in , ,

แนะนำ หลังอัปเดตเป็น iOS 18 แล้ว ควรตั้งค่าจุดไหนบ้าง

หลังจากที่เราได้อัปเดต iOS 18 เวอร์ชันทางการเรียบร้อยแล้ว ทีมงานก็มีคำแนะนำการตั้งค่า iPhone มาดูว่าเราควรเข้าไปตรวจสอบและตั้งค่าส่วนไหนกันบ้าง

แนะนำ หลังอัปเดตเป็น iOS 18 แล้ว ควรตั้งค่าจุดไหนบ้าง

การตั้งค่า iPhone หลังอัปเดตเป็น iOS 18 ดังต่อไปนี้ เป็นการแนะนำการตั้งค่าที่จำเป็นและการตั้งค่าใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับ iOS 18 ก็สามารถเลือกตั้งค่าในส่วนที่ต้องการได้เลย (ไม่จำเป็นต้องทำตามทั้งหมด)

รีเซ็ตการตั้งค่า หากเครื่องใช้งานไม่ปกติ

หลังจากที่ทำการอัปเดต iOS 18 ไปแล้ว อาจจะมีคนที่เจอปัญหาเแบตไหล เครื่องใช้งานไม่ปกติ แนะนำให้ทำการรีเซ็ตการตั้งค่า (Reset All Settings) 1 ครั้ง โดยเป็นการรีเซ็ตที่ข้อมูลไม่หาย แต่เราอาจจะต้องตั้งค่าบางอย่างใหม่ เช่น การเชื่อมต่อ Wi-Fi (แต่ถ้าใช้งานปกติไม่ต้องรีเซ็ตก็ได้)

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > ทั่วไป (General) > ถ่ายโอนหรือรีเซ็ต iPhone (Transfer or Reset iPhone) > รีเซ็ต (Reset)

รีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด (Reset All Setting) > ยืนยันการรีเซ็ตการตั้งค่าทั้งหมด

อัปเดตแอปให้รองรับการทำงานใน iOS 18

หลังจากนั้นก็อย่าลืมอัปเดตแอปที่เราใช้งานด้วย ซึ่งแอปต่าง ๆ ก็จะปล่อยอัปเดตเวอร์ชันใหม่ เพื่อรองรับการทำงานใน iOS 18 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ไปที่ App Store > แตะไอคอนโปรไฟล์ มุมบนขวา > ปัดหน้าจอลง 1 ครั้ง และไปยังส่วนรายการอัปเดต > แตะ อัปเดตทั้งหมด หรือจะเลือกอัปเดตแอปบางรายการที่ต้องการ

ตั้งค่าบัญชีการใช้งานและความปลอดภัย

1. ตั้งค่าและอัปเดตข้อมูล Apple Account

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Apple Account > เข้าไปตรวจสอบข้อมูลและตั้งค่าในส่วนที่สำคัญให้เรียบร้อย ว่ากรอกข้อมูลถูกต้องหรือไม่ ดังนี้

  • ชื่อ เบอร์โทร อีเมล : กรอกข้อมูลการติดต่อและข้อมูลส่วนตัว
  • รหัสผ่านและความปลอดภัย : แนะนำให้เปิดการตรวจสอบสิทธิ์สองปัจจัย
  • การชำระเงินและการจัดส่ง : ตั้งค่าข้อมูลบัตเครดิต การชำระเงิน และที่อยู่การจัดส่ง
  • การสมัครสมาชิก : ตรวจสอบแอปที่เคยสมัครรับ ถ้าไม่ได้ใช้งานก็ยกเลิกการสมัครรับได้

2. เช็คพื้นที่ iCloud

ใน iOS 18 ได้อัปเดตหน้า iCloud ใหม่ที่ดูเป็นระเบียบและดูง่ายมากขึ้น สำหรับใครที่ใช้พื้นที่บน iCloud ในการจัดเก็บข้อมูล ก็สามารถมาเช็คพื้นที่ว่ามีการใช้พื้นที่กับข้อมูลส่วนใดเยอะ สามารถจัดการลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นได้หรือไม่ หรือต้องอัปเกรดพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับการเก็บข้อมูลที่มากขึ้นหรือไม่

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > เลื่อนลงด้านล่าง แตะ iCloud > แตะพื้นที่จัดเก็บข้อมูล เพื่อเช็คว่าใช้พื้นที่กับข้อมูลส่วนใดบ้าง สามารถลบส่วนที่ไม่จำเป็นออกได้หรือไม่ เพื่อคืนพื้นที่ใช้งานมากขึ้น > หรือถ้าหากต้องเก็บข้อมูลที่จำเป็นไว้ แต่พื้นที่ iCloud เหลือน้อย ก็อาจจะเลือก เปลี่ยนแผนพื้นที่จัดเก็บข้อมูล เพื่ออัปเกรดพื้นที่เพิ่มมากขึ้น

3. เปิดตั้งค่าข้อมูลสำรอง iCloud

แนะนำให้เปิดการตั้งค่า “ข้อมูลสำรอง iCloud” เอาไว้ เพื่อให้ iPhone สำรองข้อมูลอัตโนมัติเสมอ เวลาที่เครื่องมีปัญหา เราจะได้เรียกคืนข้อมูลสำรองล่าสุดมาใช้งานได้

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > เลื่อนลงด้านล่าง แตะเมนู iCloud > แตะ ข้อมูลสำรอง iCloud > เปิด สำรองข้อมูล iPhone เครื่องนี้ (ถ้าหากเราใช้แพ็กเกจอินเทอร์เน็ต 4G/5G แบบไม่จำกัดก็สามารถเปิดการสำรองข้อมูลผ่านเซลลูลาร์ด้วยได้)

4. เปิดการปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย

ตั้งแต่ iOS 17 ได้มีการเปิดตัวฟีเจอร์ปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย (Stolen Device Protection) ที่ใช้ Face ID ของเราล็อกไม่ให้โจรเข้าไปเปลี่ยนการตั้งค่าต่าง ๆ ในเครื่อง เพื่อขโมยเครื่องของเราไปแบบโดยสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าโจรจะรู้รหัสผ่านเข้าเครื่อง แต่การตั้งค่าต่าง ๆ ก็จะถูกล็อคด้วยการยืนยันตัวตนอีกชั้นหนึ่ง จะทำงานเมื่อ iPhoen ของเราอยู่ในตำแหน่งที่ไม่คุ้ยเคย

ไปที่การตั้งค่า (Settings) > Face ID และรหัส > ปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย > เปิดใช้งาน ปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย และอาจจะเลือกให้ฟีเจอร์นี้ทำงานเมื่อ iPhone ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ตั้งที่คุ้ยเคย

5.  เปิดค้นหา iPhone ของฉัน

แนะนำให้เข้าไปเปิดการตั้งค่าทุกอย่าง โดยเฉพาะ เครือข่าย “ค้นหาของฉัน” ที่เป็นฟีเจอร์ที่เราสามารถค้นหา iPhone ได้แม้จะถูกปิดเครื่อง เวาลาที่เครื่องหายหรือถูกขโมย เราจะได้ใช้แอป Find My ช่วยค้นหาตามแหน่งที่ตั้งได้ ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Apple ID > ค้นหาของฉัน (Find My)

แตะ ค้นหา iPhone ของฉัน (Find My iPhone) > เปิด ค้นหา iPhone ของฉัน (Find My iPhone)

ถ้าหากเปิด “การปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย” ไว้ตามข้อ 4 จะส่งผลให้ Find My iPhone เปิดใช้งานอัตโนมัติ เราจะไม่สามารถปิดใช้งานได้ดังรูป แต่ถ้าไม่ได้เปิดการปกป้องอุปกรณ์เมื่อถูกขโมย เราก็สามารถเปิดใช้งาน Find My iPhone เองได้ปกติ

แนะนำให้เปิด เครื่องข่าย “ค้นหาของฉัน” ด้วย เพื่อช่วยให้ค้นหา iPhone ได้แม้ว่าเครื่องออฟไลน์ รวมถึงเปิด ส่งตำแหน่งที่ตั้งล่าสุดไว้ด้วย เพื่อให้ iPhone ส่งตำแหน่งที่ตั้งล่าสุดไปที่ Apple เมื่อพบว่าแบตเหลือน้อย

6. ตั้งค่ารหัสผ่านในแอป Passward ใหม่

ใน iOS 17 ได้แยกส่วนของจัดการรหัสผ่าน (Password) ออกมาเป็นแอปใหม่ จากเดิมจะเป็นส่วนหนึ่งของการตั้งค่า ซึ่งเราสามารถเข้าไปจัดการรหัสผ่านต่าง ๆ ที่เคยบันทึกไว้อย่างสะดวกในแอปรหัสผ่านที่เดียว ลองเข้าไปเช็คดูว่ารหัสผ่านของบัญชีไหนมีการอัปเดตใหม่บ้าง และรหัสผ่านใดบ้างที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย

ไปที่ แอปรหัสผ่าน (Password) > แตะ ทั้งหมด เพื่อตรวจสอบหัสผ่านของแต่ละบัญชี หากมีการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่แล้วยังไม่ได้อัปเดต ก็สามารถเข้าไปอัปเดตในแต่ละบัญชีได้เลย

นอกจากนี้ เรายังสามารถตรวจสอบรหัสผ่านที่มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัย โดยแตะเลือกส่วนของ ความปลอดภัย > เช็คดูว่ารหัสผ่านแต่ละรายการได้รับความเสี่ยงด้านไหน และทำการเปลี่ยนรหัสผ่านใหม่ให้ปลอดภัยมากขึ้น

7. ตั้งค่า Face ID และ Touch ID

ตั้งค่ารหัสปลดล็อคเครื่อง, เพิ่ม Face ID และ Touch ID เพื่อความปลอดภัยในการเข้าถึงข้อมูลในเครื่อง สำคัญมาก!

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Face ID และรหัส (ใน iPhone ที่มีปุ่มโฮมจะเป็น TouchID และรหัส (Touch ID & Passcode) > ป้อนรหัสผ่านปลดล็อคเครื่อง 6 หลัก > แตะเปิด ปลดล็อค iPhone และตั้งค่า Face ID ให้เรียบร้อย > หากมี Apple Watch ก็สามารถเปิดการปลดล็อค iPhone ด้วย Apple Watch ได้ เพื่อความสะดวกในงานเข้าใช้งานเครื่องมากขึ้น

สามารถตั้งค่าเปิดให้ใช้งาน Face ID หรือ Touch ID สำหรับข้อมูล iTunes Store และ App Store, Contactless และการชำระเงิน, การป้อนรหัสผ่านอัตโนมัติ และการสแกนก่อนเข้าถึงแอปอื่น ๆได้

8. อัปเดตข้อมูลส่วนตัวและตั้งค่า ID ทางแพทย์

การตั้งค่า ID ทางแพทย์ จะเป็นข้อมุลส่วนตัวของเจ้าของเครื่อง เตรีนมพร้อมไว้สำหรับเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉินกับตัวเรา ซึ่งเป็นขอมูลที่จำเป็นมาก ๆ โดยเฉพาะ ข้อมูลกรุ๊ปเลือด ยาที่แพ้ รวมถึงเบอร์โทรสำหรับติดต่อฉุกเฉิน

ไปที่ สุขภาพ (Health) > แตะโปรไฟล์ มุมบนขวา

รายละเอียดสุขภาพ > ดูข้อมูลส่วนตัวให้เรียบร้อยว่าถูกต้องหรือไม่ หากอยากปรับข้อมูลให้ถูกต้องก็แตะแก้ไขมุมบนขวา แล้วแก้ไขข้อมูลได้เลย

นอกจากนี้ ควรอัปเดตข้อมูลทางการแพยท์ด้วย โดยแตะ ข้อมูลทางการแพทย์ > เปิด แสดงขณะล็อคอยู่ เพื่อเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้ช่วยเหลือจะได้เข้าถงข้อมูลเราได้ > ป้อนข้อมูลที่จำเป็นให้เรียบร้อย โดยเฉพาะรายชื่อติดต่อฉุกเฉิน ที่เป็นคนในครอบครัวเราหรือบุคคลสำคัญ รวมถึงโรคประจำตัวต่าง ๆ โน้ตสำคัญ และแนะนำว่าให้อัปเดต ส่วนสูง น้ำหนัก ให้เป็นข้อมูลปัจจุบันด้วย เพื่อให้การวัดค่าสุขภาพมีความแม่นยำ

ตั้งค่าจอภาพและการแสดงผล

1. ปรับโทนสีไอคอนและขนาดแอปบนหน้าโฮม

ใน iOS 18 ผู้ใช้สามารถปรับแต่งหน้าจอโฮมได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดเรียงแอปแบบอิสระ การปรับขนาดแอปให้เล็กหรือใหญ่ การปรับโทนสีของแอปที่แสดง เราชมวิธีการปรับแต่งง่าย ๆ กัน

ไปที่หน้าโฮม แตะหน้าจอค้างไว้คนไอคอนเคลื่อนไหว > แตะปุ่ม แก้ไข > แตะ กำหนดเอง > ปรับแต่งไอคอนแอปด้านล่าง

เลือกโทนสีของไอคอนแอป เป็นแบบ สว่าง มืด หรืออัตโนมัติตามเวลากลางวันและกลางคืน > สามารถแตะไอคอนรูปพระอาทิตย์มุมซ้าย เพื่อปรับโทนสีพื้นหลังเป็นสว่างและมืดได้ > ปรับขนาดไอคอนแอปแบบเล็กหรือใหญ่ (ถ้าเป็นขนาดใหญ่ จะไม่แสดงชื่อแอป) > สามารถย้อมสีไอคอนแอปตามที่ต้องการได้ด้วย

นอกจากนี้ เรายังสามารถย้ายแอปและวิดเจ็ตไปวางยังจุดต่าง ๆ  ได้อย่างอิสระ โดยเว้นช่องว่างได้แล้ว เพียงแค่แตะค้างที่แอปหรือวิดเจ็ต จากนั้นก็ย้ายไปจุดที่ต้องการได้เลย

2. ปรับแต่งวิดเจ็ตบนหน้าจอโฮม

ใน iOS 18 ผู้ใช้สามารถขยายขนาดวิดเจ็ตบนหน้าจอโฮมได้ง่าย ๆ  เพียงแค่แตะหน้าโฮมค้างไว้ จนแอปเคลื่อนไหว จากนั้นก็ลากมุมขวาล่างของวิดเจ็ต เพื่อปรับขนาดตามที่ต้องการได้เลย (ขึ้นอยู่กับว่าวิดเจ็ตนั้นจะรองรับการแสดงผลกี่ขนาด) เมื่อปรับขนาดแล้ว ให้แตะเสร็จสิ้น

ถ้าหากต้องการเพิ่มวิดเจ็ตใหม่ ก็สามารถแตะปุ่ม แก้ไข ด้านมุมบนซ้าย แล้วเลือก เพิ่มวิดเจ็ต และเลือกวิดเจ็ตที่ต้องการมาแสดงได้เลย

3. เปลี่ยนส่วนควบคุมบนหน้าจอล็อค

ใน iOS 18 ยังเพิ่มอิสระให้กับผู้ใช้มากขึ้นไปอีก ด้วยการปรับแต่งส่วนควบคุมบนหน้าจอล็อค จากเดิมที่เคยเป็นไฟฉายและกล้อง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนเป็นส่วนควบคุมอื่นได้ ตอนนี้สามารถเลือกส่วนควบคุมอื่นมาแทนได้แล้ว โดยเราอาจจะเลือกส่วนควบคุมที่เราใช้บ่อยมาตั้งค่าในหน้าจอล็อค

แตะค้างที่หน้าจอล็อค > เลือก ปรับแต่ง > เลือก หน้าจอล็อค

แตะ ลบที่ไอคอนไฟฉายหรือกล้อง > แตะ ปุ่ม + > เลือกตัวควบคุมที่ต้องการได้เลย

เมื่อปรับแต่งตัวควบคุมที่ต้องการแล้ว ให้แตะเสร็จสิ้น เราก็จะได้ตัวควบคุมบนหน้าจอล็อคใหม่ ที่ทำให้เราเข้าถึงส่วนที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

4. ปรับแต่ง Control Center ใหม่

ใน iOS 18 ก็สามารถปรับเปลี่ยน Control Center ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการย้ายเมนู การปรับขนาด การเพิ่มและลบเมนูต่าง ๆ ตามที่ต้องการ

ปัดหน้าจอมุมบนขวาลงเมื่อ เพื่อเปิดหน้า Control Center > แตะ ไอคอน + > สามารถแตะไอคอนส่วนควบคุม แล้วลากเพื่อย้ายไปยังตำแหน่งที่ต้องการได้เลย

นอกจากนี้ ยังสามารถเพิ่มหรือลดขนาดของส่วนควบคุมบางตัวได้ ด้วยการแตะมุมล่างขวา แล้วลากเข้าออก เพื่อขยายหรือย่อได้เลย

ถ้าหากต้องการเพิ่มตัวควบคุมอื่น ๆ เข้ามาบนหน้าจอ ก็แตะ เพิ่มตัวควบคุม แล้วเลือก ตัวควบคุมที่ต้องการ

5. ตั้งค่าวอลเปเปอร์ใหม่และเพิ่มวิดเจ็ตหน้าจอล็อค

ใน iOS 18 ได้เพิ่มหน้าวอลเปเปอร์ใหม่ในธีม iOS 18 มีให้เลือกหลายสีสัน สามารถตั้งค่าได้ดังนี้

แตะหน้าจอล็อคค้างไว้ > ปัดหน้าจอไปทางซ้ายสุด แล้วแตะไอคอน + > เลื่อนลงมาที่หน้าวอลเปเปอร์ iOS 18 แล้วเลือกโทนสีที่ต้องการ

จากนั้นก็แตะ เพิ่มวิดเจ็ต แล้วเลือกวิดเจ็ตที่ต้องการแสดงให้หน้าจอล็อคสูงสุด 4 วิดเจ็ต กรณที่เป็นขนาดเล็ก (วิดเจ็ตหน้าจอล็อคนั้นมีมาตั้งแต่  iOS 17 แล้ว เผื่อว่าใครยังไม่ทราบก็ทำตามนี้ได้เลย)

นอกจากนี้ เรายังสามารถเปลี่ยนโทนสีได้ในระหว่างปรับแต่ง หากปรับแต่งเรียบร้อยแล้วก็แตะปุ่ม เพิ่ม ได้เลย จากนั้นก็เลือกตั้งค่าเป็นภาพพื้นหลังคู่ (หรือจะปรับแต่งหน้าโฮมแยกต่างหากเพิ่มเติมก็ได้) เราก็จะได้หน้าโฮมใหม่ในธีม iOS 18 พร้อมกับวิดเจ็ตที่แสดงข้อมูลในหน้าจอล็อค

6. แสดงจุดนำสายตาเมื่ออยู่บนรถ

ใน iOS 17 มาพร้อมฟีเจอร์ใหม่ชื่อว่า จุดนำสายตาเมื่ออยู่บนรถ ฟีเจอร์นี้ช่วยปรับการแสดงผลและการแจ้งเตือนให้สอดคล้องกับการใช้งานในรถ โดยมีจุดนำสายตาที่ชัดเจนขึ้น ช่วยลดอาหารลายตาและเมารถจากการเล่น iPhone ขณะเดินทางได้

ไปที่ การตั้งค่า > การช่วยการเข้าถึง > การเคลื่อนไหว > แสดงจุดนำสายตาเมื่ออยู่บนรถ

เลือกเป็นอัตโนมัติ เพื่อให้จุดนำสายตาแสดงเมื่อตรวจจับได้ว่าเรากำลังนั่งอยู่บนรถ หรือจะเลือกเปิด เมื่อต้องการใช้งานทันทีเลยก็ได้ หลังจากที่เปิดใช้งานแล้ว บนหน้าจอก็จะแสดงจุดนำสายตา เพื่อลดอาการเวียนหัวเวลาที่เราเล่นโทรศัพท์ระหว่างเดินทางบนรถ

7. ตั้งค่าการแสดงโหมดมืดและโหมดสว่าง

เราสามารถตั้งค่าให้หน้าจอ iPhone แสดงผลเป็บแบบโหมดมืดและโหมดสว่างอัตโนมัติได้ เมื่อถึงตอนเช้าหรือกลางวันก็จะเป็นโหมดสว่าง เมื่อถึงตอนค่ำหรือกลางคืนก็จะแสดงเป็นโหมดมืด ตั้งค่าได้ดังนี้

ไปที่การตั้งค่า (Settings) > จอภาพและความสว่าง (Display & Brightness) > เปิด อัตโนมัติ

8. ปรับความสว่างหน้าจออัตโนมัติ

การเปิด Auto-Brightness (ปรับความสว่างอัตโนมัติ) ช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้ เพราะเซ็นเซอร์วัดแสงจะทำการปรับแสงของหน้าจอเพิ่มขึ้นและลดลงตามสภาพแวดล้อมของเราให้เหมาะสม ทำให้อุปกรณ์ไม่ต้องใช้แบตเตอรี่สูงตลอดเวลา

ไปที่ การตั้งค่า > การช่วยการเข้าถึง > จอภาพและขนาดข้อความ > ปรับความสว่างอัตโนมัติ

ตั้งค่าด้านแบตเตอรี่

1. ตั้งค่าแสดงเปอร์เซ็นแบตเตอรี่

หลังจากที่อัปเดต iOS 18 แล้วพบว่าในส่วนของการแสดงแบตเตอรี่ด้านบนไม่แสดงจำนวนเปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่คงเหลือ ให้เราไปเปิดตั้งค่าได้ที่  การตั้งค่า (Settings) > แบตเตอรี่ (Battery) > เปิด เปอร์เซ็นต์แบตเตอรี่

2. ตั้งค่าขีดจำกัดการชาร์จ

ใน iOS 18 ได้มีการเพิ่มขีดจำกัดการชาร์จใหม่ ซึ่งฟีเจอร์นี้จะช่วยป้องกันการชาร์จเกินขนาด โดยแนะนำขีดจำกัดการชาร์จที่เหมาะสมสำหรับการยืดอายุแบตเตอรี่ของ iPhone ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะให้มีการชาร์จสูงสุดที่กี่ % รองรับบน iPhone 15 ขึ้นไป

ไปที่  การตั้งค่า (Settings) > แบตเตอรี่ (Battery) > การชาร์จ > เลื่อนกำหนด ขีดจำกัดการชาร์จที่ต้องการ

3. ตั้งค่าการชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่

การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่ เป็นการเปิดให้ iPhone เรียนรู้การชาร์จแบตเตอรี่รายวันของเรา และจะหยุดการชาร์จเมื่อแบตเตอรี่เกิน 80% จนถึงเวลาที่เราต้องใช้เครื่อง เพื่อถนอมอายุการใช้งานแบตเตอรี่ให้อยู่กับเรานานขึ้น ฟีเจอร์นี้จะเปิดใช้งานได้ เมื่อเราตั้งค่าจำกัดขีดการชาร์จเป็น 100% เท่านั้น

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > แบตเตอรี่ (Battery) > สุขภาพแบตเตอรี่ (Battery Health) > เปิด การชาร์จเพื่อถนอมแบตเตอรี่

 

4. ตั้งค่าการดึงข้อมูลแอปอยู่เบื้องหลัง

แอปไหนที่ไม่จำเป็นต้องมีการอัปเดตข้อมูลเบื้องหลังตลอดเวลา เราก็สามารถเข้าไปปิดการดึงข้อมูลแอปอยู่เบื้องหลังได้ เพื่อให้เครื่องประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น

การตั้งค่า > ทั่วไป > ดึงข้อมูลแอปจากเบื้องหลัง > เลื่อนปิดแอปที่ไม่ต้องการให้ดึงข้อมูล

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

1. ตั้งค่าการล็อคแอปและซ่อนแอป

ใน iOS 18 มาพร้อมฟีเจอร์การล็อคแอปและซ่อนแอปใหม่ เพิ่มความเป็นส่วนตัวให้ผู้ใช้มากขึ้น โดยการล็อคแอปจะช่วยป้องกันการเข้าถึงแอปด้วยการยืนยันตัวตน Face ID ก่อนเข้าแอป ส่วนการซ่อนแอปคือการย้ายแอปไปไว้ในโฟลเดอร์ซ่อน ซึ่งแอปจะไม่แสดงบนหน้าโฮม คลังแอป และการค้นหา

การล็อคแอปทำได้โดย แตะค้างที่แอปบนหน้าโฮม เลือก ต้องใช้ Face ID > แตะ ต้องใช้ Face ID หลังจากที่ล็อคแอปแล้ว การเข้าแอปนั้นครั้งถัดไป จะต้องมีสแกน Face ID หรือป้อนรหัสผ่านก่อนทุกครั้ง

ส่วนการซ่อนแอป สามารถแตะ ซ่อนและต้องใช้ Face ID ได้เลย > แตะ ซ่อนแอป > แอปจะถูกย้ายไปที่โฟลเดอร์ ซ่อนอยู่

และแอปก็จะไม่แสดงบนหน้าโฮม ไม่แสดงในคลังแอป รวมถึงค้นหาใน Spotlight Search ไม่พบ หากต้องการให้แอปกลับมาแสดง ต้องไปที่โฟลเดอร์ซ่อนอยู่ ในคลังแอป แล้วสแกน Face ID เพื่อเปิดโฟลเดอร์ซ่อน จากนั้นแตะค้างที่แอป แล้วเลือก ไม่ต้องใช้ Face ID

2. ตั้งค่าที่อยู่ Wi-Fi แบบส่วนตัว

ใน iOS 17 ได้เพิ่มฟีเจอร์ด้านความปลอดภัยใหม่สำหรับการใช้ Wi-Fi คือ การสลับใช้ Wi-Fi Address (Rotate Wi-Fi Address) เพื่อสลับเปลี่ยนที่อยู่ Wi-Fi Address โดยอัตโนมัติแบบสุ่มเวลา ลดการติดตาม ให้ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Wi-Fi > แตะ i ที่ Wi-Fi ที่ใช้งาน

แตะ ที่อยู่ Wi-Fi แบบส่วนตัว > แตะ สลับใช้

3. ตั้งค่าบริการหาตำแหน่งที่ตั้ง

บางแอปอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้บริการหาตำแหน่งที่ตั้งอยู่ตลอดเวลา ซึ่งการเปิดฟีเจอร์นี้ไว้อาจจะทำให้เปลืองแบตเตอรี่ ดังนั้นเราก็เลือกเปิดใช้งานสำหรับแอปที่จำเป็น

ไปที่ การตั้งค่า (Settings) > ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย (Priavacy & Security) > บริการหาตำแหน่งที่ตั้ง (Location Services)

เลือกแอปด้านล่าง > ปรับตั้งค่าให้เป็นในระหว่างใช้แอป สำหรับแอปที่จำเป็นต้องใช้ตำแหน่งที่ตั้ง และปรับเป็นไม่เลย สำหรับแอปที่ไม่ต้องใช้ตำแหน่งที่ตั้ง ส่วนแอปที่ยังไม่แน่ใจก็สามารถตั้งเป็น ถามครั้งถัดไปเมื่อฉันแชร์ได้

4. ตั้งค่าการเข้าถึงรายชื่อแบบจำกัดในแต่ละแอป

ใน iOS 18 ได้เพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้นด้วยการให้ผู้ใช้สามารถจำกัดการเข้าถึงรายชื่อผู้ติดต่อในแต่ละแอปได้โดยตรง ระบุได้ว่าแอปไหนสามารถเข้าถึงผู้ติดต่อรายใดได้บ้าง

ไปที่ การตั้งค่า > ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย > รายชื่อ > เลือกแอปที่ต้องการกำหนดการเข้าถึงรายชื่อแบบจำกัด

เลือก การเข้าถึงแบบจำกัด > เพิ่มรายชื่อหรือแก้ไขรายชื่อที่เลือก จากนั้น เลือกรายชื่อที่อนุญาตให้แอปเข้าถึงได้เลย

5. ตั้งค่าอนุญาตการติดตามของแอป

การติดตามเป็นการอนุญาตให้แอปติดตามกิจกรรมบนแอปและเว็บไซต์ของเราได้ หากเราเคยเปิดให้มีการติดตามไว้ และตอนนี้อยากจะหยุดในแอปหรือเว็บไซต์ติดตามก็สามารถเข้าไปปิดได้

ไปที่ การตั้งค่า > ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัย > การติดตาม > หากต้องการปิดการติดตามทุกแอป ให้แตะปิด อนุญาตให้แอปขอติดตาม

แต่ถ้าต้องการปิดการติดตามบางแอป ก็เปิด การอนุญาตให้แอปติดตามไว้ แล้วมาเลือกปิดหรือเปิด การติดตามในแต่ละแอปด้านล่าง

ตั้งค่าด้านความสะดวกในการใช้งาน

1. ตั้งค่าปุ่ม Action

ปุ่ม Action ใน iOS 18 ได้มีการเพิ่มตัวควบคุมเข้ามาใหม่ ให้ผู้ใช้สามารถเลือกตัวควบคุมอื่น ๆ มาไว้ในการทำงานบนปุ่ม Action ให้เข้าถึงได้รวดเร็วมากขึ้น

ไปที่การตั้งค่า > ปุ่มแอ็คชั่น > เลื่อนไปยัง ตัวควบคุม แล้วแตะ เลือกตัวควบคุม

เลือกตัวควบคุม ที่ต้องการหรือสลับใช้งานบ่อย

2. ตั้งค่าปุ่มค้นหา Spotlight บนหน้าโฮม

สำหรับใครที่เคยซ่อนส่วนค้นหา Spotlight Search แล้วต้องการให้กลับมาแสดงบนหน้าโฮม ก็สามารถตั้งค่าเปิดการแสดงผลได้

ไปที่ การตั้งค่า > หน้าจอโฮมและคลังแอป > ในส่วนค้นหา ให้เปิด แสดงบนหน้าจอโฮม (แต่ถ้าใครไม่อยากให้ส่วนค้นหาแสดง เนื่องจากมือปัดไปโดนบ่อย ๆ ก็ปิดใช้งานไว้ได้ ส่วนค้นหาก็จะแสดงไอคอนจุดที่เป็นจำนวนหน้าโฮมแทน)

3. ตั้งค่าการป้อนรหัสผ่านอัตโนมัติ

สำหรับใครที่มีการบันทึกรหัสผ่านและพาสคีย์ไว้ ก็สามารถปิดใช้การป้อนรหัสผ่านอัตโนมัติได้ เพื่อให้การล็อคอินบัญชีในแอปหรือเว็บไซต์ต่าง ๆ ง่ายและรวดเร็วมากขึ้น

ไปที่ การตั้งค่า > ทั่วไป > ป้อนอัตโนมัติและรหัสผ่าน > เปิดใช้งาน ป้อนรหัสผ่านและพาสคีย์อัตโนมัติ และด้านล่างก็เลือกเปิดใช้งานการป้อนอัตโนมัติตามแอปที่ต้องการ

4. ตั้งค่าลบรหัสตรวจสอบยืนยันอัตโนมัติ

ตั้งแต่ iOS 17 มีฟีเจอร์ที่จะช่วยลบ OTP หรือรหัสยืนยันแบบใช้ครั้งเดียวอัตโนมัติ เพื่อให้กล่องข้อความ Message ของเราไม่เต็มไปด้วยรหัสผ่านยืนยัน สำหรับใครที่ยังไม่เคยเปิดใช้งาน ก็ทำตามนี้ได้เลย

ไปที่ การตั้งค่า > ทั่วไป > ป้อนอัตโนมัติและรหัสผ่าน > ส่วน ตรวจสอบยืนยัน ให้เปิดใช้งาน ลบหลังจากใช้งาน

5. ตั้งค่า Siri

ตั้งค่า Siri ให้ใช้งานได้ง่ายขึ้น รวมถึงเลือกสเสียง Siri ใหม่ได้แล้ว โดยไปที่ การตั้งค่า (Settings) > Siri

  • เลือกภาษาของ Siri ว่าต้องการจะสื่อสารกันด้วยภาษาอะไร (หากต้องการใช้ Apple Intelligence ในอนาคต จะต้องตั้งค่าภาษา Siri ให้เป็นภาษาอังกฤษ)
  • ตั้งค่าพูดคุยกับ Siri หรือ หวัดดี Siri เพื่อเรียกใช้ Siri ด้วยเสียงง่าย ๆ และอาจจะเปิดใช้งานการกดปุ่มด้านข้างเพื่อเรียก Siri ด้วยก็ได้
  • เปิด อนุญาต Siri ในระหว่างล็อคอยู่ (เผื่อลืมหรือวางโทรศัพท์ไว้ในห้องแต่หาไม่เจอ ก็จะสามารถเรียกหาได้)
  • ตัวเลือกเสียง Siri สำหรับภาษาไทยมี 2 เสียงด้วยกัน มีทั้งเสียงผู้หญิง และเสียงผู้ชาย
  • ตั้งค่า การโต้ตอบของ Siri เพื่อให้ Sriri พิจารณาว่าจะพูดโต้ตอบอัตโนมัติเมื่อไหร่

6. การปรับแต่งแป้นพิมพ์

หากเรารีเซ็ตการตั้งค่าแล้วแป้นพิมพ์บางอย่างหายไป เช่น อิโมจิ ก็สามารถเข้าไปเพิ่มภาษาสำหรับแป้นพิมพ์เพิ่มเติม ได้ที่

การตั้งค่า (Settings) > ทั่วไป (General) > แป้นพิมพ์ (Keyboard) > แป้นพิมพ์ (Keyboard)

เพิ่มแป้นพิมพ์ใหม่ (Add New Keyboard…) > ค้นหา แป้นพิมพ์ที่ต้องการ และเลือก

บนแป้นพิมพ์ก็จะแสดงอิโมจิ หรือแป้นพิมพ์ภาษาอื่น ๆ ที่เราตั้งค่าเพิ่มเข้ามา นอกจากนี้ เรายังสามารถตั้งค่าแป้นพิมพ์ให้ใช้สะดวกมากขึ้น เช่น การปิดการแก้ไขคำผิดอัตโนมัติ เปิดการคาดเดาคำ แสดงผลลัพธ์คณิตศาสตร์ เมื่อใช้ในแอปโน้ต เป็นต้น ก็ลองตั้งค่ากันดู

และทั้งหมดนี้ก็เป็นการตั้งค่าหลังอัปเดตเป็น iOS 18 ที่แนะนำ ซึ่งมีทั้งการตั้งค่าที่เคยมีอยู่แล้ว และการตั้งค่าปรับแต่งสิ่งใหม่ ๆ ที่เพิ่มเข้ามาใน iOS 18 ลองเลือกตั้งค่าให้เหมาะสมกับการใช้งานของตนเองดูนะ!

ความคิดเห็น - Like เพจ iPhoneMod.net

เขียนโดย Zakura Kim

Bachelor degree of science, Software engineering major, Payap University