หลายคนจะเคยได้ยินหรือรู้จักเทคโนโลยี IoT และ AI กันมาบ้างแล้ว แต่อาจจะยังมีข้อสงสัยว่า IoT กับ AI นั้นเป็นเทคโนโลยีแบบเดียวกันหรือไม่ วันนี้ทีมงานมีข้อแตกต่างระหว่าง IoT กับ AI มาแนะนำให้ทุกคนรู้จัก รวมถึงบอกข้อแตกต่างระหว่าง IoT กับ AI เพื่อไขข้อสงสัยกัน
รู้จักกับ IoT (Internet of Thing)
IoT ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันบ่อยๆ มักจะมาในรูปแบบของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รอบตัวของเรานั่นเอง หากสังเกตดีๆ เราจะเห็นความหมายในตัวของมันว่า IoT คือ การที่อุปกรณ์ต่างๆ สามารถทำงานเชื่อมต่อกันอย่างอัจฉริยะผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถทำงานร่วมกับสมาร์ทโฟนและเซ็นเซอร์ที่คอยตรวจจับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ลองมาดูตัวอย่างกัน
- การเปิด-ปิดไฟอัตโนมัติ โดยตรวจจับความมืดและความสว่าง
- รถยนต์คุยกัน หากรถยนต์มีการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น รถยนต์ก็สามารถแจ้งเตือนผู้ขับขี่ให้หลีกเลี่ยงเส้นทางนั้นได้ หรือถ้าล้ำไปอีก ในกรณีที่รถยนต์ขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ก็จะหลบหลีกเส้นทางที่มีอุบัติเหตุอัตโนมัติ
- การตรวจจับพยากรณ์อากาศ เช่น ราวตากผ้าอัจฉริยะ ที่สามารถรับรู้ข้อมูลพยากรณ์อากาศ หากมีฝนตก ราวตากผ้าจะทำการเคลื่อนที่ไปยังที่ร่มทันที
- กล้อง CCTV ที่สามารถตรวจจับสิ่งผิดปกติได้ ถึงแม้จะอยู่ในที่มืด เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ระบบก็จะส่งข้อมูลไปยังสมาร์ทโฟน เพื่อแจ้งให้ผู้ใช้ทราบ
การทำงานของ IoT ต้องทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์หรือ RFID ที่เปรียบเหมือนสมองสั่งการให้อุปกรณ์สามารถรับส่งข้อมูลถึงกันได้ และต้องผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเท่านั้น
รู้จักกับ AI (Artificial Intelligence) หรือระบบปัญญาประดิษฐ์
ในภาษาไทยเราเรียก AI ว่าปัญญาประดิษฐ์ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตนเอง ถ้าใครเคยชมภาพยนต์เรื่อง Iron Man ก็คงจะเห็น Javis ที่เป็นคอมพิวเตอร์ผู้ช่วยของ Tony Strak เจ้าสิ่งนั้นก็เรียกว่า AI เช่นกัน ซึ่ง AI จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อพัฒนาตนเองให้ฉลาดขึ้น จำลองให้ฉลาดเทียบเท่ากับสมองมนุษย์มากที่สุด ซึ่งบางครั้งอาจจะฉลาดกว่ามนุษย์เสียด้วยซ้ำ ตัวอย่างดังนี้
- ผู้ช่วยสั่งการด้วยเสียง เช่น Apple Siri ใน iOS, Google Assistant, Amazon Alexa, Microsoft Cortana รวมถึง LINE Clova เป็นต้น สามารถโต้ตอบ จดจำและเรียนรู้พฤติกรรมของผู้ใช้
- ทางด้านการแพทย์ มีการพัฒนา AI มาช่วยในการวิเคราะห์การรักษาโรงมะเร็ง โดยวินิจฉัยและเอ็กซเรย์โรคมะเร็งปอด ช่วยให้การวินิจฉัยแม่นยำมากขึ้น
- ธุรกิจธนาคารที่ใช้หุ่นยนต์ AI ในการตอบคำถามหรือให้คำปรึกษากับลูกค้า โดยวิเคราะห์จากข้อมูลพฤติกรรมกับโต้ตอบของลูกค้า และช่วยเหลือได้อย่างถูกต้อง
AI และ IoT สามารถทำงานร่วมกันได้
หลังจากที่ได้ทราบความหมายและตัวอย่างเบื้องต้นของทั้ง 2 เทคโนโลยีกันแล้ว สังเกตได้ว่า IoT และ AI จะมีการทำงานร่วมกับอุปกรณ์เหมือนกัน แต่หลักการทำงานต่างกันชัดเจน แต่หากนำเทคโนโลยีทั้ง 2 มารวมกันแล้ว จะทำให้อุปกรณ์มีความฉลาดแบบสมบูรณ์แบบ เพราะนอกจากจะตรวจจับสิ่งต่างๆ ได้แล้ว ยังสามารถเรียนรู้และวิเคราะห์ได้อีกด้วย
ยกตัวอย่างง่ายๆ สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่าง IoT กับ AI เช่น การใช้หุ่นยนต์ที่มี RFID ในการตรวจนับสินค้าในคลังที่ใช้เทคโนโลยี IoT และใช้ AI ในส่วนของการสร้างและจดจำแผนที่ของคลังสินค้า เพื่อไม่ให้หุ่นยนต์เดินไปนับสินค้าในตำแหน่งเดิม
เห็นได้ว่า ทั้ง IoT และ AI เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เนื่องจากการพัฒนาทั้ง 2 สิ่งนี้จะช่วยในเรื่องของความปลอดภัยและความสะดวกสบายของมนุษย์มากขึ้น รวมถึงในภาคอุตสาหกรรมก็จะช่วยเพิ่มความรวดเร็วและแม่นยำในด้านการผลิต เพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจให้ดียิ่งขึ้น