หลังจาก Apple ได้เปิดตัว MacBook Air รุ่นใหม่ 2018 ด้วยดีไซน์ใหม่ทำให้หลายคนเริ่มหันมาสนใจมากขึ้น จาดที่แทบไม่เคยเปลี่ยนแปลงมาเลยตั้งแต่ 10 ปีก่อนหน้า โดยการออกแบบใหม่ผสมผสานความเป็น MacBook Pro มากยิ่งขึ้น MacBook Air (2018) กับ MacBook Pro ต่างกันอย่างไร มีอะไรเพิ่มเข้ามา แต่ราคาไม่สูงเท่า
ขนาดและน้ำหนัก
ในฐานะผู้ใช้งาน MacBook Air ตั้งแต่ยุคสมัยแรก ๆ ส่วนตัวผู้เขียนยอมรับว่ามัน “สมบูรณ์แบบ” ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหนัก ความสมดุล การใช้งานจริง ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยหลัก ที่ทำให้คนเลือกรุ่นนี้น่าจะเป็นเรื่องของ “น้ำหนัก” มาก่อนประสิทธิภาพ (รวมถึงราคาด้วยส่วนหนึ่ง) และจากสเปกเปรียบเทียบได้ดังนี้
- MBA รุ่นเก่า :1.45 กก.
- MBA รุ่นใหม่ : 1.35 กก.
ความต่างกันของสองรุ่นอยู่ที่ 1 ขีดพอดีเป๊ะ! หากคุณใส่เป้ก็คงไม่รู้สึกถึงถึงความต่างสักเท่าไหร่ แต่ถ้าถือระหว่างใช้งานจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง ส่วนความหนารุ่นใหม่บางลงประมาณเซนครึ่ง ก็นับว่าทำออกมาได้ค่อนข้างดี ดังนั้นหากคุณต้องการน้ำหนักและขนาดมาก่อน ก็สามารถเลือกซื้อรุ่นใหม่ได้แบบไม่ต้องสงสัย
ประสิทธิภาพ
น่าเสียดายที่รุ่นใหม่ไม่ได้เร็วแรงอะไรมากนัก โดยจากการทดสอบ คะแนนใกล้เคียง MacBook Pro (รุ่นเริ่มต้น) โดยถึงแม้จะเปลี่ยนเป็น Intel Core i5 Gen 8 แต่ก็ยังคงเป็น Dual-core และ DDR3L ทำให้หลายคนขัดใจ
- MBA รุ่นเก่า : Single-Core 3335 คะแนน, Multi-Core 6119 คะแนน
- MBA รุ่นใหม่ : Single-Core 4284 คะแนนและ Multi-Core 7828 คะแนน
- MBP 13″ : Single-Core 4314 คะแนน, Multi-Core 9071 คะแนน
- MBP 13″ (Touch Bar) : Single-Core 4504 คะแนน, Multi-Core 16464 คะแนน
แต่ถึงอย่างไรความเร็วก็ยังสูงกว่ารุ่นเก่าอยู่ดี (เว้นแต่คุณสั่งรุ่นเก่าที่เป็น Core i7) ดังนั้นเรื่องประสิทธิภาพจึงดีกว่าแบบไม่ต้องสงสัย นอกจากนี้ยังมีหน้าจอ Retina ที่สบายตากว่าเดิม ถึงแม้ว่าความเที่ยงตรงสีจะไม่เท่า MBP
ใช้งานจริง
จากประสบการณ์ผู้เขียนส่วนตัวค่อนข้างชอบคีย์บอร์ดของ Mac รุ่นเก่า เพราะพิมพ์ได้เร็วและเต็มไม้เต็มมือมากกว่า (แถมโอกาสเสียน้อยกว่า) รวมถึงยังคงประทับใจกับความปลอดภัยของปลั๊กแบบ MagSafe ที่ช่วยชีวิตเครื่องมาหลายครั้ง
ข้อเสียของ MacBook Air รุ่นใหม่ คงหนีไม่พ้นเรื่องพอร์ตการเชื่อมต่อ ที่แม้จะผ่านไปสักพักใหญ่แต่อุปกรณ์ Thunderbolt 3 หรือ USB-C ก็ยังไม่ค่อยแพร่หลายนัก ดังนั้นจึงหนีไม่พ้นเรื่อง “Adapter” นอกจากนี้ยังตัดช่องเสียบการ์ด SDXC ออกไปอีก
ข้อดีของ MacBook Air รุ่นใหม่ นอกเหนือจากสเปก ดีไซน์และหน้าจอ ซึ่งสามอันนี้โดดเด่นที่สุด ก็ยังคงมีเรื่องของแทร็คแพด Force Touch (จะว่าไปก็ไม่ค่อยได้ใช้) และยังคงมี Touch ID นอกนี้ยังคงมีอะแดปเตอร์แปลงไฟ USB-C ขนาด 30 วัตต์ ที่เล็กแถมใช้ร่วมกับอุปกรณ์ iOS อื่นได้
สุดท้ายในเรื่องของ Butterfly Keyboard (Gen 3) บางคนอาจมองเป็นข้อดี แต่ส่วนตัวผู้เขียนค่อนข้างไม่ชอบเอามาก ๆ เพราะปุ่มมันเตี้ยเกินไปหน่อย ทำให้สามารถพิมพ์ไม่สนุกและเร็วเท่าที่ควร ส่วนแบตเตอรี่น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน ถึงแม้ว่าตามสเปกจะบอกว่าดูหนังได้นานกว่า 1 ชั่วโมงก็ตาม
ราคาและโปรโมชั่น
MBA รุ่นเก่าราคาอยู่ที่ 35,900 บาท (และคุณอาจหาได้ถูกกว่านี้ เพราะมีจัดโปรโมชั่นค่อนข้างบ่อย) น่าเสียดายที่รุ่นเก่าไม่ได้ขายราคาเดิม เลยทำให้เราตัดสินใจยากขึ้นไปอีกเพราะส่วนต่างนั้นอยู่ที่ 7,000 บาท เพียงพอที่จะทำให้เราตัดสินใจซื้อรุ่นเก่าแล้วอัปเกรด SSD หรือ CPU ได้อย่างพอดี
ส่วนตัวมองว่าการที่ Apple ขึ้นราคาทำให้ตัดสินใจยากขึ้นมาก เพราะเงิน 42,900 บาท หากเอาไปซื้อของคู่แข่งที่เป็น Windows และเน้นบางเบาใกล้เคียงกัน ก็ยังได้เครื่องที่มีประสิทธิภาพสูงและข้อเสนอที่ดีกว่า (มาก) แต่เชื่อว่าอย่างไรเสียคุณคงชอบ Mac มากกว่า (ไม่งั้นคงไม่อ่านมาถึงตรงนี้)
สรุป
หากเป็นผู้เขียนจะกลั้นใจซื้อรุ่นใหม่ไปแบบไม่ต้องสงสัย (จะได้ไม่ค้างคา) แต่หากได้ MBA รุ่นเก่าในโปรโมชั่นที่แรงกว่า ก็อาจเปลี่ยนใจได้อยู่เหมือนกัน ยังไงหากใครสนใจก็ลองไปตัดสินใจชั่งน้ำหนักกันดูนะครับ หรือถ้าชอบเจ็บแต่จบจะข้ามไป MBP ในรุ่น Quad-Core ไปเลยก็ได้
ที่มา – Apple.com