การซื้อ Apple Watch มือสองส่วนใหญ่ เราก็จะซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ขายสินค้ามือสอง กลุ่มที่มีการซื้อขาย Apple Watch มือสอง หรือ Facebook Maket Place เรามาดูกันว่าก่อนซื้อ Apple Watch มือสองจะต้องเช็คอะไรบ้าง
คำแนะนำก่อนซื้อ Apple Watch มือสอง จะต้องเช็คอะไรบ้าง
ตลาดซื้อขาย Apple Watch มือสองมีอยู่มากมาย แต่ถ้าอยากได้เครื่องดีๆ ไม่ถูกหลอกหรือถูกโกง เราก็ต้องเช็คก่อนซื้ออย่างละเอียด ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการโกงจากมิจฉาชีพมีค่อนข้างเยอะและแพรวพราวมากขึ้น ถึงแม้ว่าจะนัดรับคุณก็อาจจะโดนหลอกได้
ดังกรณีตัวอย่างจากโพสต์เตือนภัยของสมาชิกในกลุ่ม Apple Watch Market Thailand ที่เกือบจะได้ Apple Watch รุ่นแรกมา เนื่องจากถูกหลอกว่าเป็น Apple Watch Series 2 แถมเครื่องยังติด Activation Lock อีก ดังนั้น ก่อนจะซื้อ Apple Watch มือสองเราต้องมีการเช็คก่อน ลองมาดูกันเลยว่าต้องเช็คจุดไหนบ้าง
ก่อนซื้อ Apple Watch มือสอง จะต้องเช็คอะไรบ้าง
1. ความน่าเชื่อถือของผู้ขาย
ผู้ขายที่มีความน่าเชื่อถือจะต้องลงรูปภาพสินค้าชัดเจน โดยรูปภาพต้องมีการถ่ายหลากหลายมุมมองให้ผู้ซื้อได้เห็นทุกส่วน เนื่องจากบางครั้งผู้ขายอาจจะถ่ายภาพให้มีการหลบตำหนิของสินค้า ถ้าหากรูปถ่ายไม่ครบมุมมอง แนะนำให้ขอรูปถ่ายเพิ่มเติม
การระบุรายละเอียดของตัวสินค้าต้องครบและชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อ รุ่น สี โมเดลเครื่อง ระยะเวลาประกันคงเหลือ และราคา เพื่อให้ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบตอนนัดรับสินค้าได้
2. เช็ครุ่นของ Apple Watch ดีๆ
บางครั้งผู้ขายอาจจะหลอกว่า Apple Watch เป็นรุ่นใหม่ อย่างเช่น ซีรีย์ 3 แต่ตัวเครื่องที่ขายจริงๆ อาจจะเป็นรุ่นแรกหรือซีรีย์ที่เก่ากว่า
แนะนำให้ขอรูปถ่ายฝาหลังของ Apple Watch ก่อน กรณีที่ยังไม่ได้นัดรับ แต่ถ้านัดรับแล้ว แนะนำว่าให้เช็คฝาหลังด้วยตัวเอง เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของรุ่นก่อนว่าตรงตามที่ประกาศขายหรือไม่ วิธีเช็ครุ่น Apple Watch
3. เช็คเลขเครื่อง (Serial No.)
ถ้ามีโอกาสได้นัดรับของหรือแชทส่วนตัว แนะนำให้ขอดูเลขเครื่อง (Serial No.) ที่กล่องกับตัวเครื่องว่าตรงกันหรือไม่ และหากผู้ขายอ้างว่าเครื่องอยู่ในประกัน ก็ให้ตรวจเช็คประกันก่อนว่าตรงกับที่ระบุไว้หรือไม่ วิธีเช็คประกัน Apple Watch
4. เช็คว่าเครื่องติด Activation Lock หรือไม่พร้อมทำการเชื่อมต่อ iPhone กับ Apple Watch
เมื่อมีโอกาสนัดรับของ แนะนำว่าให้เช็คตัวเครื่องอย่างละเอียดอีกครั้ง และสิ่งที่สำคัญคือ ต้องเช็คว่าเครื่องติด Activation Lock หรือไม่ โดยการลองจับคู่ Apple Watch กับ iPhone ของเรา ในแอป Watch
ถ้าแอปเด้งให้กรอกรหัสผ่าน iCloud ให้บอกผู้ขายให้ทำการเลิกจับคู่ Apple Watch กับ iPhone เครื่องเดิมก่อน หรือลบอุปกรณ์ Apple Watch ใน iCloud เดิมให้เรียบร้อย ชมวิธีได้ที่นี่
สิ่งสุดท้ายที่ควรทำเมื่อได้นัดรับของก็คือ ลองใช้งานดูสักครู่ว่าติดปัญหาหรือใช้งานได้ปกติหรือไม่ ตัวเครื่องเป็นไปตามที่ผู้ขายระบุไว้หรือเปล่า หากเครื่องมีปัญหา ไม่สามารถใช้งานได้ ควรปฏิเสธการซื้อทันที
อย่างไรก็ตามการซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ เราไม่สามารถไว้ใจได้ว่าคนขายจะหลอกลวงหรือไม่ ดังนั้นการนัดรับของและตรวจสอบก่อนซื้อเป็นวิธีที่ดีที่สุด และ win-win กันทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย สำหรับใครที่สั่งซื้อและให้ส่งมาทางไปรษณีย์ ก็อาจจะมีความเสี่ยงถูกหลอกได้สูงนะคะ ควรนัดรับและดูสินค้าด้วยตนเองจะดีกว่า
แต่ถ้าหากหลวมตัวซื้อไปแล้ว แนะนำว่าให้เก็บหลักฐานทั้งหมดและนำไปแจ้งความให้เร็วที่สุด
ขอบคุณเรื่องราวและภาพจากสมาชิกกลุ่ม Apple Watch Market Thailand โดย คุณ Chutikarn Baojoom และคุณ Thanyathap RatchaJitti