iPadOS มาพร้อมฟีเจอร์ที่รองรับการเชื่อมต่อ USB Flashdrive รวมไปถึง External HDD มีข้อมูลที่ผู้ใช้ควรทราบเกี่ยวกับเรื่องนี้นั่นคือ File System ของ USB เหล่านั้นต้องใช้ตัวไหนจึงจะสามารถอ่านและเขียนได้เมื่อใช้งานร่วมกับ iPadOS
iPadOS รองรับ File System ใดบ้างของ USB Flash drive และ External Harddisk
File System คำนี้หลายคนอาจจะเคยได้ยินและคุ้นหูกันมาซึ่งในฝั่งของผู้ที่เรียนสายคอมพิวเตอร์จะเข้าใจดีว่าคืออะไร ส่วนผู้คนทั่วไปอาจจะรู้จักคำว่า NTFS, FAT, FAT32 ฯลฯ อะไรทำนองนี้มากกว่า คือจะบอกให้รู้ว่าพวก NTFS, FAT, FAT32, HFS, HFS+, APFS และอื่น ๆ นั่นคือ ชนิดของ File System ซึ่งตัวเก็บข้อมูลอย่าง Harddisk, Memery Card, หน่วยความจำ Flash Memory ใน Smartphone ฯลฯ ต่างจำเป็นต้องฟอร์แมตให้พื้นที่เก็บเป็น File System ประเภทใดประเภทหนึ่งในเองครับ
ขอตอบคำถามหลักของบทความนี้ก่อนเลยที่ถามว่าiPadOS รองรับ File System ใดบ้างของ USB Flash drive และ External HDD คำตอบคือ
FAT, FAT32, exFAT, Mac OS Extended (Journaled)
ส่วน NTFS, APFS นั้นไม่รองรับครับ
External Harddisk และ SD Card ควรฟอร์แมตใช้ File System อะไรดี?
NTFS
NTFS (New Technology File System) คือ ระบบการจัดเก็บไฟล์ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้กับ Windows NT จากทาง Microsoft รายละเอียดทางเทคนิคจะไม่ขอลงลึกนะครับ แต่ที่ผู้ใช้ที่ซื้อ External HDD (ฮาร์ดดิสเก็บข้อมูลแบบ USB) พอได้มาแล้วมักจะ Format ให้เป็น File System แบบ NTFS ผลที่ได้คือ นำไปเสียบกับคอมฯ ที่เป็น Windows ก็อ่านเขียนได้ปกติ แต่หากนำไปเชื่อมต่อกับ Mac จะจะอ่านได้อย่างเดียว (Read Only) โดยที่ไม่สามารถเขียนไฟล์กลับไปได้ ดังนั้นในฝั่งเครื่อง Mac ต้องติดตั้งแอปอย่าง Paragon NTFS ลงไปเมื่อให้เขียนไฟล์ลง External HDD ที่เป็น NTFS ได้นั่นเองครับ ดังนั้น NTFS จะเหมาะสำหรับ Harddisk ที่ติดตั้งภายเครื่องซึ่งความสามารถหรือฟีเจอร์ต่าง ๆ จะมาเต็มมากกว่า FAT32, exFAT (ที่กำลังจะกล่าวถึงในอันดับต่อไป)
FAT, FAT32 และ exFAT
FAT (File Allocate Table) เป็น File System ค่อนข้างที่จะเก่ามากใช้ตั้งแต่สมัย Floppy Disk สำหรับเก็บข้อมูลและมีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จนหลายคนคุ้นเคยกับคำว่า FAT32 ซึ่งปัจจุบันก็ยังพบว่า Memoey Card อย่าง SD Card บางตัวก็ยังใช้ File System เหล่านี้อยู่ ข้อเสียของ FAT32 คือเก็บไฟล์ที่ขนาดใหญ่กว่า 4GB ไม่ได้
จึงต่อยอดมาเป็น exFAT (Extended File Allocation Table) พัฒนาโดย Microsoft ที่เปิดตัวในปี 2006 โดยสิ่งที่ดีขึ้นมาอีกนั่นคือ exFAT สามารถรองรับการเขียนไฟล์ที่ขนาดใหญ่กว่า 4GB ได้ และที่สำคัญสามารถใชข้ได้กับ OS (Operation System) ได้หลายตัว ทั้ง Windows, macOS, Linux ฯลฯ
ดังนั้นจึงทำให้ exFAT กลายเป็น File System ที่ได้รับความนิยมสำหรับ USB Drive ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่นไฟล์ SD Card ขนาดที่ใหญ่อย่าง 32, 64, 128, 256GB เป็นต้น ทำให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้หลาย Platform ทั้ง Windows, macOS และ Linux รวมไปถึง iPadOS ที่กำลังกล่าวถึงเช่นกัน
ถ้าอย่างนั้นควรจะ Format Harddisk ให้เป็น exFAT ไปเลยสิ?
ก็ไม่ถูกเสมอไป เพราะหากว่าคุณใช้งาน External HDD ตัวนั้นกับ Windows โดยที่ไม่ต้องไปใช้กับ OS อื่น ๆ เลย NTFS ก็จะเหมาะสำหรับคุณ ส่วนใครที่มีความจำเป็นต้องใช้งาน External HDD ร่วมกับ OS อื่น ๆ อย่างเช่น Windows และ Mac อยู่เสมอ ก็แนะนำว่าให้ Format External HDD ตัวนั้นให้เป็น exFAT จะเหมาะสมมากกว่า อันนี้หมายถึงพวก SD Card จากกล้องถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอด้วยนะ
เชื่อมต่อ External HDD, USb Flahsdrive เข้าไป iPadOS แล้วทำอะไรได้บ้าง?
ในแอป File ที่มาพร้อมกับ iPadOS และ iOS 13 จะมองเห็นอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าไปในระบบ ทังนี้สามารถที่จะ
- เปิดไฟล์ เช่น ภาพ, วิดีโอ
- คัดลอกรูปภาพจาก Photos เข้ามาเก็บยัง External HDD, SD Card ได้
- Import รูปจาก External HDD, SD Card ไปตกแต่งในแอปและบันทึกได้โดยไม่ต้องคัดลอกไฟล์ลง iPad ก่อน
- Import Video ไปตัดต่อบนแอปได้ อย่างเช่น Lumafusion
- ไฟล์วิดีโอบางนามสกุลจะเปิดด้วยแอป File ไม่ได้ ต้องใช้แอป 3rd party ในการเปิด
- แตกไฟล์ ZIP หรือจะสร้าง ZIP ไฟล์ก็ทำได้
และความสามารถอื่น ๆ อีกมากมายต้องรอชมกันไปเรื่อย ๆ จน iPadOS จะเปิดตัวมาให้ใช้กันอย่างเป็นทางการปลายปีนี้ครับ
ต่อ USB Flashdrive และ External HDD เข้า iPadOS ต้องต่อไฟเพิ่มไหม?
จากการทดสอบร่วมกับ iPad Pro 2018 รุ่น USB-C ร่วมกับ DJI Fly drive พบว่า iPadOS สามารถมองเห็น External Harddisk ได้เลยโดยไม่ต้องต่อไฟเพิ่มแต่อย่างใด ทั้งนี้สิ่งที่เห็นเพิ่มเติมคือแบตเตอรี่ของ iPad จะลดลงค่อนข้างเร็วเนื่องจากต้องนำไฟไปใช้สำหรับ External Harddisk นั้น ส่วนความเร็วในการทำงานนั้น ณ iPadOS Developer beta 2 ยังถือว่า “พอทำได้” แต่ยังไม่รวดเร็วเท่าไหร่นัก ต้องรอดูกันต่อไปว่าใน iPadOS ตัวที่ปล่อยอย่างเป็นทางการในปลายเดือน ก.ย. 2019 นี้จะเป็นอย่างไร
ขอบคุณแหล่งข้อมูล Cultofmac, Wikipedia