in

DTAC และ Telenor กับภารกิจยับยั้งวิกฤตสภาพอากาศ ที่มากกว่าการช่วยโลก

DTAC และ Telenor ร่วมยับยั้งวิกฤตสภาพอากาศโลก โดยการตั้งเป้าจะเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2030 สนับสนุนการบริโภคพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม

ภารกิจยับยั้งวิกฤตสภาพอากาศของดีแทคและเทเลนอร์ ที่มากกว่าเพียงการช่วยโลก

27 มกราคม 2565 – ตามที่ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้คาดการณ์ 5 ความก้าวหน้าสำคัญทางเทคโนโลยีของโลก ท่ามกลางเมกะเทรนด์สำคัญอย่างการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว เทเลนอร์จึงมีความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสำหรับการดำเนินธุรกิจในยุโรปภายในปี 2573

โลกได้ส่งสัญญาณถึงภาวะโลกร้อนรุนแรง และกำลังเผชิญภาวะการเสื่อมถอยทางสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลือง ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความหลากหลายทางชีวภาพ เมืองชายฝั่งทะเลกำลังจมหายไปเร็วกว่าที่คาด ซึ่งรวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ขณะที่การทำเกษตรเป็นไปอย่างยากลำบากมากขึ้นอันเนื่องมาจากความแปรปรวนของสภาพอากาศ ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหาร

คริสเตียน ฮอลล์ ผู้อำนวยการด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมของเทเลนอร์ กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อนไม่ใช่ปัญหาที่ค่อยเกิดขึ้น แต่เป็นปัญหาที่กำลังรอวันปะทุ เราเริ่มเห็นจุดเปลี่ยนของธรรมชาติหลายประการส่งสัญญาณถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของภาวะโลกร้อน เช่น การละลายของทวีปอาร์คติกที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซมีเทนสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้น ทั้งนี้ เทเลนอร์นั้นเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทคและมอบคำปรึกษาในฐานะผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน รวมถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย”

กระดุมเม็ดแรกสู่ข้อตกลงปารีส

ในปี 2558 สมาชิกแห่งสหประชาชาติจำนวน 196 ประเทศได้ร่วมกันประกาศสัตยาบันบรรลุข้อตกลงครั้งประวัติศาสตร์เพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายในการรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส หรือ 1.5 องศาเซลเซียสหากเป็นไปได้ เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายดังกล่าว นานาประเทศต่างมีความจำเป็นในการยื่นแผนที่นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในส่วนของกลุ่มประเทศนอร์ดิก (ซึ่งรวมถึงประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน) ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายอย่างเข้มข้นในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2533 ภายในปี 2573 และเพื่อตอบสนองต่อนโยบายรัฐดังกล่าวในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม เทเลนอร์ได้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันทุกตลาดให้ได้ 57 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับปี 2533 ภายในปี 2573” คริสเตียนกล่าว

ทั้งนี้ เพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้สัมฤทธิ์ผลและติดตามความคืบหน้าให้สอดคล้องกับเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส เทเลนอร์จึงได้ใช้เป้าหมายซึ่งกำหนดโดย Scientific Based Targets Initiative (SBTi) ในการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามฐานวิทยาศาสตร์

เป้าหมายที่ท้าทาย

เทเลนอร์ เป็นกลุ่มผู้ให้บริการโทรคมนาคมซึ่งให้บริการใน 9 ตลาดทั่วโลก ครอบคลุมภูมิภาคนอร์ดิกและเอเชีย อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่แตกต่างกัน ทำให้ทั้งสองภูมิภาคมีความท้าทายทางด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน รวมถึงจุดตั้งต้นและเป้าหมายที่ต่างกัน

“ในกลุ่มประเทศนอร์ดิก เทเลนอร์มีความพยายามอย่างยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2573 โดนมุ่งเน้นที่ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในส่วนของโครงข่าย เพิ่มสัดส่วนการบริโภคพลังงานสะอาด รวมถึงการใช้บริการอื่น ๆ ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในส่วนของตลาดเอเชียนั้น ได้ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งในปี 2573 โดยโฟกัสที่การเปลี่ยนพลังงานดีเซลเป็นการใช้พลังงานแสงอาทิตย์บริเวณเสาสัญญาณ ตลอดจนสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือกตลอดทั้งซัพพลายเชนของการดำเนินธุรกิจ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานจากน้ำ” คริสเตียนอธิบาย

ด้วยความพยายามในการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการใช้พลังงาน บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลก รวมทั้งเทเลนอร์เอง มีแผนจะนำระบบสัญญาซื้อขายพลังงานทางเลือกล่วงหน้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) มาใช้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินในระยะยาว โดย PPA นั้นคือข้อตกลงการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนในระยะยาวในปริมาณและราคาที่ตกลงไว้ ซึ่งสมดุลกับความต้องการของทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทางเลือกนั้นยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากพลังงานฟอสซิลอย่างถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ นั้นยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของภูมิภาคเอเชีย ขณะที่ในประเทศไทยนั้น ระบบ PPA ต้องอาศัยการขับเคลื่อนเชิงนโยบายจากภาครัฐเป็นสำคัญ
“การมีระบบการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าหรือ PPA ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่ทำให้ภาคเอกชนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค 5G ซึ่งอาจมีความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกมาก” เขาเน้นย้ำ

เทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า

นอกจากการสนับสนุนการบริโภคพลังงานสะอาดแล้ว การคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมใหม่ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีนัยสำคัญ อย่างที่ดีแทคเอง ก็มีความพยายามในการลดการใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี Cooling precision ซึ่งเป็นการใช้ทำให้ความเย็นเฉพาะจุด ตัวอย่างเช่นที่ชุมสาย (data center) ผสมผสานกับการใช้พลังงานทางเลือกทดแทน

นอกจากนี้ ดีแทคยังร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการพัฒนารูปแบบทดสอบการใช้งาน (use case) บน 5G เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อาทิ การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ การเกษตรอัจฉริยะ และการบริหารจัดการน้ำอัจฉริยะ

ในกรณีของเทเลนอร์ นอร์เวย์เอง ได้ริเริ่มโครงการ Green Radio ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง Machine learning และ AI เพื่อช่วยในการคาดคะเนความต้องการใช้พลังงานของโครงข่ายอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้สามารถปรับความต้องการใช้ไฟฟ้าให้สอดคล้องกับค่าทางเทคนิคที่เหมาะสมของอุปกรณ์โครงข่าย ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไม่ว่าจะเป็น IoT บิ๊กดาต้า หรือบล็อกเชน ยังทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านสภาวะอากาศอย่างมีนัยสำคัญ ผ่านการเป็นตัวกลางในการช่วยให้อุตสาหกรรมอื่น ๆ และผู้บริโภคลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง

“เทคโนโลยีเหล่านี้ยังมีบทบาทที่สำคัญในการบริหารจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตรวจสอบและหาที่มาของวัตถุดิบ ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตัดสินใจสนับสนุนสินค้าที่คำนึงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้ดีมากขึ้น เช่นเดียวกับ ในอุตสาหกรรมการเกษตร ที่การใช้ระบบอัตโนมัติเข้าจำกัดวัชพืช จะช่วยลดการใช้ยาฆ่าแมลง ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ และนี่คือตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ” คริสเตียนกล่าว

“ยังมีตัวอย่างหรือ use case ในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผมตื่นเต้นกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างมาก” ผู้อำนวยการด้านสิ่งแวดล้อมกับสภาพภูมิอากาศของเทเลนอร์กล่าวเสริม

ความคาดหวังต่อสังคม

“ผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่แข็งแกร่งจะช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นทั้งลูกค้า พนักงาน นักลงทุน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ปัจจุบัน นักลงทุนจำนวนมากขึ้นให้ความสำคัญกับการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของบริษัทจดทะเบียน ซึ่งใช้กรอบการรายงานผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศ (Climate-related Financial Disclosure) เป็นตัวชี้วัดหนึ่งในการประเมินและเลือกลงทุน” คริสเตียนกล่าว

ทั้งนี้ การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะส่งผลดีต่อตัวบริษัทเอง ดังจะเห็นว่า หุ้นของบริษัทที่ให้ความสำคัญกับวิกฤตสภาพอากาศนั้นมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่ด้อยในเรื่องการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากการช่วยโลกของเราแล้ว นี่อาจเป็นอีกแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำบนเส้นทางสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เอง

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Nooknick Yanika

Humanities, English Literature
Chiangmai University