การรอคอยเป็นอันสิ้นสุดสำหรับการอัปเดต MacBook Pro รุ่นใหม่ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งก่อนหน้าผมใช้งาน MacBook Pro 2016 รุ่น 13 นิ้ว CPU Intel Core i5 อยู่ และวันนี้มีโอกาสต้อนรับน้องใหม่ MacBook Pro 2018 รุ่น 15 นิ้ว ที่อัดแน่นมาพร้อม CPU Intel i9 Coffee Lake ล่าสุด วันนี้จะพาไปชมภาพแรกพร้อมกับรีวิวเครื่องรุ่นนี้กันให้ได้ชมกันครับ
รีวิว MacBook Pro 2018 รุ่น 15 นิ้ว
ไฮโลท์ในการรีวิวครั้งนี้ขอหยิบยกประเด็นที่สำคัญๆ และคาดว่าจะเป็นจุดที่น่าสนใจดังนี้ครับ
- รวมสิ่งใหม่ใน MacBook Pro 2018
- แกะกล่องพร้อมแนะนำสเปก
- วัดประสิทธิภาพของระบบด้วยซอฟต์แวร์
- ทดสอบรันกราฟิก Adobe Lightroom, Final Cut Pro X
- ว่าด้วยเรื่องความร้อนที่เป็นประเด็น
- เปรียบเทียบกับรุ่นก่อน น่าอัปเกรดหรือไม่
- เก็บตกว่าด้วยเรื่อง Keyboard และ eGPU
- บทสรุปพร้อมแนะนำที่จัดจำหน่าย
พร้อมแล้วไปลงรายละเอียดแต่ละจุดกันเลย
1. รวมสิ่งใหม่ใน MacBook Pro 2018
MacBook Pro 2018 ไม่มีการเปิดตัวในงานอีเวนท์ใดๆ ตอนแรกก็คิดว่ารุ่นนี้จะเปิดตัวช่วงใน WWDC 2018 เมื่อเดือน มิ.ย. แต่ก็ไม่เห็นแม้แต่เงา จนผ่านมาถึง 12 ก.ค. ทาง Apple ได้ปล่อยอัปเกรดสเปคให้กับ MacBook Pro และวางขายในเวลาต่อมา ส่วนในประเทศไทยนั้นทาง Apple เปิดให้สั่งซื้อผ่านออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 25 ก.ค. ที่ผ่านมานี่เองครับ สรุปสิ่งใหม่ที่มีในรุ่นนี้และอธิบายเป็นหัวข้อย่อยให้อ่านง่ายๆ ดังนี้ครับ
- การอัปเกรด MacBook Pro 2018 มีเฉพาะรุ่นที่มี Touch Bar เท่านั้น ทั้งหน้าจอ 13 นิ้วและ 15 นิ้ว
- CPU Intel ใหม่ รุ่นที่ 8 มีให้เลือกตั้งแต่ Core i5, i7 และ i9
- รุ่น 13 นิ้วมี CPU ให้เลือก 2 แบบคือ i5 และ i7 แบบ 4-cores (สำหรับ CPU i7 ต้องปรับแต่งเพิ่มเติม)
- รุ่น 15 นิ้วมี CPU ให้เลือก 2 แบบคือ i7 และ i9 แบบ 6-cores (สำหรับ CPU i9 ต้องปรับแต่งเพิ่มเติม)
- รุ่น 13 นิ้วใช้ RAM LPDDR3 ความเร็ว 2133MHz อัปเกรดได้สูงสุด 16GB
- รุ่น 15 นิ้วใช้ RAM DDR4 ความเร็ว 2400MHz อัปเกรดได้สูงสุด 32GB
- ความจุ SSD แบบ NVMe สูงสุด 2TB สำหรับรุ่น 13 นิ้วและ 4TB สำหรับ 15 นิ้ว
- กราฟิก Radeon Pro 555X, 560X หน่วยความจำสูงสุด 4GB
- หน้าจอแบบ Retina Display ความสว่างสูงถึง 500 นิต และรองรับขอบเขตสีกว้างระดับ P3
- ชิพ Apple T2 ยกระดับความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้นและเป็น Mac รุ่นแรกที่รองรับ Hey Siri
- Apple Butterfly Keyboard รุ่นที่ 3 ทนกว่าเดิม มีซิลิโคนยางกันเศษฝุ่นและเสียงเงียบกว่าเดิมขณะพิมพ์
- Thunderbolt 3 (USB-C) จำนวน 4 พอร์ต สำหรับการชาร์จและถ่ายโอนข้อมูล พร้อมรองรับการเชื่อมต่อหน้าจอภายนอกความละเอียด 5K จำนวน 2 จอพร้อมกันและความละเอียด 4K จำนวน 4 จอพร้อมกัน
หากสรุปใจความสำคัญขอการอัปเกรด MacBook Pro 2018 ครั้งนี้ก็คือ
ปรับปรุงประสิทธิภาพภายในให้แรงขึ้นบนรูปลักษณ์แบบเดิมตั้งแต่ปี 2016 แต่โฟกัสที่กลุ่มลูกค้ามืออาชีพที่ต้องการความแรงและความคล่องตัวเป็นพิเศษ
เมื่อมองภาพรวมของการอัปเกรดครั้งนี้ออกแล้ว ต่อไปเริ่มดูจุดที่เฉพาะเจาะจงกันหน่อยแล้วกันนะ ผมจะขออนุญาตพาทุกท่านมาชม MacBook Pro รุ่น 15 เครื่องต่อไปนี้ที่กล้าพูดได้เลยว่าเป็น MacBook Pro ที่แรงที่สุดตั้งแต่ Apple เคยทำมา
2. แนะนำสเปกพร้อมแกะกล่องเครื่องสำหรับรีวิว
MacBook Pro 2018 ที่จะรีวิวให้ชมนี้เป็นรุ่น 15 นิ้ว รายละเอียดของสเปกก็ตามนี้ครับ
- หน่วยประมวล CPU Intel Core i9 2.90GHz, 1 Processor แบบ 6-cores, 12-Threads ที่มี Turbo Boost สูงสุด 4.8GHz
- RAM DDR4 32GB (16GBx2) ความเร็ว 2400Mhz
- หน่วยเก็บข้อมูลแบบ NVMe SSD (NVM Express) ขนาด 2TB ความเร็วอ่านเขียนสูงสุดตามสเปกอยู่ที่ 3.2GB/s และ 2.2GB/s ตามลำดับ
- การ์ดจอ 2 ตัวแบบสลับอัตโนมัติ ได้แก่ Intel UHD Graphics 630 ขนาด VRAM 2GB ส่วนการ์ดจอแยกเป็น Radeon Pro 560X ขนาด VRAM 4GB
- Thunderbolt 3 (USB-C) จำนวน 4 พอร์ต ความเร็วถ่ายโอนข้อมูลสูงสุด 40 Gb/s
- แบตเตอรี่ 7,445 mAh
- อะแดปเตอร์กำลังไฟขนาด 87W, ส่งออกกระแสไฟผ่านพอร์ต USB-C PD ที่ 20.2V/4.3A, 9V/3A และ 5.2V/2.4A (แน่นอนว่าอะแดปเตอร์นี้นำไปใช้ iPhone 8, 8 Plus, X และ iPad Pro แบบเร็วได้)
- สายชาร์จ USB-C ขนาด 2 เมตร สำหรับการชาร์จไฟและใช้โอนถ่ายข้อมูลได้ในตัว
- จอภาพ Retina Display ความละเอียด 2880x1800px พร้อมการแสดงผลแบบ True Tone (เหมือน iPad Pro 10.5 นิ้ว, iPad Pro 9.7 นิ้วม iPad Pro 12.9 นิ้วรุ่นที่ 2 และ iPhone X, 8, 8 Plus) และขอบเขตสี P3
- น้ำหนักอยู่ที่ 1.8 กก. เทียบกับตัวเดิมที่ผมใช้อยู่รุ่น 13 นิ้ว น้ำหนักอยู่ที่ 1.37 กก. ความแตกต่างที่เพิ่มมาอีกก็ราวๆ 500 ก. ครับ
นี่คือข้อมูลสเปกนะครับต่อไปเดี๋ยวพาไปแกะกล่องดูว่าข้างในมีอะไรกันบ้างแบบเร็วๆ
อุปกรณ์ที่มีในกล่อง
- MacBook Pro 2018 จำนวน 1 เครื่อง
- อะแดปเตอร์กำลังไฟขนาด 87W ส่งกระแสผ่านทางพอร์ต USB-C (PD)
- สาย USB-C ความยาว 2 เมตร สำหรับการชาร์จไฟ
- แผ่นรองหน้าจอคั่นระหว่างจอกับคีย์บอร์ด
- สติกเกอร์รูปโลโก้ Apple
- เอกสารแนะนำการใช้งานเบื้องต้น
3. ว่าด้วยตัวเลขที่หาค่าได้ กับการวัดประสิทธิภาพของระบบด้วยซอฟต์แวร์
ซอฟต์แวร์ที่จะใช้ทดสอบมีด้วยกัน 3 แอป คือ Geekbench 4 วัดคะแนนประสิทธิของการประมวลผลโดยรวม, Cinebench วัดผลด้านกราฟิกแบบหนักหน่วงและสุดท้าย Blackmagic Disk Speed Test ใช้วัดความเร็วการอ่านและเขียนข้อมูลของ SSD บนตัวเครื่อง
ผลทดสอบ Geekbench 4
จากการรันทดสอบ CPU Test ด้วยแอป Geekbench 4 พบว่าคะแนนที่ทำได้ในส่วนของ Single-Core จะอยู่ที่ 5,595 โดยประมาณ ส่วนการประมวลผลแบบ Multi-Core จะอยู่ที่ 24,095 คะแนนโดยประมาณ จำไว้ว่าตัวเลขยิ่งมากยิ่งดีครับ
คราวนี้มีดูคะแนน Geekbench 4 ของเหล่า MacBook กันบ้างว่า MacBook Pro 2018 รุ่น 15 นิ้วนี้จะได้คะแนนเป็นลำดับที่เท่าไหร่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่า…
- คะแนน Single-Core ได้อันดับ 1 มากกว่ารุ่นท็อปปี 2017 ประมาณ 13%
- คะแนน Multi-Core ได้อันดับ 1 มากกว่ารุ่นท็อปปี 2017 ประมาณ 70%
คะแนนส่วนนี้เป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮาร์ดแวร์นั้นส่งผลให้การทำงานนั้นมีประสิทธิภาพและประมวลผลได้เร็วมากยิ่งขึ้น จากงานหนักๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากรและเวลาในการประมวลผลที่ยาวนานเมื่ออัปเกรดเป็น MacBook Pro ตัวใหม่ล่าสุดนี้ก็จะช่วยลดเวลาเหล่านั้นให้งานเสร็จเร็วมากกว่าขึ้นกว่าเดิม
ผลทดสอบ Cinebench
คะแนนนี้จะวัดประสิทธิภาพการทำงานของกราฟิกเป็นหลักครับจะได้เห็นว่าประสิทธิภาพของ MacBook Pro 2018 เครื่องนี้นั้นมีความสามารถในการประมวลผลกราฟิกได้ดีเพียงใด ผลที่ได้ตามนี้ครับ
ผลทดสอบ Blackmagic Disk Speed Test
ต่อไปมาดูในส่วนของการอ่านและเขียนข้อมูลลงไปที่หน่วยความจำที่เราอีกเรียกกันติดปากว่าฮาร์ดดิสนั่นแหละครับ หน่วยเก็บข้อมูลของ MacBook Pro 2018 รุ่นนี้จะใช้ NVMe SSD ซึ่งคุณสมบัติคือทำให้การเข้าถึงข้อมูลนั้นมีความรวดเร็วเป็นอย่างยาก ที่ Apple แจ้งไว้คือ อัตราเร็วการอ่านข้อมูลอยู่ที่ 3.2GB/s ส่วนอัตราเร็วในการเขียนั้นอยู่ที่ 2.2GB/s และการทดสอบของเราพบว่า…
- อัตราเร็วในการอ่านข้อมูลโดยประมาณอยู่ที่ 2.738GB/s
- อัตราเร็วในการเขียนข้อมูลโดยประมาณอยู่ที่ 2.700 GB/s
ผมลองเปรียบเทียบค่านี้กับ MacBook Pro 13 นิ้วปี 2016 เครื่องเก่าพบว่า อัตราการอ่านอยู่ที่ 2.5GB/s โดยประมาณและอัตราการเขียนข้อมูลอยู่ที่ 1-1.4GB/s โดยประมาณ นั่นหมายถึง เครื่องใหม่ที่กำลังรีวิวนี้สามารถเขียนข้อมูลได้เร็วกว่าเกือบ 2 เท่าโดยประมาณและอ่านข้อมูลเร็วกว่าประมาณ 10%
เอาหละดูผลทดสอบประสิทธิภาพจากตัวแอปกันไปแล้ว ต่อไปเรามาลองชมการใช้งานจริงของเครื่องจะเป็นอย่างไร
4. ทดสอบรันกราฟิก Adobe Lightroom, Final Cut Pro X ใช้งานจริง
เหตุผลที่เลือกทดสอบ 2 แอปพลิเคชันนี้เป็นหลักเนื่องด้วยส่วนตัวแล้วใช้งานทั้ง 2 แอปนี้จริงๆ ปัญหาหลักที่เจอคือ หากตัดต่อไฟล์วิดีโอความละเอียดสูงอย่าง 4K พบว่าจะมีการกระตุกบ้าง สะดุดบ้างและยิ่งตอน export ไฟล์ออกมานั้นจะใช้ระยะเวลาค่อนข้างนานครับ
เริ่มที่แอป Lightroom ก่อนแล้วกันทำการทดสอบ export ภาพถ่าย RAW ให้เป็น JPG แบบละเอียดสูงสุดจำนวน 567 รูปภาพพบว่า
- ใช้เวลา 00:17 นาที ในการ Import ไฟล์ RAW .NEF ขนาดเฉลี่ยภาพละ 20MB เข้าไปยัง Lightroom Library
- Export จากไฟล์ .NEF ไปเป็น .JPG ความละเอียด 100% ไม่ลดขนาด (4928x3264px) จำนวน 567 ภาพใช้เวลาทั้งสิ้น 07:45 นาที
พลังแรงเหลือล้นหากใครใช้งาน Lightroom บ่อยจะทราบว่าการทำงานร่วมกับไฟล์ภาพใหญ่ๆ จำนวนมากนั้นจะเป็นยังไง ทั้งช่วงที่ Import เข้า, ช่วงการปรับแต่งและช่วง Export ภาพออก หวังว่าการทดสอบนี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานเห็นความแตกต่างไม่มากก็น้อยนะครับ
ต่อไปมาทดสอบกับแอป Final Cut Pro X ทำการ Render และ Export File หลายรูปแบบดังนี้
- ต้นฉบับไฟล์ 8K/25fps ความยาว 05:16 นาที Export เป็น 4K/25fps ใช้เวลาทั้งสิ้น = 05:23 นาที
- ต้นฉบับไฟล์ 5K/25fps ความยาว 05:12 นาที Export เป็น 4K/25fps ใช้เวลาทั้งสิ้น = 05:27 นาที
- ต้นฉบับไฟล์ 5K/25fps ความยาว 05:12 นาที Export เป็น 1080P/25fps ใช้เวลาทั้งสิ้น = 02:31 นาที
- ต้นฉบับไฟล์ 4K/25fps ความยาว 06:46 นาที Export เป็น 4K/25fps ใช้เวลาทั้งสิ้น = 03:26 นาที
- ต้นฉบับไฟล์ 4K/25fps ความยาว 06:46 นาที Export เป็น 1080P/25fps ใช้เวลาทั้งสิ้น = 01:40 นาที
สำหรับการใช้งานแอป Final Cut Pro X นั้นพบว่าระหว่างการตัดต่อคลิป, พรีวิวคลิปและการใส่ Effect ต่างๆ เข้าไปในวิดีโอนั้นแม้ว่าไฟล์จะมีความละเอียดก็การทำงานก็ยังไหลลื่น (ไฟล์ต้นฉบับ 5K, 4K) เป็นอย่างดีครับ ส่วนไฟล์ต้นฉบับ 8K ก็จะมีกระตุกบ้างเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วพลังการประมวลผลที่นำโดย CPU Intel i9 นั้นก็ทำให้ไฟล์วิดีโอที่ส่งออกมานั้นทำได้ค่อยข้างเร็วและเครื่องไม่มีอาการค้างแต่อย่างใดครับ
5. ว่าด้วยเรื่องความร้อนที่เป็นประเด็น
หากตามข่าวของ MacBook Pro 2018 รุ่น CPU i9 จะพบว่ามีบัคช่วงหนึ่งที่ทำให้ระบบทำงานช้ากว่าปกติเมื่ออุณภูมิของเครื่องนั้นมากขึ้นทาง Apple ได้รับทราบเรื่องนี้และรีบปล่อยอัปเดตล่าสุดใน macOS 10.13.6 Supplemental สำหรับรุ่นนี้โดยเฉพาะ
หลังจากที่อัปเดต macOS เวอร์ชันนี้แล้วพบว่าปัญหาดังกล่าวนั้นได้ถูกแก้ไขเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นผู้ใช้งาน MacBook Pro 2018 โดยเฉพาะรุ่นที่ใช้งาน CPU i9 ก็สบายใจได้เลยครับ
จากประสบการณ์ที่ได้ทดสอบใช้งานเครื่องนี้ก็ยังไม่พบปัญหาความร้อนนี้แต่อย่างใด ถ้าโอกาสหน้าได้ใช้งานหนักๆ แล้วเป็นอย่างไรจะมาแจ้งให้ฟังอีกครั้งนะครับ
6. เปรียบเทียบกับรุ่นก่อน น่าอัปเกรดหรือไม่
แม้ว่าการอัปเกรดในปี 2018 นี้จะไม่ใช่ Major Upgrade เหมือนปี 2016 ที่มีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ภายนอกต่างๆ พร้อมทั้งการมาของ Touch Bar ครั้งแรก แต่ว่าการอัปเกรดครั้งนี้นั้นเน้นเป็นอย่างมากเลยก็คือเรื่องประสิทธิภาพความเร็วในการประมวลผลสำหรับผู้ใช้งานขั้นสูงที่ต้องการพลังการประมวลผลที่รวดเร็วพร้อมการใช้งานที่พกพาได้อย่างคล่องตัวเป็นอย่างมาก ทำให้การทำงานนั้นเสร็จเร็วขึ้น ลดเวลาการทำงานลง ธุรกิจก็เดินไปข้างหน้าได้อย่างเร็วขึ้น
เมื่อเทียบกับรุ่นปี 2017 ที่ผ่านมาหากว่ากันด้วยฮาร์ดแวร์ระดับท็อปเหมือนกัน ในโลกของการใช้งานจริงความเร็วของ CPU i9 นั้นไม่ได้ทิ้งห่างจาก CPU i7 แบบไม่เห็นฝุ่นแต่ถ้าถามว่าจะซื้ออะไรดีเราก็คงจะบอกได้ว่า
- หากคุณใช้ MacBook Pro รุ่นเก่ากว่าปี 2015 ผมว่ามันเหมาะมากที่จะอัปเกรดมาใช้งานรุ่นล่าสุดนี้
- หากคุณใช้ MacBook Pro รุ่นปี 2016 แต่ตอนนั้นไม่ได้คำนึงถึงการปรับแต่ง CPU และสเปคโดยที่เลือกเครื่อง Base ไป และพบว่าทำให้การทำงานของคุณไม่แรงดังใจนึก ผมก็แนะนำว่าให้อัปเกรดมาเป็นรุ่นนี้หรือรอสักปีหน้าก็ยังไม่สาย
- ส่วนใครที่ใช้ MacBook Pro 2017 อยู่ซึ่งผมก็มองว่ามันยังใหม่อยู่และการใช้งานในปัจจุบันนั้นยัง “เอาอยู่” แนะนำว่าไม่ควรจะอัปเกรดและควรนำเงินเหล่านั้นไปซื้อ Apple Care ต่ออายุให้เครื่องไว้น่าจะเหมาะสมกว่า ผมเพราะยังมองว่ารุ่นนี้ก็ยังไปได้อีกไกลพอสมควร รอให้ถึงช่วงหนักหน่วงจนเครื่องประมวลผลไม่ไหวแล้วก็ค่อยอัปเกรดอีกทีก็ไม่สายเช่นกัน
7. เก็บตกว่าด้วย Keyboard ใหม่และ eGPU
Apple อัปเกรดคีย์บอร์ดรุ่นใหม่ล่าสุดที่มีช่ือเรียกว่า Butterfly Keyboard หรือคีย์บอร์ดแบบปีกผีเสื้อซึ่งรุ่นนี้จุดหลักที่อัปเดตเท่าที่ทราบข้อมูลมาก็คือ “เสียงเงียบขึ้น” เวลาที่ทำการพิมพ์ต่างจากรุ่นก่อนหน้าอยู่พอสมควร ภายใต้ความเงียบนั้นสิ่งที่พบคือ ทาง Apple ได้ติดตั้งซิลิโคนเข้าไปที่ใต้แป้นพิมพ์โดยจุดมุ่งหมายหลักน่าจะเป็นการป้องกันเศษฝุ่นไม่ให้เข้าไปติดใต้ปุ่มกดซึ่งจะส่งผลให้แป้นพิมพ์เสีย ซึ่งปัญหานี้เกิดบ่อยกับ MacBook Pro รุ่นปี 2016 เป็นต้นมา
ความรู้สึกเมื่อใช้งานจริง (รีวิวนี้ผมก็พิมพ์บนเครื่อง MacBook Pro 2018 นี้แหละ) เรื่องเสียงนั้นเงียบกว่าเดิมจริงครับ การตอบสนองทำได้ดีเช่นเดิมเพราะผมน่าจะชินกับคีย์บอร์ดแบบนี้แล้วด้วยความที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2016, ปุ่มเด้งดีตอบสนองต่อการพิมพ์สัมผัสได้เป็นอย่างดี ที่สังเกตเพิ่มเติมอีกหน่อยในรุ่นนี้ปุ่ม caps lock ที่อยู่ด้านซ้ายเหนือปุ่ม shift ทาง Apple มีการปรับเล็กน้อย (อันนี้ไม่แน่ใจว่าตั้งแต่ปี 2017 ไหม) คือ จะไม่มีคำว่า caps lock โดยถูกแทนที่ด้วย ก/A ซึ่งหมายถึงเป็นปุ่มที่สามารถตั้งค่าให้สลับภาษาได้ อีกทั้งปุ่ม shift, tap, return, delete, control, option ก็มีการเปลี่ยนแปลงด้านสัญลักษณ์อีกด้วย ตามภาพด้านล่าง ผมแนบรูปคีย์บอร์ดของ MacBook Pro 2016 vs 2018 ให้ได้ชมถึงความแตกต่างกันครับ
อีกอย่างหนึ่งที่อยากพูดถึงแต่ว่าไม่ได้ลองเล่นแบบจริงๆ จังๆ ก็คือ eGPU หรือ External Graphic Processing Unit ที่เรารู้จักในนาม “การ์ดจอ” แต่ทะว่าการ์ดจอนี้จะอยู่ภาพนอก MacBook Pro การเชื่อมต่อนั้นผ่านทางพอร์ต Thunderbolt 3 (USB-C) โดยหน้าที่หลักคือเพิ่มพลังการประมวลผลด้านกราฟิกให้มากขึ้นกว่าเดิม Render ภาพ 3D, วิดีโอ ได้เร็วมากยิ่งขึ้น
อย่างเช่นหากใครคิดว่าการ์ดจอใน MacBook Pro ที่ได้มานั้นยังแรงไม่พอก็แนะนำว่าให้ซื้อ eGPU มาเชื่อมต่อเพิ่มเข้าไปก็จะทำให้การทำงานด้านกราฟิกประมวลผลได้เสร็จเร็วมากขึ้น แถม eGPU บางรุ่นอย่าง Blackmagic eGPU นั้นยังมีพอร์ต USB-A มาให้อีกด้วย คุณจะได้ทั้ง eGPU และ Docking มาใช้งานไปพร้อมๆ กันเลยทีเดียว ถ้ามีโอกาสไว้ iMoD จะหามารีวิวให้ชมนะครับผม ทั้งนี้ผมแนบประสิทธิภาพมาให้ชมสำหรับ MacBook Pro 13 นิ้วและ 15 นิ้วที่ใช้งาน eGPU ว่าจะแรงขึ้นแค่ไหน
8. บทสรุปพร้อมแนะนำที่จัดจำหน่าย
มาถึงช่วงบทสรุปของภาคแรกกับรีวิว MacBook Pro 2018 ตัวท็อปสุดที่ถือว่าเป็น MacBook Pro ที่แรงที่สุดตั้งแต่ Apple เคยทำมา ก็บอกได้เลยว่า
ประทับใจในความเร็วแรงภายใต้การออกแบบที่สวยงามช่วยให้การพกพาไปใช้งานนอกสถานที่นั้นคล่องดีแถมประสิทธิภาพนั้นแรงสุดติ่งจริงๆ
MacBook Pro เครื่องนี้อาจจะไม่ได้แรงเท่า iMac Pro รุ่นพื้นฐานที่ราคาเท่ากัน แต่สิ่งที่คุณจะได้จากมันคือสามารถพกพาไปใช้งานได้ทุกที่ตามที่ต้องการ ด้วยการประมวลผลที่แรงช่วยให้งานระดับโปรนั้นเสร็จได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นเสียเวลาน้อยลง ขอบคุณ USB-C ที่ช่วยให้ MacBook Pro นี้สามารถชาร์จไฟได้จากแบตสำรอง(บางรุ่น) ได้แม้ว่าคุณจะอยู่ระหว่างการเดินทางคุณก็ยังชาร์จไฟยืดเวลาการใช้งานในยามจำเป็นได้
MacBook Pro รุ่นนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน!! แต่มันเหมาะสมกับผู้ที่ต้องการพลังการประมวลผลระดับปีศาจที่พร้อมจะวอร์(ต่อสู้) กับไฟล์งาน 3D, ไฟล์วิดีโอ Footage ความละเอียดสูง ฯลฯ ที่กองอยู่ตรงหน้า เพื่อให้ต้นฉบับเหล่านั้นแปรรูปเป็นผลงานที่ดีที่สุด ก่อนจะเผยแพร่สู่สาธารณชนในอันดับต่อไป
MacBook Pro 2018 วางจำหน่ายในประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยสามารถสั่งผ่าน Apple Store Online ได้ตั้งแต่วันนี้ ส่วนหน้าร้านอย่าง Studio 7 และที่อื่นๆ คาดว่าสินค้าจะเข้าเร็วๆ นี้เช่นกัน ส่วนเรื่องของราคานั้นมีให้เลือกซื้อตั้งแต่ 65,900 บาทไปจนถึง 262,300 บาท ขึ้นอยู่กับความต้องการของแต่ละคนนะครับ
รีวิวรอบแรกของ MacBook Pro 2018 ขอฝากไว้เพียงเท่านี้ก่อน อนาคตจะอยากรีวิวเครื่องนี้ร่วมกับหน้าจอแบบ 4K, 5K แล้วแต่ว่าจะหาได้รุ่นไหนพร้อมกับตัว eGPU และ Docking เอาไว้หาของได้เมื่อไหร่จะรีวิวให้ชมกันอีกครั้งนะครับ
ขอบคุณสำหรับการติดตาม
แอดมิน ต้อม iMoD