MacBook Air 2018 เปิดตัวไปเมื่อ ต.ค. 2018 ถือว่าเป็นการรอคอยที่ยาวนานในการรีดีไซน์ครั้งใหญ่ของ MacBook Air ซึ่งรุ่นแรกนั้นเปิดตัวตั้งแต่ ก.พ. 2008 หรือ 10 ปีที่แล้ว ระหว่างนั้น Apple ทำเพียงอัปเกรดสเปคภายในและปรับนั่นนิด ปรับนี่หน่อย ยังไม่มีครั้งไหนที่จะจัดยกชุดใหญ่ไฟกระพริบสักที มาในรอบปี 2018 นั้นถือว่าเป็นครั้งแรกเลยสำหรับภารกิจนี้ ทีมงานขออนุญาตนำรีวิวเต็มของ MacBook Air 2018 นี้มาให้ได้ชมกันครับ
รีวิว MacBook Air 2018 อัปเกรดใหญ่ในรอบ 10 ปี จอ Retina และ USB-C ครั้งแรกและอื่น ๆ อีกมากมาย
เราจะไม่พูดพร่ำทำเพลงกันให้มาก เดี๋ยวมาเริ่มกันเลยแล้วกัน หวังว่ารีวิวนี้จะช่วยให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจว่าจะซื้อรุ่นนี้ดีหรือไม่ ได้ดูเป็นข้อมูลประกอบครับ
1. การเปลี่ยนแปลงหลักใน MacBook Air 2018
- รีดีไซน์ครั้งใครแต่ยังคงเอกลักษณ์ของ MacBook Air ดั้งเดิมไว้
- หน้าจอ Retina Display ครั้งแรกในซีรีส์นี้
- Touch ID + Apple T2 Chip เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
- CPU Intel Core รุ่นที่ 8
- RAM สูงสุด 16GB
- SSD สูงสุด 1.5TB
- ThunderBolt 3 (USB-C)
- กล้องหน้า FaceTime HD
- คีย์บอร์ด Butterfly รุ่นที่ 3 แบบเดียวกับ MacBook Pro 2018
- Trackpad ใหญ่ขึ้น
- ลำโพงดีขึ้นเสียงมีมิติมากขึ้นและไมค์ที่ดีขึ้น
- มีให้เลือก 3 สี มากกว่าเดิม
- รองรับ Hey Siri
ได้ทราบการเปลี่ยนแปลงหลักในแต่ละหัวข้อไปแล้วเดี๋ยวมาลงรายละเอียดแต่ละจุดกันครับ
2. แกะกล่อง
อุปกรณ์ที่มีให้ในกล่องประกอบไปด้วย
- MacBook Air จำนวน 1 เครื่อง
- สาย USB-C ความยาว 2 เมตร สีขาว สำหรับการชาร์จไฟและรองรับการถ่ายโอนถ่ายข้อมูล เช่น MacBook Air x iPad Pro 2018
- อะแดปเตอร์ USB-C กำลังไฟขนาด 30W รองรับ Input: AC 100-240V (0.75A) 50-60Hz และจ่ายไฟออก Output: Power Delivery (PD) 20V/1.5A, 15V/2A, 9V/3A หรือ 5V/3A
- เอกสารแนะนำการใช้งานพร้อมกับสติกเกอร์รูป Apple โดยสีของสติกเกอร์จะแตกต่างออกไปตามสีของตัวเครื่อง
3. สเปค MacBook Air 2018 และลงรายละเอียดแต่ละจุด
ก่อนลงรายละเอียดขอนำสเปคโดยรวมของ MacBook Air 2018 ให้ชมก่อนครับ
- โปรเซสเซอร์ Intel รุ่นที่ 8 แบบ Dual-core
- โปรเซสเซอร์ Intel Core i5 แบบ Dual-core ความเร็ว 1.6GHz Turbo Boost สูงสุด 3.6GHz
- หน่วยความจำ 8GB หรือ 16GB
- SSD ความจุ 128GB, 256GB, 512GB หรือ 1.5TB
- Intel UHD Graphics 617
- 1.25 กก. (2.75 ปอนด์)
- Touch ID
- จอภาพแบ็คไลท์แบบ LED ขนาด 13.3 นิ้ว (แนวทแยง) พร้อมเทคโนโลยี IPS
- จอภาพ Retina, 2560 x 1600 พิกเซล, ความสว่าง 300 นิต, สีมาตรฐาน (sRGB) แบบเต็มช่วงสี
- แบตเตอรี่ลิเธียมพอลิเมอร์ภายในตัวเครื่อง 50.3 วัตต์ต่อชั่วโมง
- แบตเตอรี่และพลังงาน ท่องเว็บผ่านระบบไร้สายนานสูงสุด 12 ชั่วโมง
- ล่นภาพยนตร์ iTunes นานสูงสุด 13 ชั่วโมง
- อะแดปเตอร์แปลงไฟ USB-C ขนาด 30 วัตต์
- พอร์ตจ่ายไฟ USB-C
- พอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) จำนวน 2 พอร์ต
- Wi-Fi มาตรฐาน 802.11ac
- เทคโนโลยีไร้สาย Bluetooth 4.2
- กล้อง FaceTime HD
- คีย์บอร์ดแบ็คไลท์ขนาดมาตรฐาน
- แทร็คแพด Force Touch
- macOS Mojave
- แอปที่มาพร้อม รูปภาพ, iMovie, GarageBand, Pages, Numbers, Keynote
- สีทอง, สีเงินและสีเทาสเปซเกรย์
สเปคทั้งหมดอ่านได้ที่นี่
ทีนี้มาลงรายละเอียดแต่ละหัวข้อกันเลยครับ
3.1 รีดีไซน์ครั้งใหญ่แต่ยังคงเอกลักษณ์ของ MacBook Air ดั้งเดิมไว้
Apple ยังคงรักษาการออกแบบเดิมของ MacBook Air เอาไว้ หากยังจำกันได้รุ่นแรกนั้น Steve Jobs ได้เผยโฉม MacBook Air ครั้งแรกโดยการดึงออกมาจากซองกระดาษสีน้ำตาล ที่ผู้ชมเห็นแล้วอึ้งถึงความเล็ก บางและเบาที่แล็ปท็อปเครื่องหนึ่งจะทำได้
ส่วนที่ปรับหลัก ๆ ภายนอกที่เห็นได้ชัดคือ
- ตัวเครื่องทำจากอะลูมิเนียมทั้งหมด
- ขอบหน้าจอ (Bezel) เล็กลงกว่าเดิมมากทำให้พื้นที่การแสดงผลเพิ่มขึ้น
- USB-A, ThunderBolt 2, SD Card Reader Slot, MacSafe เปลี่ยนมาเป็นพอร์ต USB-C (ThunderBolt 3) ที่ให้มาทั้งหมด 2 พอร์ต รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมในข้อ 3.5
- คงเหลือพอร์ต 3.5mm เอาไว้
- ตัวเครื่องบางลงกว่ารุ่นก่อน 10%
- น้ำหนักลดลงกว่ารุ่นก่อน (1.25 กก. vs. 1.35 กก.)
ภายนอกโดยรวมแล้วดูคล้าย MacBook Pro 13″ แต่ต่างกันที่ความบางของด้านหน้าเครื่อง
3.2 หน้าจอ Retina Display ครั้งแรกในซีรีส์ MacBook Air
มาดูในส่วนของหน้าจอในรุ่นนี้คงต้องบอกว่า “มาซะที 10 ปีที่รอคอย” กับหน้าจอ Retina Display ความละเอียดสูง ทั้งที่หน้าจอนี้ถูกใช้งานบน MacBook ครั้งแรกในรุ่น MacBook Pro 2012 ซึ่งก็นานมาแล้วและจากนั้นก็ใช้ใน MacBook 12″ สุดท้ายเหลือ MacBook Air อยู่รุ่นเดียวที่ไม่ได้อัปเดตกับเขาสักที จนปี 2018 ก็ “โอ้ลัลล้ามาละเด้อพี่น้อง”
สเปคของหน้าจอ MacBook Air 2018
- จอภาพแบบ Retina Display
- แบ็คไลท์แบบ LED ขนาด 13.3 นิ้ว, IPS, Glossy
- ความเอียด 2560x1600px ที่ 227ppi
- อัตราส่วน 16:10
- แสดงสีสันมากกว่าล้านสีและได้มากกว่ารุ่นก่อน 48%
- ขอบจอเล็กลง 50%
- ทำให้เห็นรายละเอียดอย่างตัวอักษรและการแสดงสีของภาพถ่ายนั้นชัดเจน
สำหรับการได้ทดสอบใช้งานจริงแล้วนั้นหากใครที่ใช้ MacBook Air รุ่นเก่ามาก่อนและยังไม่เคยใช้ MacBook รุ่นหน้าจอ Retina Display จะการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก ภาพชัดขึ้น สีสันเด่นชัดขึ้น ภาพถ่ายเดิมที่เคยดูใน MacBook Air เครื่องเก่าจะสวยขึ้นมากเมื่อดูบนหน้าจอ MacBook Air 2018 ตัวใหม่นี้ และทำให้สบายตามมากยิ่งขึ้น หากใครที่ใช้งานด้านกราฟิกอย่าง การวาดภาพ Vector หรือการ Retouch ภาพใน Photoshop ก็จะช่วยให้เห็นรายละเอียดที่มากขึ้นนั่นเองครับ
3.3 Touch ID + Apple T2 Chip เพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
พูดถึง Touch ID ถ้าใช้ครั้งแรกใน iPhone ก็มาพร้อม iPhone 5s ส่วนถ้าใช้งานบน MacBook ครั้งแรกก็เป็นรุ่น MacBook Pro 2016 ที่ตอนนั้นอัปเกรดใหญ่มากโดยใช้ USB-C พอร์ตทั้งหมดและ Touch ID + TouchBar หลังจากใช้งานต้องยอมรับว่าการนำ Touch ID มาใส่ใน MacBook นั้นมันเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
ใน MacBook Air 2018 นี้เอง Touch ID ก็ถูกนำมาใช้งานเช่นกันเหมือนกับรุ่นพี่อย่าง MacBook Pro ทั้ง 13″, 15″ เพิ่มความสะดวกในการล็อคอินเข้าสู่ระบบและนอกจากนี้ยังใช้อนุญาตการซื้อจาก App Store, iTunes Store ได้ง่าย ๆ เพียงนิ้วสัมผัสเท่านั้น
ในส่วนชิป Apple T2 ซึ่งเป็นตัวเดียวกับที่ใช้งาน iMac Pro, MacBook Pro และ Mac รุ่นใหม่ ๆ ออกแบบสำหรับการผสานรวมกับตัวควบคุมหลายแบบ เช่น ตัวควบคุมการจัดการระบบ ตัวประมวลผลสัญญาณภาพ ตัวควบคุมเสียง และตัวควบคุม SSD ทำให้ชิป T2 มอบขีดความสามารถใหม่ให้กับ Mac โดยความสุดของ Apple T2 Chip นั้นทาง Apple ก็ยัดลงใน MacBook Air 2018 นี้เช่นกัน ดังนั้นบอกเลยว่าแม้รุ่นนี้จะดูเหมือนว่าเป็นรุ่นเริ่มต้นในตระกูล MacBook แต่เทคโนโลยีที่ใช้นั้นก็ใหม่สุดเหมือนกันกับรุ่นโปรที่ราคาค่าตัวหลักแสนกันเลยทีเดียว
3.4 CPU Intel Core รุ่นที่ 8, RAM สูงสุด 16GB, SSD สูงสุด 1.5TB
พูดถึงเรื่องขุมกำลังภายในหัวสมองหลักใน MacBook Air 2018 จะใช้
- CPU หน่วยประมวลผล Intel Core i5 (i5-8210Y) รุ่นที่ 8 เปิดตัว Q32018, 1 Processor, 2 Cores, 4 Threads 1.6GHz, Turbo Boost 3.6GHz, L3 Cache 4MB
- กราฟิกบนบอร์ดใช้ Intel UHD Graphic 617 ขนาดความจำ 1.50 GB, รองรับการส่งสัญญาณภาพออกไปยังจอมอนิเตอร์ภายนอกทั้ง 4K และ 5K
- RAM ชนิด LPDDR3 ความเร็ว Bus 2133 MHz ขนาดเริ่มต้น 8GB สามารถปรับได้สูงสุด 16GB
- พื้นที่เก็บข้อมูล ชนิด PCIe SSD ความเร็วในการอ่าน/เขียนสูงสุด 2GBps/1GBps ความจุเริ่มต้นมีให้เลือก 128GB และ 256GB สามารถเลือกอัปเกรดความจุได้ที่ 256GB (สำหรับรุ่น 128GB) และ 512GB, 1.5TB (สำหรับรุ่น 256GB)
หมวดนี้คือเรื่องของพลังในการประมวลผลถ้าดูว่าเครื่องจะลื่นไม่ลื่นก็ต้องพิจารณาจากจุดนี้เป็นหลักครับว่าสเปคที่ให้มานั้นเป็นอย่างไร
ในเรื่องของ CPU เลือกใช้ i5 ถือว่าให้มาสำหรับการใช้งานขั้นกลาง CPU Intel Core Gen 8 เป็นรุ่นที่ถือว่าใหม่เพราะเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อไตรมาส 3 ของปี 2018 ไม่ได้ใช้รุ่นเก่าแต่อย่างใด, ด้วยจำนวนที่ให้มี 2 Cores และความเร็วสัญญาณนาฬิกาอยู่ที่ 1.6GHz นั้นถือว่าไม่เร็วมาก ซึ่งก็เหมาะกับ MacBook Air เน้นความประหยัดพลังงานให้ใช้งานได้อย่างต่อเนื่องทั้งวัน (แบตเตอรี่สำหรับการท่องเว็บอยู่ได้ประมาณ 12 ชม. ถ้าดูหนัง iTunes อยู่ได้ราว ๆ 13 ชม.)
กราฟิกฝังมาบนบอร์ดแรงเกินพอสำหรับงานทั่วไปอย่าง ท่องเว็บหาข้อมูล, ดูอีเมล, ดูหนังฟังเพลงและก็รับมือไหวกับการตัดแต่งรูปภาพและการตัดต่อคลิปความละเอียด FHD 1080P ที่ไม่เน้นหนักไปทาง 4K สี 8, 10-bits อะไรทำนองนั้น ถ้าจะเอามาแก้ไขไฟล์ PSD สักอันก็สบาย ๆ เอาอยู่แน่นอน
หน่วยเก็บข้อมูล ต้องขอบคุณ SSD แบบ PCIe ที่มีอัตราการอ่านและเขียนข้อมูลที่เร็วมากทำให้การอ่านไฟล์และเขียนไฟล์ลงบนเครื่องนั้นทำได้อย่างรวดเร็ว สำหรับความเร็วสูงสุดในการอ่านวัดค่าได้ที่ 2 GBps ส่วนการเขียนนั้นอยู่ที่ 1 GBps เลยทีเดียวถือว่าลื่นปื้ด และเรื่องของ RAM นั้นใช้ LPDDR3 แบบ Low Power ทั้งประหยัดไฟและให้ความเร็วบัสสูงถึง 2133MHz ทำให้การใช้งานแอปพลิเคชันต่าง ๆ ไหลลื่นเป็นอย่างดี ประสิทธิภาพเกินพอสำหรับผู้ใช้ระดับเริ่มต้นไปจนถึงกลาง ๆ
ถ้าคิดว่าการ์ดจอที่ให้มาน้อยไปหละก็….
อ่านต่อข้อ 3.5 เลยนะครับ
3.5 ThunderBolt 3 (USB-C)
ThunderBolt พอร์ตเดียวทำได้ทุกสิ่ง หลังจากตัดพอร์ต USB-A, ThunderBolt 2, MacSafe และ SD Card Reader ออก Apple ยัด ThunderBolt 3 มาให้ MacBook Air จำนวน 2 พอร์ตซึ่งคุณสมบัติของพอร์ตนี้คือ
- ใช้อินเตอร์เฟส USB-C (Type-C) ทำให้ใช้กับอุปกรณ์มาตรฐาน USB-C ทั่วไปได้
- พอร์ตนี้พอร์ตเดียวทำได้ทุกอย่าง
- รับส่งข้อมูลได้สูงสุด 40Gbps (อยากรู้ว่าเร็วแค่ไหนชมตัวอย่างการใช้งาน) ทำหน้าที่แทนพอร์ต USB-A และ SD Card Reader แบบเก่าได้
- รองรับการชาร์จไฟด้วยระบบ Power Delivery ที่รองรับกำลังสูงสุดถึง 100W นี่ทำให้แทนพอร์ต MacSafe เก่าได้
- ส่งสัญญาณภาพไปยังหน้าจอมอนิเตอร์ได้ (ผ่านพอร์ต ThunderBolt) รองรับความละเอียดสูง ถ้าจอ 5K (5120x2880px สูงสุด 60Hz) จะต่อได้ 1 จอแต่หากต่อกับจอ 4K (4096x2304px สูงสุด 60Hz) จะต่อได้ 2 จอพร้อมกัน
- อยากจะส่งสัญญาณต่อไปยังโปรเจกเตอร์หรือจอคอมๆ อื่น ก็ทำได้แต่ว่าต้องหาอะแดปเตอร์มาแปลงก่อน เช่น USB-C to VGA, USB-C to HDMI เป็นต้น ก็จะสามารถใช้งานร่วมกันได้
- อยากได้พลังประมวลผลกราฟิกเพิ่มเติมก็ทำได้ เพราะ ThunderBolt 3 นี้รองรับการเชื่อมต่อกับ eGPU หรือการ์ดจอแยกภายนอก ก็จะทำให้ MacBook Air 2018 นั้นได้พลังการประมวลผลกราฟิกที่มากขึ้นแล้วทันที
นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่จะทำให้ MacBook Air 2018 นี้เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่เตรียมพร้อมสำหรับอนาคต นี่ก็ผ่านมา 3 ปีแล้วตั้งแต่ Apple ได้ใช้ USB-C ทั้งหมดใน MacBook Pro 2016 ซึ่งอุปกรณ์ที่รองรับก็มากขึ้นกว่าแต่ก่อนแถมราคาก็ถูกลง และแน่นอนว่าพอร์ต ThunderBolt 3 ที่ Apple มอบให้นี้ถือว่าเป็นพอร์ตแห่งอนาคตที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์จะพัฒนาตามกันมา อย่างที่ได้รายงานข่าว USB4 ไปเมื่อไม่นานมานี้
3.6 กล้องหน้า FaceTime HD
ปรับปรุงกล้องหน้าให้มีความละเอียดมากยิ่งขึ้นด้วยความที่ผู้ใช้นิยมทำการวิดีโอคอลผ่านทั้ง FaceTime, Skype, LINE ฯลฯ จึงทำให้ความละเอียดของกล้องนั้นก็ทีส่วนที่สำคัญสำหรับ MacBook Air 2018 สำหรับข้อมูลทางเทคนิคนั้น Apple บอกเพียงว่าให้ความละเอียดที่ 720p HD เท่านั้น ไม่ได้บอกขนาด Megapixel ให้ทราบแต่อย่างใด ยังไงก็ดูตัวอย่างภาพที่ได้แล้วกันนะครับ
3.7 คีย์บอร์ด Butterfly รุ่นที่ 3 และ Trackpad ใหญ่ขึ้น
สเปคของคีย์บอร์ดและ Trackpad
- Apple Butterfly Mechanism Keyboard รุ่นที่ 3
- ปุ่มกด 78 ปุ่ม (สหรัฐอเมริกา) หรือ
79 ปุ่ม (ISO) โดยมีแสงแบ็คไลท์แบบ LED ส่องใต้ปุ่มแต่ละปุ่ม
พร้อมปุ่มฟังก์ชั่น12 ปุ่ม และ ปุ่มลูกศร 4 ปุ่ม - เซ็นเซอร์ตรวจวัดแสงโดยรอบ
- แทร็คแพด Force Touch เพื่อการควบคุมเคอร์เซอร์ที่แม่นยำและความสามารถในการรับรู้แรงกด
ที่จะช่วยให้สามารถใช้การคลิกลงน้ำหนัก การเร่งความเร็วตามแรงกด การวาดนิ้วที่ไวต่อแรงกด
และคำสั่งนิ้ว Multi-Touch ได้
รุ่นแรกของ Apple Butterfly Mechanism Keyboard นั้นถูกเปิดตัวและใช้งานใน MacBook 12″ เป็นครั้งแรกในปี 2015 ซึ่งรุ่นแรกยังถือว่ามีปัญหาเพราะเป็นดีไซน์ใหม่ด้วยจึงพบปัญหาในการใช้งานบ่อยครั้ง และในปี 2016 เมื่อครั้งการอัปเดต MacBook Pro 13″, 15″ นั้นทาง Apple ได้อัปเกรดให้รุ่นนี้ใช้ Apple Butterfly Mechanism Keyboard รุ่นที่สอง จนล่าสุดในปี 2018 มีการอัปเกรด MacBook Pro อีกครั้งรอบนั้นจุดเด่นคือเพิ่ม CPU Intel i9 เข้ามาและในรอบนี้เอง Apple Butterfly Mechanism Keyboard รุ่นที่ 3 ก็ถูกเปิดตัวขึ้น
สำหรับ MacBook Air 2018 รอบนี้ก็ใช้คีย์บอร์ดใหม่ล่าสุดคือรุ่นที่ 3 รุ่นนี้จะมีการติดตั้งซิลิโคนใต้ปุ่มเพื่อป้องกันฝุ่นไม่ให้เขาไปขัดขวางการทำงานของแป้นพิมพ์ส่งผลให้เสียงในการพิมพ์นั้นเบากว่าเดิมและตัวแป้นดูมีความหนึบมากขึ้น
ซึ่งความรู้สึกเมื่อใช้งานจริงเรื่องเสียงในการพิมพ์นั้นเงียบกว่าเดิมจริงครับถ้าเทียบกับรุ่นก่อนหน้า และหากเทียบกับ Apple Magic Keyboard นี่เสียงคนละเรื่องเลย การตอบสนองทำได้ดี ปุ่มเด้งดีตอบสนองต่อการพิมพ์สัมผัสได้เป็นอย่างดีหากใช้งานไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มชินกับปุ่มที่แบนลงกว่าเดิม (ลองเปรียบเทียบกับ MacBook Air รุ่นก่อนหน้านั้นดีไซน์จะแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง) โดยรวมคีย์บอร์ดในรุ่นนี้ยังไม่เจอปัญหาในการใช้งานแต่อย่างใดครับ ความสวยงามก็เรียบหรูตามสไตล์ของ Apple
Trackpad ของ MacBook เป็นอะไรที่แม่นยำและใช้งานเลื่อนไหลที่สุดแล้วเท่าที่เคยใช้งานมา ใน MacBook Air 2018 นี้พื้นที่ของ Trackpad มีขนาดใหญ่กว่ารุ่นเก่าถึง 20% ช่วยให้การสั่งการด้วยนิ้วโดยการลาก, ปัด, คลิก, แท็บ ฯลฯ ตอบสนองได้อย่างดีเยี่ยมพร้อมรองรับระบบ Force Touch (กดแบบ 2 น้ำหนัก) ได้อีกด้วย
3.8 ลำโพงดีขึ้นเสียงมีมิติมากขึ้นและไมโครโฟนที่ดีขึ้น
สเปคของลำโพงและระบบเสียง
- ลำโพงสเตอริโอ
- ไมโครโฟน 3 ตัว
- ช่องต่อหูฟัง 3.5 มม.
พูดในเรื่องของลำโพงกันสักหน่อยรุ่นนี้มีการปรับปรุงค่อนข้างเยอะ ลำโพงเพิ่มเสียงเบสขึ้น 2 เท่าและระดับเสียงดังกว่าเดิมราว ๆ 25% ทำให้เสียงจาก MacBook Air 2018 เมื่อรับชมภาพยนตร์จะทำให้ได้อรรถรถมากยิ่งขึ้น เสียงเบสหนักขึ้นมากเดิมหากเทียบกับ MacBook Air รุ่นก่อนนั้นถือว่าต่างกันมากเลยทีเดียว เรื่องของไมโครโฟนที่มีจำนวนถึง 3 ตัว ช่วยให้การโทรด้วยเสียงหรือวิดีโอนั้นเสียงชัดมากยิ่งขึ้น ส่วนใครที่มีหูฟังแบบ 3.5มม. ที่ซื้อมาใช้งานอยู่หากอยากใช้งานกับ MacBook Air 2018 นี้ก็ถือว่าโชคดีที่ยังมีพอร์ตนี้ไว้ให้ใช้งาน
4. ความรู้สึกโดยรวมจากการใช้งานจริง
ภาพรวมของ MacBook Air 2018 เป็นความรู้สึกเหมือนได้กลับมาใช้ MacBook Pro 2016 รุ่น 13″ อีกครั้ง (ตอนนี้ผมอัปเกรดมาเป็น MacBook Pro 2018 15″ แล้ว) ที่ต้องพูดอย่างนั้นก็เพราะว่าหน้าจอที่ Retina Display ที่ขนาดเท่ากันความละเอียดเท่ากัน และรูปทรงภายนอกตอนเปิดใช้งานนั้นแทนให้อารมณ์เดียวกันกับการใช้ MacBook Pro 13″ ทั้งคีย์บอร์ดที่สัมผัส Trackpad ที่ใหญ่และตอบสนองได้ดีและลำโพงก็ออกแบบแนวทางเดียวกัน ยิ่งถ้าปิดฝาเครื่องและมองจากด้านบนนั้นก็จะแทบจะแยกไม่ออกเลยว่ารุ่นไหน MacBook Air รุ่นไหน MacBook Pro
แน่นอนว่าส่วนที่แตกต่างกันก็คือประสิทธิภาพในการประมวลผล ซึ่งรุ่น Pro นั้นถูกออกแบบให้รองรับการใช้งานที่หนักหน่วงกว่า แต่ว่า MacBook Air 2018 เองประสิทธิภาพก็ไม่ได้น้อยหน้าแต่อย่างใด เพียงแต่การออกแบบรุ่นนี้เพื่อให้เหมาะกับกลุ่มผู้ใช้งานเท่านั้น
สำหรับการใช้งานพื้นฐานของกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปที่ใช้งานในการพิมพ์งาน, จัดการเอกสาร, ค้นหาข้อมูล, สร้างสื่อการสอน, ใช้ในการนำเสนองานต่าง ๆ, การบันทึกการประชุม, การค้นหาข้อมูลหรือแม้กระทั่งประกอบการเรียน ฯลฯ MacBook Air 2018 นี้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้งานได้ค่อนข้างที่จะครอบคลุม
หัวใจหลัก ๆ ของ MacBook Air อยู่ที่การออกแบบให้พกพาสะดวกนำไปใช้งานที่ไหน ๆ ก็ได้ ด้วยขนาดที่เล็กและน้ำหนักที่เบาเพียง 1.25 กก. เท่านั้น และใช้งานได้นานไม่ต้องชาร์จแบตเตอรี่บ่อย ๆ ทำให้การออกแบบนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องการบริโภคพลังงานด้วย เราจึงไม่เห็น MacBook Air ใช้ CPU และการ์ดจอที่ประสิทธิภาพสูง อีกทั้งทำให้ประหยัดต้นทุนลงด้วย
การอัปเกรด MacBook Air 2018 ในครั้งนี้ถือว่าคุ้มค่าด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีขึ้นหลายจุดโดยยังคงราคาที่เป็นมิตรสำหรับผู้เริ่มต้นใช้งาน MacBook และยังแถมยังได้เทคโนโลยีอัปเดตใหม่ ๆ ที่มีในรุ่น MacBook Pro มาใช้งานอีกด้วย มันคุ้มที่จะอัปเกรดสำหรับใครที่ใช้รุ่นเก่าอยู่หรือคิดอยากจะได้ MacBook เครื่องแรก
5. จุดที่ต้องพิจารณา
แม้ MacBook Air 2018 นั้นจะจัดว่าเป็นรุ่นที่ถูกที่สุดในตระกูล MacBook ของ Apple แล้วแต่หากเทียบกับแล็ปท็อปในท้องตลาดก็ยังคงมีราคาที่สูงกว่าอยู่ดี (บางยี่ห้อราคาหมื่นต้น ๆ ก็สามารถเป็นเจ้าของได้แล้ว) ดังนั้นต้องตามตัวเองก่อนว่า เลือกที่จะใช้ MacBook เพราะอะไร, เพราะเนื้องานที่เราจำเป็นต้องใช้?, เพราะระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ macOS ที่ทำงานด้วยกันอย่างลงตัว, เพราะแบตเตอรี่ใช้งานได้ยาวนานแม้จะให้แบตเตอรี่มาน้อยกว่าแล็ปท็อปตัวอื่น ๆ หรือ ใช้เพราะเครื่องสวยแต่ซื้อมาแล้วก็เอามาลง Windows ซึ่งเหตุผลหลังสุดนี้บอกเลยว่า “ไม่เห็นด้วย” แนะนำเอาเงินไปซื้อรุ่นอื่น ๆ และเก็บเงินส่วนที่เหลือจะดีกว่า
อีกจุดที่ต้องคิดคือ รุ่นนี้ “มีแต่พอร์ต USB-C มาให้” ดังนั้นสิ่งที่คุณต้องเตรียมตัวให้พร้อมเลยคือการซื้ออุปกรณ์ต่อพ่วงเพิ่มอย่างน้อย 1 ชิ้น เช่น HyperDrive ที่แปลง USB-C ให้กลายเป็นพอร์ตต่าง ๆ ในอุปกรณ์เดียว ซึ่งราคาก็หลายตังค์อยู่, ถ้ายิ่งจะต้องเชื่อมต่อกับโปรเจกเตอร์หรือจอคอมที่ใช้พอร์ตเก่า ๆ แน่นอนว่าคุณต้องหาสายเคเบิลและหัวแปลงที่รองรับ
บอกได้เลยว่าคุณต้องเจอกับปัญหานี้อย่างแน่นอน คุณต้องเข้าใจมันก่อนและรู้ว่าจะเจออะไร แต่บอกเลยว่าทุกการเปลี่ยนผ่านมันก็เป็นแบบนี้แหละ สมัยปี 2016 หนักกว่านี้เยอะ อุปกรณ์เสริมหายากมากและแพงด้วย แต่เดี๋ยวนี้มีเยอะขึ้นแล้วหาซื้อง่ายขึ้นและแถมราคาก็ถูกลงเยอะด้วย
และอีกอย่าง…
หากอยากจะอัปเกรด MacBook Air 2018 ให้สเปคเต็มสุดคุณอาจจะต้องใช้เงินถึง 92,900 บาท ถ้าจะซื้อขนาดนั้นผมก็แนะนำว่าให้ไปซื้อ MacBook Pro เถอะจะเป็นรุ่น 13″ ก็ได้ อย่างน้อยคุณจะได้ CPU ที่เร็วกว่าทำงานหนัก ๆ ได้มากขึ้นนั่นเอง
หากคุณรับได้ก็ยินดีด้วยที่จะได้ใช้งาน MacBook Air 2018 อย่างมีความสุข
6. ราคาและสถานที่จำหน่าย
ราคาของรุ่นนี้เริ่มต้นที่ 42,900 บาทสูงสุดไปจนถึง 92,900 บาท สำหรับรุ่นที่อัปเกรด RAM 16GB และ SSD 1.5TB ส่วนสถานที่จัดจำหน่ายนั้นหากจะซื้อรุ่นที่ไม่ปรับสเปคก็เลือกซื้อได้เลยที่ Apple Iconsiam และตัวแทนจำหน่ายอย่างร้าน Studio 7 ถ้าไม่สะดวกไปร้านก็สั่งออนไลน์ได้เลย (สำหรับคนที่จะปรับสเปคก็ต้องสั่งออนไลน์) ได้ที่ Apple Store Online ส่วนน้อง ๆ นักศึกษาอยากได้ส่วนลดก็ชมแนวทางการสั่งซื้อ Mac ราคานักศึกษาได้จากบทความนี้
หวังว่าข้อมูลนี้จะช่วยให้ตัดสินใจในการซื้อ MacBook Air 2018 ได้มากขึ้น หากมีจุดไหนที่ขาดตกไปสามารถคอมเมนต์ไว้ที่ด้านท้ายได้ ทีมงานจะอัปเดตให้ทราบภายหลังนะครับ
ขอบคุณสำหรับการอ่านจนจบ
วันนี้ขอลาไปก่อน
สวัสดีครับ… 🙏🏻
รีวิวโดย Admin Tom, iMoD