ตั้งแต่ที่จำความได้สมัยมีโทรศัพท์เครื่องแรก (นาทีละห้าบาทโดยประมาณ) ก็จ่ายค่าโทรคิดเป็นนาทีมาโดยตลอด จนมาระยะหลัง ๆ ทาง Dtac จึงได้ออกแคมเปญ “คิดค่าโทรตามจริงเป็นวินาที” (ไม่รู้ว่าตอนนี้ยังทำอยู่หรือไม่?) ถึงแม้ว่าระยะหลัง ๆ ผู้ใช้งานในไทยจะโทร (Voice) ลดลง และหันไปใช้ข้อมูล (Data) มากขึ้นก็ตาม
กสทช. เปิดเผยว่าตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ออกมาเรียกร้องให้ กสทช.เร่งดำเนินการในประเด็นดังกล่าวขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้สอดประสานกับการที่ สปช.จะนำเรื่องนี้บรรจุเป็นวาระในการประชุมใหญ่ของ สปช.ในวันจันทร์ที่ 5 ม.ค. 2558 โดยจะดำเนินการเพื่อได้ข้อสรุปในเบื้องต้นโดยเร็ว
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช. ได้มีมติเห็นชอบกับร่างประกาศการกระทำที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมฯ และนำไปรับฟังความเห็นตามขั้นตอน โดยในร่างประกาศฉบับนี้ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการบังคับให้ผู้ประกอบกิจการต้องคิดค่าบริการตามจริงเป็นวินาทีเอาไว้ด้วยแต่หากนำข้อเสนอของ สปช.เพิ่มเข้าไปในประกาศฉบับนี้ จะส่งผลดีต่อผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และน่าจะสามารถทำได้โดยไม่ยุ่งยาก เพราะก็อยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็น
สำหรับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สปช. ได้ขอให้สำนักงาน กสทช. สั่งผู้ประกอบกิจการให้คิดค่าใช้บริการตามจริงเป็นวินาที เนื่องจากปัจจุบันผู้ประกอบการใช้วิธีการปัดเศษวินาทีเป็นหนึ่งนาทีในทุกๆ การใช้งานแต่ละครั้ง เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ซึ่งหาก กสทช. ดูแลการในเรื่องนี้ได้ จะช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าโทรศัพท์ได้ถึง 3,000 ล้านบาทต่อเดือน
ตามความเห็นของผู้เขียนแล้วคิดว่าเรื่องการคิดค่าโทรเป็นวินาทีคือเรื่องที่ถูกต้อง (และควรจะเป็นแบบนี้ตั้งนานแล้ว) เนื่องจากการคำนวณค่าโทรเป็นวินาทีนั้นไม่มีข้อจำกัดทางเทคนิค หรือเพิ่มต้นทุนให้กับผู้ให้บริการเลย แต่ผู้ให้บริการกลับทึกทักเอาเองว่า “ส่วนเกินหนึ่งนาทีต้องปันขึ้นเป็นหนึ่งนาที”
ถึงแม้ว่าจะช้าไปหน่อยแต่ก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และคืนความเป็นธรรมด้วยการคิดค่าบริการตามจริง ซึ่งเราก็คงต้องเฝ้าติดตามกันต่อไปว่ามาตรการนี้จะทำได้จริงหรือไม่? เพราะถ้าทำตามนี้ก็จะส่งผลให้ผู้ให้บริการ (AIS, Dtac, True) รายได้หายไปหลักพันล้านบาทต่อเดือนเลยทีเดียว
ที่มา – thaipbs