Facebook เริ่มออกอัปเดต ให้คำแนะนำผู้ใช้ในการสังเกตว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอม ที่แชร์กันผ่านแอป Social Network ชื่อดังแล้ว
ข่าวปลอมใน Facebook
หลายเหตุการณ์ที่สร้างความเข้าใจผิดให้กับคนในสังคมออนไลน์มาจาก การรับรู้ข้อมูลอันเป็นเท็จ หากผู้รับข้อมูลไม่ตรวจสอบข้อมูลให้ดีอาจส่งผลเสียต่อตนเองและผู้อื่นได้
ล่าสุด Facebook สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งช่องทางหลักในการกระจายข้อมูลข่าวสารของคนทั่วโลก ได้ออกอัปเดตคำแนะนำในการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารว่าข่าวสารใดเข้าข่ายเป็นข่าวสารหลอกลวง
คำแนะนำในการตรวจสอบว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอม
Facebook ได้เริ่มออกอัปเดตเป็นคำแนะนำในการตรวจสอบว่าข่าวไหนเป็นข่าวปลอมและได้มีการอัปเดตข้อมูลคำแนะนำให้กับผู้ใช้ในบางประเทศแล้ว โดยคำแนะนำของ Facebook ได้กล่าวว่า ให้สังเกตุรูปแบบของข่าว หากมีข้อมูลในทิศทางตามคำแนะนำนี้ มีโอกาสสูงที่ข่าวนั้นจะเป็นข่าวปลอม
- ชื่อข่าวไม่น่าเชื่อถือ เป็นไปไม่ได้ ทำให้ดูตกใจเกินไป (Clickbait)
- URL เว็บไซต์ที่นำมาเผยแพร่ไม่น่าเชื่อถือ หรือมีตัวสะกดที่ดัดแปลงให้คล้ายกับเว็บไซต์ข่าวหลัก
- แหล่งที่มาไม่น่าเชื่อถือ โดยข่าวที่นำมาเผยแพร่นั้นควรเป็นแหล่งข่าวที่มีตัวตน สามารถตรวจสอบได้
- รูปแบบการเขียนข่าวปิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นตัวสะกด ภาษาที่ใช้ หรือการเรียบเรียงที่ไม่ถูกต้อง
- รูปภาพประกอบที่นำมาใช้ ในบางครั้งข่าวหลอกลวงอาจมีการตัดต่อหรือเอารูปภาพเหตุการณ์ในอดีตมาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อสร้างความสับสน
- วันที่ของการเผยแพร่ข่าวไม่ถูกต้อง เช่น เป็นข่าวเก่าหรือวันที่ของเหตุการณ์ที่ยังมาไม่ถึง
- ตรวจสอบหลักฐานการอ้างอิง โดยข่าวที่มาเผยแพร่นั้นหากไม่มีการอ้างอิงแหล่งที่มาที่ชัดเจนได้มีโอกาสสูงที่จะเป็นเพียงแค่ข่าวลือ ข่าวโคมลอย หรือข่าวหลอกลวง
- ดูรายงานจากแหล่งอื่นประกอบว่ามีการรายงานข่าวในทิศทางเดียวกันหรือไม่
- ตรวจสอบให้ดีว่าข่าวสารที่แชร์กันมาวัตถุประสงค์เป็นแค่การล้อเลียนหรือเรื่องที่แต่งขึ้นมาเองหรือไม่
- ข่าวบางข่าวถึงแม้จะเป็นแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือได้ แต่ผู้เขียนอาจจงใจเขียนข่าวให้เป็นเท็จ ดังนั้นผู้อ่านต้องพิจารณาความสมเหตุสมผลให้ดี
สำหรับบ้านเรานั้นการกระจายข่าวอันเป็นเท็จเรารู้กันอยู่แล้วว่า มีความผิด พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการรับรู้ข่าวหรือแชร์ข่าวเรา ควรเช็คให้ชัวร์ ก่อนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวที่มีการยืนยันแล้วว่าเกิดขึ้นจริง เพื่อรักษาสิทธิ์ในการรับรู้และความถูกต้องของข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์
ขอบคุณ – businessinsider