสำคัญๆ จะต้องได้รับการยินยอมจากผู้ใช้ก่อนเท่านั้น ตามนโยบายของ Apple
สำหรับใครที่กังวลเรื่องการเข้าถึงข้อมูลส่วนตัว ในบางเรื่องก็สามารถตั้งค่าปิดการติดตามได้การตั้งค่า > ความเป็นส่วนตัว (เช่น ปฏิทิน ตำแหน่งที่ตั้ง ไมโครโฟน เป็นต้น), ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในการท่องเว็บ Safari เพิ่มเติม, หลีกเลี่ยงการกรอกข้อมูลส่วนตัวโดยไม่จำเป็น หรือจะปกป้องข้อมูลสำคัญด้วยการใช้ VPN ส่วนบางข้อมูลก็อาจจะไม่สามารถปกป้องได้หากคุณต้องใช้ในการรับบริการ
ขอบคุณ pcmag