ทุกๆ ครั้งเมื่อมีการเปิดตัว iPad บนเวทีของ Apple เรามักจะเห็นการนำเสนอในเรื่องที่เกี่ยวการศึกษาซึ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า iPad ที่ผลิตขึ้นมานั้น Apple มีเป้าหมายอีกกลุ่มที่ค่อนข้างชัดเจนก็คือการใช้งานร่วมกับระบบการศึกษา “แล้วจะนำมาใช้กับระบบการศึกษาอย่างไร?” โดยเฉพาะประเทศไทยจะเป็นไปได้มากน้อยเท่าไหร่ วันนี้ทีมงานได้มีโอกาสพาไปชมโรงเรียนในประเทศไทยที่นำ iPad มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง จะน่าสนใจแค่ไหนไปติดตามกันครับ
iPad Pro กับการใช้งานในด้านการศึกษาในระบบจริง ณ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทีมงานได้เดินทางไปยังโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประถม เพื่อร่วมชมวิธีการและแนวทางที่โรงเรียนแห่งนี้ได้นำอุปกรณ์ iPad มาเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยในด้านการเรียนการสอนซึ่งก็ได้ข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง ทีมงานขอสรุปประเด็นเป็นข้อๆ ให้อ่านกันจะได้เข้าใจง่ายๆ ครับ
พร้อมแล้วไปติดตามกันเลย
1. ทำไมต้องเป็น iPad?
ผศ.ทินกร บัวพูล ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุ
2. ที่นี่ใช้ iPad สอนชั้นไหน วิชาอะไรบ้าง?
ตั้งแต่ ป. 1-6 ซึ่งจะใช้กับทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้สลับกันไป เช่น ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, การงานอาชีพและเทคโนโลยี, วิทยาศาสตร์, ศิลปะ, พละศึกษา, อังกฤษ และ สังคม ซึ่งการนำ iPad มาใช้ในการเรียนการสอนนั้นไม่ได้หมายถึงการนำมาแทนที่สื่อการสอนเดิมอย่าง หนังสือ สมุด ที่มีอยู่ แต่เป็นการเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อให้ผู้เรียนนั้นได้เห็นอะไรที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เช่น ในวิชาวิทยาศาสตร์คุณครูจะให้นักเรียนใช้ iPad เพื่อถ่ายวิดีโอ Slowmotion จับความเคลื่อนไหวของไม้บรรทัดแล้วนำมาวิเคราะห์เพื่อหาความถี่ของการสั่นนั้นได้ ซึ่งจะได้ผลดีกว่าการสังเกตด้วยตาเปล่า เป็นต้น
3. iPad ที่ใช้งานมีรุ่นไหนบ้าง?
ณ ปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ได้แก่ iPad Air และ iPad Pro รวมกันประมาณ 80 เครื่อง ซึ่งจะแบ่งสัดส่วนให้อาจารย์ผู้สอนครึ่งหนึ่งและนักเรียนอีกครึ่งหนึ่ง สาเหตุที่ต้องเน้นที่อาจารย์ผู้สอนก่อนเพราะว่า ถ้าหากผู้ที่จะสอนนักเรียนนั้นใช้งานไม่เป็นก็คงจะสอนคนอื่นไม่ได้ ทั้งนี้อาจารย์นอกจากต้องใช้อุปกรณ์ให้เป็นแล้วยังต้องนำ iPad ไปสร้างสื่อการเรียนการสอนให้เด็กอีกด้วย สำหรับผู้เรียนนั้นการใช้งานก็จะผลัดเปลี่ยนกันใช้บ้างก็ใช้ร่วมกันเป็นกลุ่มจะไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งใช้ตลอดเวลา
4. แอปพลิเคชันที่ใช้ทำการเรียนการสอน
จะใช้ 5 แอปหลักในการเรียนการสอน เช่น หากต้องการนำเสนอก็จะใช้ Keynote สร้างเอกสารการนำเสนอซึ่งเป็นทั้งสไลด์ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหวใส่เข้าไปเพื่อดึงดูความสนใจจากผู้เรียนมากขึ้น, ใช้แอปสำหรับการทำหนังสือสื่อการสอน, iTunes U, ใช้ iMovie สำหรับการตัดต่อคลิปวิดีโอที่ถ่ายด้วย iPad, ใช้แอป Book Creator, Swift Playground สำหรับสอนพื้นฐานการเขียนโปรแกรม, Kahoot สำหรับการสร้างระบบคำถามคำตอบเพื่อทดสอบและประเมินผลของผู้เรียนในชั้นเรียน
5. คิดว่ากระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กมั้ย เช่น ติดการใช้ iPad
ทางโรงเรียนตระหนักถึงปัญหานี้เสมอและให้ความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ ทางโรงเรียนจึงยึดหลัก “การเฝ้าระวังและการใช้งานอย่างสมดุล” ทำให้ที่ผ่านๆ มาไม่ทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ขึ้น อีกทั้งการใช้ iPad ในการเรียนนั้นโรงเรียนจะไม่ได้ให้ iPad ติดตัวอยู่กับเด็กตลอดเวลา หากจะใช้งานนั้นก็ต้องเข้าเรียนวิชานั้นๆ และมีระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสมแค่ใช้ในช่วงการเรียนก็ไม่มีเวลาให้เด็กไปเล่นอย่างอื่นแล้ว
6. คาดหวังว่าเมื่อเด็กใช้ iPad Pro มาประกอบการเรียนการสอน จะเอาสิ่งที่ได้ไปต่อยอดได้ตรงจุดไหนบ้าง
ทางโรงเรียนคาดหวังเรื่องครูผู้สอนก่อนเพื่อให้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นก่อนที่จะไปสอน แล้วค่อยไปโฟกัสที่นักเรียนเด็กจะรู้สึกสนุกกับการเรียนรู้ ด้วยความที่โรงเรียนสาธิตคือโรงเรียนต้นแบบที่ต้องพัฒนา ปรับปรุงและลองอะไรใหม่ๆ หากการทำเช่นนี้ประสบความสำเร็จก็จะสามารถขยายออกไปสู่โรงเรียนอื่นๆ ได้
7. สื่อการสอนเก่าและสื่อการสอนใหม่ ทำงานร่วมกันอย่างไร?
โรงเรียนจะแบ่งสัดส่วนให้นักเรียนใช้สื่อการเรียนแบบเก่าเทียบกับแบบใหม่ในสัดส่วน 80 ต่อ 20 นั่นหมายถึงว่า นักเรียนก็ยังคงต้องอ่านหนังสือ ต้องฝึกเขียนด้วยดินสอปากกาและเข้าห้องสมุดในการค้นหาข้อมูล ส่วนการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ด้วยก็เป็นการเพิ่มโอกาสให้นักเรียนได้เห็นอะไรที่แปลกใหม่ เช่น การค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตที่สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว, การให้ตัวอย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นภาพคลื่นไหวทำให้ผู้เรียนเห็นแล้วเข้าใจ สิ่งนี้จะช่วยให้การเรียนรู้นั้นมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
สรุป
ได้เห็นกันไปแล้วว่าหาก iPad นั้นได้นำมาใช้ในการศึกษาอย่างจริงจังจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้สอนและผู้เรียนอย่างไร ด้วยความที่ iPad มีแอปพลิเคชันต่างๆ ให้เลือกติดตั้งอย่างมากมายและแอปสำหรับการศึกษานั้นก็มีหมวดหมู่แยกไว้โดยเฉพาะเช่นกัน ถ้าเราเลือกแอปที่เหมาะสมมาใช้งานก็จะทำให้ผู้สอนและผู้เรียนสนุกไปกับการเรียนรู้ที่ได้เห็นภาพที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเพิ่มจินตนาการให้การเรียนรู้ที่เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง
สำหรับการเรียนการสอนที่โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการใช้ iPad เข้าช่วยนั้นได้ดำเนินมากว่า 1 ปีแล้ว โรงเรียนได้เห็นความก้าวหน้าทั้งด้านบุคลากรคือตัวอาจารย์ผู้สอนที่ต้องพัฒนาตนเองให้ทันกับเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ในส่วนของผู้เรียนก็มีความสนุกในการเรียน ได้ไอเดียและจินตนาการใหม่ๆ ทำให้เป็นพื้นฐานในการนำไปต่อยอดในอนาคตของผู้เรียนได้ นั่นคือสิ่งที่เหล่าอาจารย์ได้ตั้งความหวังเอาไว้