หลังจากที่เราได้อัปเดต iOS 14 และ iPadOS 14 เวอร์ชันทางการเรียบร้อยแล้ว ทีมงานก็จะมาแนะนำการตั้งค่า iPhone, iPad และ iPod touch หลังจากอัปเดต iOS 14 และ iPadOS 14 ว่าจะมีจุดไหนที่ควรตั้งค่าบ้าง
อัปเดตเป็น iOS 14 และ iPadOS 14 แล้ว ต้องตั้งค่าจุดไหนบ้าง
หลังจากที่อัปเดต iOS 14 และ iPadOS 14 แล้ว สำหรับใครที่พบว่าเครื่องรวน แบตไหล ใช้งานไม่ปกติ แนะนำว่าให้ทำการรีเซ็ตการตั้งค่า (Reset All Settings)ให้เรียบร้อยก่อน
ไปที่การตั้งค่า (Setting) > รีเซ็ต (Reset) > รีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด (Reset all setting)
โดยข้อมูลไม่หาย แต่อาจจะต้องตั้งค่าบางอย่างใหม่ เช่น การเชื่อมต่อ Wi-Fi (แต่ถ้าใช้งานปกติไม่ต้องรีเซ็ตก็ได้) หรือทำการลบข้อมูลทั้งหมด (Erase All Content ) ซึ่งข้อมูลจะหายหมด เพื่อล้างเครื่องใหม่ ทั้ง 2 วิธีนี้แนะนำให้ทำการสำรองข้อมูลก่อนนะคะ
1. ตั้งค่าบัญชีการใช้งานและความปลอดภัย
1.1 ตั้งค่าข้อมูลการใช้งาน และ Apple ID
ควรตรวจสอบก่อนว่า Apple ID ที่เคยผูกกับ iPhone หรือ iPod touch มีข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วนหรือไม่
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > แตะที่ชื่อ Apple ID
เข้าไปตรวจสอบข้อมูลและตั้งค่าในส่วนที่สำคัญให้เรียบร้อยดังนี้
- Name, Phone Numbers, Email : กรอกข้อมูลการติดต่อและข้อมูลส่วนตัว
- Password & Security : เปิดการตรวจสอบสิทธิ์สองปัจจัย
- Payment & Shiping : ตั้งค่าข้อมูลบัตเครดิต การชำระเงิน และที่อยู่การจัดส่ง
- Subscription : ตรวจสอบแอปที่เคยสมัครรับ ถ้าไม่ได้ใช้งานก็ยกเลิกการสมัครรับได้
- iCloud : ตรวจสอบข้อมูลบัญชี และพื้นที่การใช้งาน iCloud
- iTunes & App Store : ตั้งค่าการอัปเดตแอปและรายการดาวน์โหลดอัตโนมัติ
1.2. เปิดการใช้งาน iCloud
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > แตะที่ชื่อ Apple ID > แตะ iCloud > เลือกเปิดการใช้งาน iCloud สำหรับแอปต่างๆ เช่น รูปภาพ, iCloud Drive เป็นต้น
แนะนำ เปิดทุกแอปใน iCloud เพราะเวลาที่เราย้ายเครื่อง เครื่องหาย หรืออัปเดต iOS ใหม่ เราจะต้องสำรองข้อมูลบน iCloud
รวมถึงเปิดการสำรองข้อมูล iCloud อัตโนมัติไว้ เวลาที่เครื่องมีปัญหา เราอาจจะกู้คืนข้อมูลที่สำรองไว้ล่าสุดได้
ไปที่ ข้อมูลสำรอง iCloud (iCloud Backup) > เปิด ข้อมูลสำรอง iCloud (iCloud Backup)
1.3. เปิดค้นหา iPhone ของฉัน
ให้ตั้งค่าเปิด ค้นหา iPhone ของฉันไว้ด้วย Find My iPhone เพื่อค้นหา iPhone เวลาที่เครื่องหาย
ไปที่การตั้งค่า (Settings) > Apple ID > ค้นหาของฉัน (Find My) > เปิด ค้นหา iPhone ของฉัน (Find My iPhone)
1.4. ตั้งค่าใช้ Face ID และ Touch ID
แนะนำให้ผู้ใช้ตั้งค่ารหัสปลดล็อคเครื่อง, Face ID และ Touch ID เพื่อความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลในเครื่อง
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Face ID และรหัส (ใน iPhone และ iPad ที่มีปุ่มโฮมจะเป็น TouchID และรหัส (Touch ID & Passcode) > กรอกรหัสผ่านปลดล็อคเครื่อง > แตะปลดล็อค iPhone และตั้งค่า Face ID ตามขึ้นตอนได้เลย
เมื่อตั้งค่าเสร็จเรียบร้อยแล้ว แนะนำว่าให้เปิดการยืนยันตัวตน Face ID หรือ Touch ID เวลาที่ใช้งาน iTunes Store และ App Store, การป้อนรหัสผ่านโดยอัตโนมัติ รวมถึงเปิดใช้งานสำกรับแอปอื่น ๆ ที่เราต้องการให้ปลดล็อคก่อนเข้าถึงแอปด้วย
1.5. ตั้งค่า ID ทางแพทย์ เผื่อฉุกเฉิน
การตั้งค่า ID ทางแพทย์ นั้นจะช่วยในยามเกิดเหตุฉุกเฉินต่อเจ้าของเครื่องได้ เพราะสามารถดูข้อมูลกรุ๊ปเลือด ยาที่แพ้ รวมถึงเบอร์โทรสำหรับติดต่อฉุกเฉินได้ (เฉพาะบน iPhone)
ไปที่สุขภาพ (Health) > ID ทางแพทย์ (Medical ID) > เพิ่มข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้
2. ตั้งค่าเพื่อความสะดวกในการใช้งาน
2.1. จัดระเบียบหน้าโฮม
ใน iOS 14 ได้เพิ่มการจัดการหน้าโฮม ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะให้จะให้หน้าจอไหนแสดงบ้าง เพื่อซ่อนแอปที่ไม่จำเป็นออกจากหน้าโฮม แต่สามารถค้นหาแอปเหล่านั้นได้ในส่วนของคลังแอปแทน
แตะหน้าโฮมค้างไว้ ให้แอปแสดงไอคอนลบ > แตะไอคอนจุดด้านล่าง > เลือกหน้าโฮมที่ต้องการให้แสดง แล้วแตะเสร็จสิ้น (Done)
หากเราเลือกหน้าโฮมไม่ให้แสดงทั้งหมด เราสามารถเข้าถึงแอปอื่น ๆ ได้ในส่วนของคลังแอป โดยเลื่อนหน้าไปหน้าสุดท้าย เราก็จะแสดงคลังแอปที่มีการจัดหมวดหมู่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้เรายังตั้งค่าหน้าจอโฮมได้ โดยเลือกได้ว่าแอปที่ดาวน์โหลดเข้ามาใหม่นั้น จะให้แสดงบนหน้าจอโฮมหรือในคลังแอป เพื่อจัดการแอปได้ง่ายขึ้น
2.2. ปรับแต่งวิดเจ็ตให้เหมาะกับการใช้งาน
เราสามารถปรับแต่งวิดเจ็ตใน iOS 14 ได้ ทั้งในหน้าวิดเจ็ตเอง และสามารถย้ายให้มาแสดงในหน้าโฮมได้อีกด้วย
แตะหน้าโฮมค้างไว้ ให้ไอคอนแอปมีไอคอนลบ > แตะไอคอนบวกด้านมุมบนขวา > แตะเลือกวิดเจ็ตที่ต้องการ > ปัดเลื่อนรูปแบบวิดเจ็ต > แตะเพิ่มวิดเจ็ต
สามารถลากวิดเจ็ยมาซ้อนกันได้ และลากวิดเจ็ตไปไว้บนหน้าโฮมร่วมกับแอปอื่น ๆ ได้ ทำให้ดูข้อมูลของแอปที่ต้องการได้ง่ายมากขึ้น
2.3. ตั้งค่า Control Center
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > แตะ ศูนย์ควบคุม (Control Center) > แตะ กำหนดแถบควบคุมเอง (Customize Controls) > เลือกเครื่องมือที่ต้องการโดยเลือกไอคอน + และลบเครื่องมือที่ไม่ต้องการให้แสดงใน Control Center โดยแตะที่ไอคอน –
ในหน้า Control Center ก็จะแสดงเมนู Shortcut ที่เราเพิ่มเข้ามา ช่วยให้เข้าถึงและจัดการได้ง่ายขึ้น
2.4. ตั้งค่า Siri
ตั้งค่า Siri ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Siri และการค้นหา > เปิด ฟัง “หวัดดี Siri” , เปิดกดปุ่มด้านข้างเพื่อคุยกับ Siri และเปิด อนุญาต Siri ในระหว่างล็อคอยู่ (เพื่อวางโทรศัพท์ลืมที่จะได้เรียกหาได้)
นอกจากนี้ เรายังตั้งค่าเปิดหรือปิด คำแนะนำโดย Siri ได้
ตัวอย่างเช่น หากเราปิดคำแนะนำในระหว่างการแชร์ รายชื่อติดต่อที่เคยแสดงในหน้าจอแชร์ก็จะหายไป ดังรูป
2.5. ตั้งค่าโหมดมืด (Dark Mode)
ที่ผู้ใช้สามารถปรับธีมการใช้งานให้เป็นโทนสีดำ จะช่วยให้การใช้งานในเวลากลางคืนหรือในที่แสงน้อยสะดวกมากขึ้น และช่วยประหยัดแบตใน iPhone ที่มีหน้าจอเป็น OLED สามารถเปิดปิดได้หลายวิธีดังนี้
ไปที่การตั้งค่า (Settings) > จอภาพและความสว่าง (Display & Brightness) > แตะเลือก มืด (Dark) ถ้าต้องการให้มีการเปิดปิดโหมดมืดแบบอัตโนมัติก็สามารถแตะเลือกเปิด อัตโนมัติ ได้เลย จากนั้นก็ตั้งเวลาหรือจะเลือกการเปิดโหมดมืดจนถึงดวอาทิตย์ขึ้นก็ได้
2.6. ปรับความสว่างอัตโนมัติ
ไปที่การตั้งค่า (Settings) > จอภาพและขนาดข้อความ > เปิด ปรับความสว่างอัตโนมัติ (Auto Brightness)
2.7. เปิดใช้งาน AssistiveTouch
สำหรับใครที่ใช้ชอบใช้คำสั่งบน AssistiveTouch อยู่ก็สามารถตั้งค่าเปิดใช้งาน และปรับแต่งเมนูได้
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > การช่วยการเข้าถึง (Accessibility) > สัมผัส (Touch)
AssistiveTouch > เปิด AssistiveTouch และปรับแต่งเมนูได้โดยตั้งค่าด้านล่าง
2.8. ปรับตั้งค่าการใช้งานคีย์บอร์ด
เมื่อรีเซ็ตการตั้งค่าแล้ว แป้นพิมพ์หรือคีย์บอร์ดจะเปิดการตั้งค่าทั้งหมดเป็นค่าเริ่มต้น เราสามารถเปิดการใช้งานได้ตามใจชอบ
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > ทั่วไป (General) > แป้นพิมพ์ (Keyboard) > เลือกเปิดการตั้งค่าคีย์บอร์ดตามการใช้งานและความเหมาะสม
3. ตั้งค่าระบบอื่น ๆ
3.1. ตั้งค่าบริการหาตำแหน่งที่ตั้ง
ถ้าเรารีเซ็ตการตั้งค่าใหม่ บริการหาตำแหน่งที่ตั้งจะปิดใช้งานเป็นตั้งค่าเริ่มต้น หากเราต้องการใช้แอปที่มีความเกี่ยวข้องกับการติดตามที่ตั้ง ให้เราเปิดใช้งานไว้
ไปที่การตั้งค่า (Settings) > ความเป็นส่วนตัว (Privacy) > บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง (Location Services) > เปิด บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง (Location Services) หากต้องการอนุญาตบางแอปให้เลือกเปิดตามแอปด้านล่าง
3.2. เปิดการชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่
การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่ เป็นการเปิดให้ iPhone เรียนรู้การชาร์จแบตเตอรี่รายวันของเรา และจะหยุดการชาร์จเมื่อแบตเตอรี่เกิน 80% จนถึงเวลาที่เราต้องใช้เครื่อง เพื่อถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > แบตเตอรี่ (Battery) > สุขภาพแบตเตอรี่ (Battery Health) > เปิด การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่
3.3. เปิดการใช้งาน iMessage และ Facetime
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > ข้อความ (iMessage) > เปิด iMessage สำหรับการส่งข้อความระหว่างอุปกรณ์ Apple ฟรี
ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > FaceTime > เปิด FaceTime สามารถโทรวิดีโอคอลหรือแบบเห็นหน้าได้หรือจะเลือกโทรแบบเฉพาะเสียงผ่าน VOIP แบบนี้ไม่เสียค่าโทรของเครือข่ายมือถือเพราะจะใช้อินเทอร์เน็ตแทน ถ้าโทรผ่าน WiFi ก็ฟรีเช่นกัน ถ้าโทรผ่าน 3G/4G ก็หักอินเทอร์เน็ตจากแพ็กเกจที่เรามี
ทั้งหมดนี้เป็นการตั้งค่าเบื้องต้นหลังจากที่เราอัปเดต iOS 14 และ iPadOS 14 แล้ว ซึ่งมีทั้งการตั้งค่าใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา และการตั้งค่าที่เหมือนกับเวอร์ชันเดิม ซึ่งอาจจะจำเป็นต้องตั้งค่าสำหรับใครหลายคน