สงสัยไหมว่าทำไมประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz เพื่อนำไปทำ 4G ทำไมถึงแพงจัง หากย้อนกลับไปดูผู้ชนะการประมูลทั้ง 2 รอบแล้วนั้นรายได้เข้ารัฐนั้นมากมายเลยทีเดียว วันนี้ผมจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ตามสไตล์เล่าสู่กันฟังครับว่าทำไมถึงต้องการกันมากนักหนา ถ้าไม่ได้คลื่นแล้วจะเป็นไงต่อ
เนื้อหาอาจจะสลับกันไปมาหน่อยนะครับก็ลองอ่านแต่ละหัวข้อดูแล้วเรียบเรียงกันอีกทีนะ เริ่มเลยแล้วกัน
1. ใครชนะประมูลบ้าง?
ราคาประมูล 4G ทั้ง 2 รอบที่ผ่านมาสรุปให้ดูกันอีกรอบว่าแต่ละรอบใครชนะบ้าง
ผลประมูลคลื่น 1800MHz
- AIS 40,986 ล้านบาท
- TrueMove H 39,792 ล้านบาท
ผลประมูลคลื่น 900 MHz
- Jas Mobile 75,654 ล้านบาท (อัปเดต: Jad สละสิทธิ์ไม่เอาคลื่นที่ประมูลไป จากนั้น AIS เป็นผู้ประมูลคลื่นนี้ไปได้)
- TrueMove H 76,298 ล้านบาท
รวมๆ เงินที่จะได้เข้ารัฐก็ประมาณ 232,731 ล้านบาท
2. ทำไมประมูลคลื่น 900 MHz ถึงจ่ายแพงกว่า 1800 MHz?
ตอบง่ายๆ คือ ผู้ให้บริการต้องการคลื่น 900MHz มากกว่า เพราะว่าคลื่น 900 MHz นั้นหากตั้งเสาส่งสัญญาณ 1 ต้นจะสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าหรือเทียบเท่ากับตั้งเสาส่งคลื่น 1800 MHz ถึง 3 ต้น ดังนั้นข้อดีคือลดต้นทุนการตั้งเสาและสามารถครอบคลุมพื้นที่ได้มากกว่าโดยเฉพาะในต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลได้มากยิ่งขึ้น
อีกทั้งคลื่น 900 MHz นั้นสามารถนำมารวมกับ 1800, 2100 MHz แล้วส่งออกไปพร้อมๆ กันเรียกว่า LTE Advanced ทั้งนี้จะได้ทั้งความเร็วและการครอบคลุมที่มากกว่า ดังนั้นใครมีเยอะก็ถือว่าได้เปรียบมาก
3. เจ้าไหนถือครองคลื่นความถี่บ้างและใช้ได้นานเท่าไหร่
หลังการประมูล ใครเหลือคลื่นอะไรในมือเท่าไหร่บ้าง ดูจากตารางนี้…#Thai4G #1800MHz #900MHz pic.twitter.com/uKbMLoRhQf
— YO•WARE (@yoware) December 19, 2015
จากตารางด้านบนสรุปง่ายๆ ดังนี้
True มีคลื่นในมือเยอะสุดทั้ง 850, 900, 1800 และ 2100 MHz หากวิเคราะห์จากทรัพยากรที่มีคือสัญญาณ True จะครอบคลุมเยอะสุดโดยใช้คลื่น 850, 900MHz ในพื้นที่ห่างไกล ตั้งเสาห่างๆ ได้ ลดต้นทุนลงและคนใช้ได้ทั่วถึงขึ้น ส่วน 1800, 2100 ก็เจาะกลุ่มในเมืองที่ผู้ใช้หนาแน่นเวลาใช้พร้อมกันเยอะๆ ก็จะเอาอยู่
แถมยังนำเอาคลื่นทั้งหมดมาทำ CA เพื่อให้ได้ความเร็วสูงสุดถึง 220Mbps และครอบคลุมได้ไกลอีกด้วย
ทำให้รับผู้ใช้ได้เยอะและความเร็วไม่ตก ดังนั้นคาดว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปเครือข่าย TrueMove H จะเป็นอะไรที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากทั้งผู้ใช้งานในเมืองและต่างจังหวัดเอง
นอกจากนี้ยังมองว่า True น่าจะเล่นเรื่อง LTE Advanced (LTE-A) เพราะว่ามีคลื่นในมือครบหมด ซึ่งคือการส่งคลื่นความถี่ทั้ง 3 ไปพร้อมกัน (3CA) จะทำให้ได้แบนด์วิดท์ที่เยอะและความเร็วสูงสุดถึง 220 Mbps (ปัจจุบัน AIS, Dtac ทำ 2CA ความเร็วสูงสุด 150Mbps)ในอนาคตอันใกล้เราอาจจะได้เห็น 4G บนมือถือที่วิ่งได้เร็ว 200-300 Mbps ด้วยการรวมคลื่น 900+1800+2100 MHz เข้าด้วยกันและใช้ชิปโมเดมตัวใหม่ๆ ในสมาร์ทโฟนทำให้การรับส่งข้อมูลนั้นเร็วมากขึ้นเยอะ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างมากที่เดียว
JAS มีคลื่นน้อยสุดเพียง 900 MHz จำนวน 10 MHz เท่านั้นเพราะเพิ่งกระโดดเข้ามาตลาดนี้ ตอนนี้ยังไม่ทราบว่า JAS จะดำเนินการเรื่องเครือข่ายที่ได้มาอย่างไรต้องรอติดตามกันต่อไป หากคาดเดาก็คืออาจจะออกซิมของตัวเองและสู้เรื่องราคาเพื่อขอส่วนแบ่งทางการตลาดจากทั้ง 3 ค่ายใหญ่ให้หันมาใช้ JAS มากขึ้นก็อาจจะได้
AIS มีคลื่น 1800, 2100 MHz ในมือซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้ที่เยอะสุดในตลาด ทางออกของ AIS ตอนนี้คิดง่ายๆ คือต้องตั้งเสาถี่ขึ้นแน่นอนว่าต้องใช้ทุนเยอะขึ้นอีกหรือไม่ก็ต้องหาทางออกโดยการเช่าความถี่โดยต้องจัดให้ดีเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้ AIS ทั่วประเทศเช่นกัน งานนี้ก็หนักอยู่ที่ AIS ไม่ได้ครอง 900 MHz รอบนี้เพราะอาจจะทำให้สูญเสียลูกค้าระบบ 2G ไปจำนวนมาก
Dtac ตอนนี้มีคลื่นถือว่าเยอะอยู่ทั้ง 850, 1800 และ 2100 MHz แต่ว่า… สัญญากำลังจะหมดลงในปี 2561 หรืออีกเพียง 3 ปีเท่านั้น(และยืดอายุสัญญาต่อไม่ได้) ทำให้ dtac เริ่มตกที่นั่งลำบากกว่าใครเพราะว่าด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่มากเป็นอันดับ 2 รองจาก AIS จำนวนถึง 25 ล้านเลขหมาย หาก dtac หมดสัญญาคลื่นที่เช่าอยู่และถ้ารัฐไม่เปิดประมูลคลื่น(850MHz) ก็จะทำให้ dtac ตกที่นั่งลำบากในจุดที่ไม่มีคลื่นเพียงพอต่อการให้บริการ ดังนั้นเร็วๆ นี้ต้องดูแผนการว่า dtac จะแก้เกมอย่างไรเพื่อรับมือกับเรื่องนี้
4. ทำไม JAS ถึงกล้ากระโดดเข้าสู้ศึกครั้งนี้
JAS ทำ 3BB อยู่แล้วและลูกค้าค่อนข้างเยอะแถมเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จในวงการผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านอยู่ไม่น้อย ทั้งนี้มองว่า JAS ต้องการขยายธรุะกิจโดยการเพิ่มเครือข่ายจากสายมาเป็นไร้สายบ้าง(เครือข่ายมือถือ) หาก JAS ไม่เข้ามาประมูลช่วงนี้ก็เหมือนว่าโอกาสนั้นจะน้อยลงไปอีก
เพราะว่าหากจะรอไปอีก 3 ปีที่(อาจ)จะมีการนำคลื่นที่หมดสัญญามาประมูลใหม่ตอนนั้น JAS อาจจะไม่ทันการแล้วและไม่ชัวร์ด้วยว่าจะสู้ไหมหรือเปล่า
ถือว่าเป็นการดีที่ JAS กระโดดเข้ามาทั้งนี้เป็นการกระตุ้นทั้ง 3 เจ้าอย่าง True, AIS, dtac ให้ active มากยิ่งขึ้นนั่นเอง
5. ประมูลคลื่น 900 MHz ทำให้เห็นอะไรบ้าง?
จากมุมมองของผมเองมองว่าเรื่องนี้เป็นการชิงอำนาจเพื่อความเป็นผู้นำในด้านผู้ให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่หากใครมีทรัพยากรที่พร้อมและมากกว่าก็ย่อมได้เปรียบคู่แข่ง
ผมมองเห็นว่าอนาคตเทคโนโลยีการสื่อสารบ้านเราจะอยู่อันดับต้นๆ ของโลกและถือว่าเป็นเรื่องที่ดี ส่วนตัวแล้วคิดว่าตอนนี้อินเทอร์เน็ตที่ไทยก็ไม่ด้อยกว่าที่อื่นเลยแถมยังดีกว่าหลายๆ ประเทศด้วยซ้ำ ส่ิงที่มองเห็นเพิ่มเติมคือ
True ตั้งใจอย่างมากที่จะครอบครองคลื่นให้ได้และก็ได้จริงๆ และหวังจะเป็นผู้นำในธุระสื่อสารถึงขั้นเจ้าสัวมาคุมการประมูลเองเลย จนทำให้มีความถี่อยู่เต็มมือแต่ว่าต้องแลกมากับเงินลงทุนจำนวนมหาศาลเช่นกัน ดังนั้นงานต่อไปหลังจากที่ True ได้คลื่นมาครองแล้วจะต้องดูว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งที่มีอยู่ในมือซึ่งอาจจะต้องวางแผนมากหน่อยทั้งการทำให้สัญญาณครอบคลุมและนิ่งมากกว่าเดิมอาจจะต้องปรับจูนให้เข้าที่อย่างเช่นการพัฒนาเรื่อง LTE-A ที่กล่าวไว้ข้างบนและทั้งนี้ True ต้องโชว์จุดเด่นของตนเองเรื่องมีคลื่นครอบคลุมมากที่สุด
AIS แม้พลาดจากคลื่น 900 MHz แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะแพ้เพราะว่า AIS ฐานเดิมนั้นมีดีอยู่แล้วเงินทุนก็เยอะอยู่แล้ว(ก็พอที่จะทราบๆ กัน) แต่การพลาดคลื่น 900 MHz ไปก็เหมือนขาดกองกลางคนสำคัญไปซึ่งไม่ได้ความความว่าจะยิงประตูไม่ได้เพียงแค่เกมอาจจะทีสะดุดบ้างเท่านั้นเอง AIS เองต้องเอาเงินทุนที่มีลงทุนเพิ่มเติมปรับแต่งระบบและคลื่น 1800 MHz ที่ได้มาใหม่ให้ดีขึ้นกว่าเดิมและต้องปรับจัดให้เพียงพอกับผู้ใช้ในปัจจุบันและอนาคตหรือไม่งั้นก็คงต้องหาพันธมิตรมาจับมือกันเพื่อแก้ปัญหาแบนด์วิดท์อาจจะไม่เพียงพอในอนาคต
JAS ทำให้เห็นถึงความตั้งในและกล้าได้กล้าเสียที่หลายๆ คนไม่คิดว่า JAS จะกล้ามากขนาดโดดขึ้นมาสู้กับยักษ์ทั้ง 3 จนได้ครอบครองคลื่น 900 MHz ไปสำเร็จ แผนการหากกว่า JAS จะทำซิมของตัวเองจริงๆ ทางเลือกคือต้องสร้างเสาส่งของตนเอง(จากศูนย์) ซึ่งไม่ง่ายเลยและเงินลงทุนก็ต้องหลายแสนล้านเหมือนกัน ส่วนอีกทางเลือกคือการหาคู่ค้าซึ่งจะเป็นใครอย่างไรอันนี้ยังไม่ทราบแน่นอนต้องรอให้ JAS ประกาศอีกที แต่บอกเลยว่า JAS คือตัวเปลี่ยนเกมในรอบนี้
dtac แม้อาจจะมองว่าเป็นงานที่หนักสำหรับ dtac แต่ก็ไม่ได้หมายความว่างานนี้จบเกมเพราะอนาคตนั้นไม่แน่นอนและ dtac เองก็ไม่ใช่เด็กๆ ที่จะถอดใจง่ายๆ ขนาดนั้น ผมยังมองว่า dtac ยังมีโอกาสและมีแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน อีกอย่างอนาคตอาจจะมีการนำคลื่นอื่นๆ อย่าง 1900 หรือ 2300 MHz มาประมูลเพิ่มเติมก็ได้ถึงเวลานั้นก็ค่อยมาดูกันว่าจะเป็นอย่างไร
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม MxPhone