Apple เปิดตัวหน้าจอกระจก Nano-texture ครั้งแรกกับ Pro Display XDR โดยจำเป็นต้องบวกเงินเพิ่มอีก 35,000 บาท และล่าสุดกับ iMac 27″ ที่ต้องบวกเงินเพิ่มอีก 17,500 บาท คำถามก็คือหน้าจอ Nano-texture จำเป็นหรือไม่ เหมาะกับใครและควรเพิ่มเงินหรือเปล่า ?
หน้าจอกระจก Nano-texture คืออะไร ?
โดยปกติแล้วหากแบ่งหน้าจอ LED ในตลาดแบบคร่าว ๆ จะมีสองประเภทก็คือ “จอกระจก” และ “จอด้าน” โดยจอด้านจะลดแสงสะท้อนได้ดี เพียงแต่จะลดความคมชัดของหน้าจอลงมาก (ลองนึกถึงฟิล์มกันรอย) แต่สำหรับเทคโนโลยีชั้นสูงขึ้นไปอีกจะเป็น เทคโนโลยีลดแสงสะท้อน Anti-Glare, Anti-Reflection ในหน้าจอคอมฯ
วิธีแก้ก็คือการลดการฟุ้งกระจายของแสง ทำให้แสงวิ่งออกไปในทิศทางที่แตกต่างกันไป (แสงสะท้อนก็จะลดลง) หรือจะเป็นการยอมให้แสงเข้าไปในกระจกเป็นส่วนใหญ่ก็ดี โดยทั้งระบบ Anti-Glare และ Anti-Reflection ก็จะมีข้อเสียในเรื่องของ คุณภาพหน้าจอที่ลดลง จึงเป็นเหตุให้ Apple ได้เพิ่มเทคโนโลยี Nano-texture บนกระจกจอ
ลดแสงสะท้อนให้น้อยลง
Apple ใช้วิธีแก้ไขจุดอ่อนของการเคลือบจอด้านแบบเก่า ที่ลดการกระเจิงของแสงแต่กลับลดคอนทราสต์แถมทำให้ภาพมัว ด้วยการสลักพื้นผิวแบบ Nano-texture ในระดับที่ลึกถึงนาโนเมตร เพื่อให้สามารถรักษาคอนทราสต์ได้พร้อมกับลดการกระเจิงแสง (แสงสะท้อนยังมีอยู่แต่น้อยมาก) เหมาะกับกลางแจ้งที่ควบคุมแสงไม่ได้
สรุปแล้วก็คือหน้าจอกระจก Nano-texture ก็คือหน้าจอแบบเดิมที่ Apple ขายอยู่ เพิ่มเติมคือการสลักพื้นผิวเพื่อลดการกระเจิงแสง เท่ากับว่าไม่ได้มีผลโดยตรงกับแต่อย่างใด เพียงแต่ลดแสงสะท้อนให้ลดลง เหมาะกับคนใช้งานกลางแจ้ง (เช่น งานกองถ่าย) หรือสภาพแสงห้องย้อนแสง จนมีแสงสะท้อนเกิดขึ้นบนหน้าจอนั่นเอง
คุ้มหรือไม่คุ้ม ?
ส่วนตัวผู้เขียนคิดว่าหากเป็นการใช้งานตามบ้าน ไม่มีเหตุผลจำเป็นที่ต้องอัปเกรด เป็นหน้าจอกระจก Nano-texture เพราะการปรับสภาพแสงในห้องนั้นง่ายกว่ามาก เว้นเสียแต่ว่าต้องย้ายจุดทำงานบ่อย นอกจากนี้การดูแลรักษาต้องทำเป็นพิเศษ (ห้ามใช้น้ำ) และก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าการเคลือบดังกล่าว จะมีอายุใช้งานอยู่ที่เท่าไหร่