in

BMW Group มูลนิธิชัยพัฒนา Microsoft และ SCG จับมือ เชิญชวนนิสิตนักศึกษาร่วมโครงการ Choice is Yours

BMW Group, มูลนิธิชัยพัฒนา, Microsoft และ SCG จับมือกันสร้างโครงกา “Choice is Yours” เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาได้ร่วมสร้างสรรค์ เสนอไอเดียสร้างสังคมยั่งยืน ผู้ชนะโครงการมีโอกาสฝึกงานในองค์กรชั้นนำ หากสนใจมาดูรายละเอียดกันเลย

โครงการ Choice is Yours โดย BMW Group, มูลนิธิชัยพัฒนา, Microsoft และ SCG

กรุงเทพฯ. ครั้งแรกของความร่วมมือกันระหว่างองค์กรชั้นนำระดับโลกและประเทศจากสี่องค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มูลนิธิชัยพัฒนา ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และเอสซีจี เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้นิสิต นักศึกษาไทยได้แสดงศักยภาพการออกแบบแนวคิดด้านความยั่งยืนที่จะสร้างผลกระทบเชิงบวกแก่สิ่งแวดล้อมและสังคม ในโครงการ Choice is Yours

โครงการดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสนับสนุนการต่อยอดแนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่นำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน พร้อมเปิดรับทีมนิสิต นักศึกษาไม่จำกัดคณะหรือชั้นปี ซึ่งสามารถเลือกแนวคิดในการนำเสนอผลงาน ได้แก่ REduce กับบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย REuse กับมูลนิธิชัยพัฒนา REthink กับไมโครซอฟท์ ประเทศไทย และ REcycle กับเอสซีจี

โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้ง 4 องค์กรร่วมเป็นผู้ให้คำปรึกษาและตัดสิน เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2565 ประกาศผลผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ 20 ทีมในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 และประกาศรางวัลชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2565 ทั้งนี้ ทีมผู้ชนะจะได้รับโอกาสเข้าร่วมฝึกงานกับองค์กรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน

โครงการ Choice is Yours ยังสอดคล้องกับเป้าหมายหลักในการพยายามรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) และส่งเสริมแนวคิดด้านความยั่งยืนใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

  • REduce โดย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย แนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยมุ่งเน้นแนวคิด “ลดเพื่อเพิ่ม” ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้วัสดุหรือทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง หรือการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จะสามารถลดการสร้างขยะ มลพิษ และของเสียต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืนยิ่งขึ้น
  • REuse โดย มูลนิธิชัยพัฒนาการนำทรัพยากรที่มีอยู่กลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด เพื่อรักษาทรัพยากรให้คงอยู่อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด เช่น การยืดอายุวงจรผลิตภัณฑ์ สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ผ่านการใช้ซ้ำ หรือการนำทรัพยากรท้องถิ่นมาออกแบบและใช้งานใหม่โดยที่ยังคงคุณค่าเดิมของทรัพยากรไว้เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด
  • REthink โดย ไมโครซอฟท์การนำเทคโนโลยีมาผสมผสาน ปรับเปลี่ยน หรือสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ๆ ที่เสริมสร้างความยั่งยืน สร้างความรู้ความเข้าใจด้านผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่ว่าในระดับบุคคล องค์กร หรือสังคมในภาพรวม
  • REcycle โดย เอสซีจีการนำทรัพยากรที่ใช้งานแล้วมาผ่านกระบวนการแปรรูปเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ โดยหัวใจสำคัญของการ Recycle ที่แตกต่างจากการ Reuse คือ เป็นการจัดการของเสียหรือวัสดุเหลือใช้ที่กำลังจะเป็นขยะ โดยนำไปผ่านกระบวนการแปรสภาพ หรือปรับปรุงคุณภาพ ให้กลับมามีคุณภาพเทียบเท่าหรือใกล้เคียงของเดิม หรือให้ได้วัตถุดิบใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่อาจเปลี่ยนจุดประสงค์ในการใช้งาน เพื่อสร้างคุณค่าใหม่ให้แก่ทรัพยากร และสร้างการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างยั่งยืน

โครงการนี้ยังส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมและบุคคลทั่วไปตระหนักถึงระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่มุ่งเน้นการออกแบบสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญต่อการใช้คุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า พร้อมลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด และการนำแนวคิดของแต่ละโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันมากยิ่งขึ้น เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกที่ทุกคนสามารถ “เลือก” ที่จะลงมือทำเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น

ระหว่างการเข้าร่วมโครงการ ทีมผู้เข้าแข่งขันจะได้เข้าร่วมเวิร์คช็อปพร้อมปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน และทัศนศึกษายังโรงงานและสถานที่ดำเนินกิจการของบีเอ็มดับเบิลยูและพาร์ทเนอร์ โดยทีมที่ชนะการแข่งขันจะได้รับโอกาสเข้าร่วมฝึกงานกับองค์กรผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ประกาศนียบัตรการเข้าร่วมโครงการ และการจัดแสดงผลงานการแข่งขันแก่สื่อมวลชนและผู้สนใจในกิจกรรมต่าง ๆ อีกด้วย

มร. อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Choice is Yours ซึ่งมีเป้าหมายส่งเสริมแนวคิดของคนรุ่นใหม่ด้านการพัฒนาโดยคำนึงถึงความยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจของบีเอ็มดับเบิลยูที่มุ่งมั่นในด้านของความยั่งยืน ภายใต้แนวคิดการกำจัดขยะโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม (zero-waste-to-landfill) และความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon-neutral) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้าน ‘REduce’ หรือ การลดปริมาณการใช้งานหรือการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติ เราเชื่อว่าการแบ่งปันความรู้และพัฒนาทักษะจากการร่วมปฏิบัติงานกับผู้เชี่ยวชาญ จะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เสริมสร้างประสบการณ์และองค์ความรู้แบบรอบด้าน และนำไปพัฒนาโครงการและนวัตกรรมอื่น ๆ ได้อีกมากในอนาคต”

คุณภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิก มูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวว่า “ภัทรพัฒน์ ตราพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทำการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเริ่มจากผลผลิตภายในโครงการของมูลนิธิชัยพัฒนาไปสู่สินค้าของชุมชนและผลิตผลของเกษตรกรในแต่ละท้องถิ่น โดยพัฒนาให้มีความโดดเด่นสวยงาม มีความหลากหลาย และแสดงถึงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริอย่างแท้ผจริง ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป หรืองานหัตถกรรม โดยมีคุณค่าและความแตกต่างของผลิตภัณฑ์อยู่ที่เรื่องราว รวมถึงแนวทางการพัฒนา เพื่อให้ราษฎรผู้ผลิตเกิดความภาคภูมิใจและผู้ซื้อผลิตภัณฑ์เกิดความพึงพอใจ”

“และหนึ่งในความภาคภูมิใจนั้นคือผลิตภัณฑ์จากกก ของกลุ่มเกษตรกรสมาชิกกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 พระราชทาน “เพื่อนช่วยเพื่อน” จังหวัดสุรินทร์ ที่ปัจจุบันได้มีการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากเสื่อกกให้ก้าวไปอีกขั้น สู่การเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่มีความสวยงาม เรียบหรู ซึ่งด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญที่เราได้ช่วยสร้างคุณค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเห็นเยาวชนรุ่นใหม่มาร่วมแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการแข่งขัน และสามารถนำเอาแนวคิดด้านการ REuse นี้ ไปต่อยอดและปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทรัพยากรอื่น ๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย และสร้างความยั่งยืนให้ให้แก่สิ่งแวดล้อมและสังคมต่อไป”

คุณชนิกานต์ โปรณานันท์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการตลาดและปฏิบัติการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เรารู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยที่จะได้รับฟังแนวคิดด้านความยั่งยืนจากนักคิดรุ่นใหม่ และหวังว่าโครงการนี้จะเปิดประตูให้นิสิต-นักศึกษาที่เข้าแข่งขันได้เรียนรู้ถึงโอกาสมากมายในการนำเทคโนโลยีมาขับเคลื่อนความยั่งยืน พร้อมนำแรงบันดาลใจและความรู้ไปต่อยอดให้เกิดขึ้นได้จริงในอนาคต เพราะเราเชื่อว่านวัตกรรมที่ดีจะต้องมีบทบาทในการเสริมศักยภาพให้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน คิดค้นสิ่งใหม่ๆ หรือสานต่อความยั่งยืนเพื่อโลกของเรา เช่นเดียวกับที่ไมโครซอฟท์เอง มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นลบภายในปี 2573”

คุณยุทธนา เจียมตระการ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-การบริหารกลาง เอสซีจี กล่าวว่า “เอสซีจียินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการนี้ โดยเฉพาะเรื่องการรีไซเคิล ซึ่งเป็นหลักการหนึ่งของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เอสซีจีทำมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แนวปฏิบัติ SCG Circular Way ที่มุ่งใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่ามากที่สุดในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ออกแบบ ผลิต ใช้ ไปจนถึงปลายทาง คือ การรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ หรือของเสีย ให้กลับมาเป็นวัตถุดิบใหม่อีกครั้ง เป็นการหมุนเวียนใช้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การรีไซเคิลกล่องกระดาษที่ไม่ใช้แล้วเป็นเตียงสนามกระดาษ การนำพลาสติกใช้แล้วกลับมารีไซเคิลเป็นพลาสติกคุณภาพสูง การนำเศษวัสดุเหลือทิ้งจากการก่อสร้างกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่”

“นอกจากนี้ ยังมุ่งสร้างจิตสำนึกของพนักงานเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คัดแยกขยะให้ถูกประเภท เพื่อนำกลับไปรีไซเคิลให้ได้มากที่สุด และขยายความร่วมมือไปยังชุมชนรอบโรงงาน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย ตลาด สิ่งเหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SD (Sustainable Development) ที่เอสซีจีทำมาอย่างต่อเนื่อง และยกระดับสู่ ESG (Environmental, Social, Governance) ด้วยแนวทาง ESG 4 Plus ได้แก่

1. มุ่ง Net Zero ในปี 2050

2. Go Green

3. Lean เหลื่อมล้ำ

4. ย้ำร่วมมือ ภายใต้การดำเนินงานอย่างโปร่งใส เป็นธรรม

เอสซีจีเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกันในครั้งนี้ จะช่วยพัฒนาต่อยอดไอเดียของน้อง ๆ ให้เกิดเป็นโครงการ หรือนวัตกรรมเพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไป”

รายละเอียดการสมัครเข้าร่วมโครงการ Choice is Yours

นิสิตและนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถสมัครได้ที่ https://forms.office.com/r/LyscnH6L7q พร้อมส่งวิดีโอแนะนำโครงการของตนเองระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน – 22 กรกฎาคม 2565

และสามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการแข่งขันได้ที่ https://www.bmw.co.th/th/discover/choice-is-yours.html

โดยจะประกาศผลทีมที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการด้านละ 5 ทีม รวมเป็น 20 ทีม ในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ทางเว็บไซต์ www.bmw.co.th และประกาศผลรางวัลชนะเลิศในเดือนพฤศจิกายน 2565

หรือสแกน QR Code เพื่อดูรายละเอียดการแข่งขัน

น้อง ๆ ที่สนใจอย่าลืมอ่ารายละเอียดให้ครบถ้วนแล้วรีบสมัครก่อนหมดเขตนะคะ

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Nooknick Yanika

Humanities, English Literature
Chiangmai University