การถ่ายภาพบุคคลหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ถ่าย Portrait” นั้น หลายคนคงคิดว่าจะต้องมีนางแบบสวยๆ น่ารักๆ ปากนิด จมูกหน่อยและต้องใช้สถานที่ดีๆ แสงสวยๆ ถึงจะทำให้ได้ภาพออกมาดูดี ซึ่งไม่ผิดครับที่คิดแบบนั้นเพราะผมเองก็คิดเหมือนกัน แต่สิ่งที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อได้นั่งฟังและนั่งคุยกับสุดยอดฝีมืออีกคนหนึ่งของประเทศไทยในเรื่องการถ่ายภาพ “พี่หาว” แห่ง 2how จึงทำให้ผมได้ให้แนวคิดที่สำคัญอีกมากมาย จึงอยากจะถือโอกาสนี้นำมาถ่ายทอดให้แฟนๆ iMod ได้ฟังกันครับ
เทคนิคการถ่ายภาพ Portrait ด้วย iPhone คำแนะนำดีๆ จากพี่หาว 2how
สิ่งที่คุณจะได้จากการอ่านบทความในครั้งนี้คือ รูปแบบการถ่าย Portrait ในแบบต่างๆ, การเลือกแสง, การจัดองค์ประกอบของรูป, การใช้ iPhone X, 8 Plus ในการถ่ายภาพ Portrait และแอปที่ช่วยให้การถ่ายภาพ Portrait นั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น ถ้าหากพร้อมกันแล้ว เราไปติดตามพร้อมกันเลยครับ
คำนิยามของการถ่ายภาพ Portrait คือ
การถ่ายภาพแนวตั้ง บุคคล ครึ่งตัว
นี่คือคำพูดสั้นๆ ที่พี่หาวได้อธิบายเกริ่นให้ฟังและเชื่อว่าทุกคนก็จะเห็นภาพอย่างที่เราคุ้นกันขึ้นมาทันที ดังเช่นตัวอย่างในภาพด้านล่างนี้ ที่เป็นภาพที่ถ่ายตัวบุคคลและเป็นภาพแนวตั้ง นี่แหละคือภาพ Portrait แต่นั่นเป็นเพียงหนึ่งประเภทของการถ่ายภาพแนวนี้เท่านั้น ผมก็สงสัยและคิดในใจว่า “มันมีอะไรที่มากกว่านั้นเหรอครับพี่ ปกติผมก็ถ่ายอยู่เท่านี้” พี่หาวก็เลยอธิบายต่อว่า
การถ่าย Portrait นั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องถ่ายในลักษณะนี้อย่างเดียว แท้จริงแล้ว Portrait มันมีหลายรูปแบบที่นิยมกัน ได้แก่
- Traditional Portrait – ถ่ายภาพบุคคลแบบทั่วไป (ตัวอย่างเหมือนภาพด้านบน)
- Environment Portrait – ภาพบุคคลที่ต้องการเก็บบรรยากาศเข้าไปด้วยแต่ยังคงความเด่นให้ตัวแบบ
- Candid Portrait – ภาพถ่ายที่ตัวแบบไม่ได้ตั้งใจ(เก๊ก) หรือแนว(แอบ)ถ่ายตอนเผลอ
- Glamor Portrait – ภาพถ่ายบุคคลที่แสดงออกความโดดเด่นของตัวแบบเช่น ความเซ็กซี่ รูปทรงของเรือนร่าง
- Lifestyle Portrait – การใช้ชีวิตประจำวันก็สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาพ Portrait ได้
- Conceptual Portrait – การถ่ายภาพบุคคลที่มีการกำหนดรูปแบบซ่อนความหมายให้ตีความจากในรูป ทำให้ผู้ชมได้คิดตาม
- Abstract Portrait – การถ่ายภาพบุคคลในรูปแบบนามธรรม ให้แง่แนวนิดที่จะสื่อสารในรูปแบบที่ผู้ถ่ายนั้นต้องการ
- Surreal Portrait – ภาพถ่ายบุคคลที่เหนือความจริง
พี่หาวบอกว่า “เห็นไหมการถ่าย Portrait มันมีตั้งหลายแบบ มากกว่าที่เราเข้าใจและการถ่ายภาพแนวนอนก็สามารถเรียกว่ารูป Portrait ได้”
หัวใจสำคัญอยู่ที่สิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไปในภาพนั้นว่าอยากเห็นอะไรมากกว่า
และด้านล่างนี้คือภาพตัวอย่างที่พี่หาวให้ส่งมาให้ดูว่าเป็นแนวทางการถ่าย Portrait นั้นมีประมาณนี้ที่นิยมๆ กัน
สองภาพด้านล่างจัดว่าเป็น Environment Portrait ที่ผู้ถ่ายต้องการสื่อตัวแบบให้เด่นชัดแต่ยังคงเก็บสถานที่รอบข้างเอาไว้ในเฟรม เพื่อให้บรรยากาศเหล่านั้นเป็นตัวเล่าเรื่องในภาพได้
จะเห็นว่าภาพด้านล่างนี้ถ่ายแนวนอน (Landscape) ก็แต่ก็สามารถเรียกกว่าเป็นภาพ Portrait ได้ 🙂
เคล็ดลับง่ายๆ ในถ่ายภาพ Portrait
สิ่งนี้มีประโยชน์มากเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนอาจจะมองข้ามแต่พี่หาวย้ำเสมอว่ามันเป็นสิ่งที่สำคัญในการถ่ายแบบแนวนี้ ได้แก่
- แสงและเงา ต้องหาแสงที่ดีเหมาะสมและทำให้สมดุลกับเงา คนที่ถ่ายภาพ Portait ได้เก่งคือคนที่ทำให้สมดุลของแสงและเงาลงตัว พี่หาวให้แนวคิดง่ายๆ ว่า ถ้าเรายืนอยู่ข้างหน้าต่าง ลองหันหน้าให้หน้าต่างเต็มๆ กับลองหันข้างให้หน้าต่างแล้วถ่ายดู ความรู้สึกของภาพที่ได้นั้นจะแตกต่างกัน ลองถ่ายไปเรื่อยๆ แล้วเราจะชิน จะทำให้ถ่ายภาพ Portrait ได้สวยขึ้น
- แสงไม่มีต้องหาแหล่งกำเนิดแสงใกล้ตัว เช่น ข้างถนนมีตู้กดน้ำอัดลมแล้วมีไฟออกมาหรือมีโคมไฟริมถนน เราสามาถใช้แสงเหล่านั้นช่วยในการทำให้ภาพ Portrait ของเราดูสวยงามได้
- พื้นหลังต้องเรียบเงียบไม่วุ่นวาย เพราะเราต้องการให้ตัวแบบดูเด่นสุดในรูป ดังนั้น พื้นหลังต้องไม่ยุ่งเหยิง ทำได้ง่ายๆ เพียงหาผนังเปล่าๆ ผิวเรียบเป็นพื้นหลังก็สามารถถ่ายภาพ Portrait ได้แล้ว แต่ถ้าเลือกไม่ได้จริงๆ สำหรับพื้นหลังที่สุดแสนจะยุ่ง พี่หาวก็บอกต่อไป ให้ถ่ายมุมเงยเสยขึ้นฟ้าสิ เพราะท้องฟ้าคือพื้นหลังที่สามารถหาได้จากทุกๆ ที่ (มันใช่เลยครับพี่จุดนี้!! ผมพูดกับตัวเอง)
- การจัดวางองค์ประกอบของแบบ จุดนี้ก็สำคัญ ตัวแบบควรจะอยู่ในจุดที่สายเรามองเห็นได้ชัดเจนที่สุด ถ้ายึดตามหลักของกฎ 3 ส่วน (Rule of Thirds) ก็จะทำให้ตัวแบบในภาพนั้นดูโดดเด่นขึ้นมาได้
นั่นคือหัวใจหลักๆ ที่ทุกคนสามารถลองทำได้เองง่ายๆ และการถ่ายภาพถ้าอยากจะเก่งพี่หาวบอกเทคนิคทำยังไง ให้ถ่ายเก่งๆ สรุปมาเป็น 3 คำ สั้นๆ ว่า
ต้อง ฝึก ฝน
จึงจะประสบความสำเร็จ 🙂
และพี่หาวก็ให้ดูภาพตัวอย่างอีกชุดที่เกี่ยวกับเรื่องแสง เงาและการจัดการกับพื้นหลัง
แชร์ประสบการณ์ถ่าย Portrait ด้วย iPhone X และแอปที่พี่หาวแนะนำ
พี่หาวใช้ iPhone มาหลายรุ่นและรุ่นล่าสุดที่ถือในมือของพี่เค้าตอนที่ผมได้นั่งคุยด้วยก็คือ iPhone X ซึ่งพี่หาวได้บอกใจความสำคัญว่าทำไมถึงชอบกล้องใน iPhone รุ่นนี้
- เก็บรายละเอียดได้ดีขึ้น เห็น Detail ของรูปเยอะ เก็บสีได้เยอะ ต้นฉบับมาดีสามารถนำไปแต่ง (Post Process) ภาพหลังได้ดี
- เลนส์ดีขึ้น รูรับแสงกว้างขึ้นและเซนเซอร์ใหญ่ขึ้น
- ใช้งานง่าย แม้จะไม่มีโหมด Pro ให้ตั้งค่าเหมือนกล้อง DSLR หรือ Mirrorless แต่กล้องใน iPhone ก็มีความฉลาดในตัว ทำให้ผู้ใช้ Point and Shoot ได้สะดวก รวดเร็วและรูปที่ถ่ายออกมาดี
- Portrait Mode และ Portrait Lighting (ที่มีใน iPhone X และ iPhone 8 Plus) ช่วยเพิ่มลูกเล่นให้กับการถ่ายภาพมากขึ้น ทำให้ทีตัวช่วยเรื่องการจัดแสงที่มีประสิทธิภาพซึ่งไม่คิดว่ากล้องมือถือจะทำได้ดีขนาดนี้มาก่อน
- แอปพลิเคชัน สำหรับการถ่ายและแต่งภาพ เช่น VSCO, Snapseed, RNI และ Lightroom ที่พี่หาวใช้บ่อยในการจัดการกับภาพถ่ายหลังถ่ายเสร็จ (Post Process) ช่วยให้ภาพที่ได้นั้นมีอารมณ์ในภาพขึ้นมาอีก ด้วยการปรับแต่ง โทน, แสง, เงาหรือแม้กระทั่งการเลือกจัดการพื้นหลังให้เบลอในอย่างที่ต้องการได้
นั่นคือประสบการณ์และความประทับใจที่บุคคลในวงการถ่ายภาพแนวหน้าของเมืองไทยได้ถ่ายทอดให้ผมได้ฟัง ซึ่งถือว่าเป็นประโยชน์มากที่ได้มีโอกาสคุยกับพี่หาวในครั้งนี้
โอกาสหน้าถ้ามีช่วงที่เหมาะสม ผมก็อยากให้แฟนเพจ iMod ทุกคน ได้ฟังอย่างที่ผมได้ฟังมา ถ้าเป็นไปได้ผมจะเชิญพี่หาวมา LIVE ให้ฟังสดๆ กันที่เพจ ถ้าวันนั้นมาถึงผมจะแจ้งให้ทุกคนได้ทราบกันอีกครั้งนะครับ สำหรับความรู้ที่ได้ในครั้งนี้ ทำให้ผมอยากจะจับ iPhone แล้วออกไปหัดถ่ายและลงมือทำในสิ่งที่ได้รับรู้มา
หวังว่าบทความครั้งนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่รักการถ่ายภาพทุกๆ คนนะครับ
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการถ่ายวิดีโอต่อ เดี๋ยวไว้โอกาสหน้าจะมาเขียนให้ผ่านกันอีกทีครับ
ขอบคุณรูปภาพประกอบจากพี่หาว 2how ซึ่งทั้งเซ็ตนี้พี่หาวบอกว่าภ่ายจาก iPhone X ทั้งหมดเลย
ทิ้งท้ายไว้กับรีวิว iPhone X ที่ผมได้เขียนเอาไว้หากใครยังไม่ได้อ่านก็เชิญอ่านได้เลยนะครับ