บทความพิเศษฉบับนี้พาเยี่ยมชม รพ. รามคำแหง ซึ่งจัดว่าเป็นโรงพยาบาลที่ได้นำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาให้ระบบบริการดีขึ้น รวดเร็ว แม่นยำมากขึ้น และที่นี่ก็เรียกได้ว่าขนอุปกรณ์ของ Apple ไม่ว่าจะเป็น iPad, iPod touch มาใช้งานมากกว่า 2,450 เครื่องเลยทีเดียว ทำไมต้องใช้เยอะขนาดนั้น แล้วอุปกรณ์เหล่านี้ใช้งานการแพทย์อย่างไรบ้าง
รพ. รามคำแหง(กรุ๊ป) ใช้ iPad, iPod touch กว่า 2,450 เครื่องเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ
ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุก ๆ วงการ ซึ่งทางการแพทย์นั้นก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่ต้องมีการปรับตัวในเรื่องนี้, ทีมงาน iMoD ได้มีโอกาสเยี่ยมชมโรงพยาบาลรามคำแหง ซึ่งจัดได้ว่าเป็นโรงพยาบาลอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่ทำ Digital Transformation ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโดยการต่อยอดจากสิ่งเดิมที่มีและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เพิ่มเข้าไป เรามาชมกันว่าในปี 2020 นี้ ที่โรงพยาบาลแห่งนี้มีอัปเดตด้านเทคโนโลยีในการรักษาและให้บริการผู้ป่วยอย่างไรบ้าง
1. เกริ่นนำ…
บทความนี้จะพูดในมุมมองของคนสายไอทีที่วางตัวว่าเราคือ “ผู้ใช้บริการโรงพยาบาลรายหนึ่ง” ที่มีโอกาสได้เห็นว่า ณ ปัจจุบัน โรงพยาบาล (เอกชน) ได้ลงทุนอย่างไรบ้างกับระบบ “ไอที” ที่เป็นคำสั้น ๆ แต่มันคือสิ่งที่สำคัญมาก ๆ โดยจะไม่ได้เน้นในเรื่องการรักษาทางการแพทย์นะครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป
2. โรงพยาบาลกับระบบไอทีเปรียบเหมือน “กิ่งทองกับใบหยก” ที่ต้องมีคู่กัน
เดิมที (อาจจะรวมถึงปัจจุบันในหลาย ๆ โรงพยาบาล) การเก็บข้อมูลของคนไข้จะใช้ระบบแฟ้มเอกสาร ที่ต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ ลงไว้ในนั้น และในแต่ละวันลองคิดดูว่ามีคนไข้มาใช้บริการเท่าไหร่ ถ้าโรงพยาบาลใหญ่ ๆ มีถึงพันคนอย่างแน่นอนและรู้หรือไม่ว่า
ขั้นตอนที่กินเวลาของบุคลากรทางการแพทย์ไปมากนั่นคือ การค้นหาแฟ้มประวัติคนไข้ ถ้า 1 แฟ้มต้องใช้เวลาเฉลี่ย 5-10 นาทีในการค้นหาหรืออาจจะนานกว่านั้น ลองคิดดูว่า 1 วัน, 1 เดือน หรือ 1 ปี โรงพยาบาลแห่งนั้นจะเสียเวลาไปกับจุดนี้นานเท่าไหร่
นี่ยังไม่รวมเรื่องการเดินแฟ้ม ส่งแฟ้มไปที่ตึกต่าง ๆ ที่คนไข้ต้องไปตรวจและรวมไปถึงเรื่องแฟ้มหายอีก, หรือการอ่านลายมือหมอไม่ออก ส่งผลให้จ่ายยาผิด ฯลฯ ยิ่งวุ่นไปใหญ่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ควรมาอยู่ในระบบออนไลน์ได้แล้ว
ที่โรงพยาบาลรามคำแหงได้เล็งเห็นปัญหาจุดนี้และได้เริ่มจริงจังกับการนำระบบไอทีมาแทนที่ระบบเดิมโดยมีจุดประสงค์หลัก ๆ คือ
การรักษาผู้ป่วยต้องต่อสู้กับเวลา ระบบไอทีช่วยให้ชี้ความเป็นความตายของคนไข้ได้ โดยตั้งเป้าว่าระบบต้องทำงานได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำ, ช่วยให้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทำงานและตัดสินใจในการรักษารวดเร็วและทันเวลาครบถ้วนสมบูรณ์ทุกฝ่าย
จึงทำให้ในปัจจุบันที่โรงพยาบาลรามคำแหงนั้นมีการพัฒนาระบบไอที ทั้งด้านซอฟต์แวร์พร้อมกับอัปเกรดระบบฮาร์ดแวร์และเน็ตเวิร์กจนครบถ้วน ส่งผลให้ภาพรวมของการให้บริการนั้นรวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำ สามารถให้บริการผู้ป่วยกว่า 2,200 คนต่อวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. ภาพรวมของระบบไอทีในโรงพยาบาลรามคำแหง
ระบบซอฟต์แวร์หลักของการจัดการข้อมูลในโรงพยาบาลแห่งนี้ประกอบไปด้วย
- ระบบหลักคือ Hospital Information System หรือ HIS (เปรียบเสมือน iOS ของ iPhone) โดยระบบนี้จะเป็นตัวกลางในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ในโรงพยาบาลเอาไว้ทั้งหมด เช่น เวชระเบียน, แพทย์, พยาบาล, เภสัชกร, การเงิน, ระบบ X-ray ฯลฯ อยู่ในนี้ทั้งหมด
- แอปพลิเคชันสำหรับผู้ใช้จะแบ่งออกเป็น สำหรับบุคลากรในโรงพยาบาลและสำหรับผู้ป่วย ซึ่งทำหน้าที่แตกต่างกันออกไป แต่เป้าหมายเดียวกันคือ เชื่อมการทำงานทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเข้าด้วยกัน
- แอปพลิเคชัน RAM SmartWard ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่แพทย์ พยาบาล และ บุคลากรทางการแพทย์ ในการจัดการคำสั่งการรักษา และเข้าถึงข้อมูลของคนไข้ไม่ว่าจะเป็น ประวัติการรักษา การเจ็บป่วย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ช่วยให้การวินิจฉัยโรค การติดตามการรักษา และการจ่ายยาทำได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมถึงการสื่อสารและอธิบายแนวทางในการรักษาแก่คนไข้เป็นไปอย่างสะดวกและเข้าใจได้ง่ายขึ้น
- แอปพลิเคชัน RAM SmartOPD คือ แอปที่ช่วยจัดการ Patient Journey สำหรับผู้ป่วยนอก โดยสามารถบริหารข้อมูลคนไข้สำคัญ ตั้งแต่คนไข้เริ่มติดต่อที่แผนกเวชระเบียน การกรอกคัดกรองประเมินคนไข้ ข้อมูลตรวจวัดชีพจร บริหารคิวเพื่อเข้าพบแพทย์ การส่งต่อคนไข้ทำหัตถการ การบันทึกการรักษาต่างๆ เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการรับบริการ
- ฝ่ายผู้รับบริการ (ผู้ป่วย) จะมีแอป RAM Hospital สำหรับดูข้อมูลต่าง ๆ เช่น คิวการรักษากรณีที่ไปตรวจรักษาเคสผู้ป่วยนอกว่าได้คิวที่เท่าไหร่และต้องเข้าตรวจกับแพทย์ท่านใด ฯลฯ ให้ผู้ป่วยได้ตรวจเช็คคิวได้ง่ายเผื่อต้องเดินไปธุระเช่นเข้าห้องน้ำ จะได้ไม่พลาดคิวและบริหารจัดการเวลาได้
เมื่อทุกระบบทำงานร่วมกันอย่างเต็มประสิทธิภาพแล้วพบว่าการให้บริการในภาพรวมเร็วขึ้น
4. ตัวอย่างรูปแบบการให้บริการ (Patient Journey) ที่โรงพยาบาลรามคำแหง
ผู้ป่วยที่มารับการรักษานั้นไม่ต้องไปที่งานเวชระเบียนเพียงที่เดียว แต่ที่โรงพยาบาลแห่งนี้สามารถเข้าไปติดต่อได้ทุกเค้าท์เตอร์ เพราะระบบเชื่อมต่อกันไว้หมดแล้ว ในแง่การค้นหาข้อมูลประวัติคนไข้สามารถทำได้ในไม่กี่วินาที เมื่อดึงจากฐานข้อมูลกลาง สุดท้ายผู้ป่วยสามารถเข้ารับการวินิจฉัยและรับการรักษาได้ในเวลาไม่กี่นาที โดยไม่ต้องรอหลายชั่วโมง
เมื่อถึงคิวเรียกตรวจ ที่ห้องแรกพยาบาลจะเป็นผู้สอบถามข้อมูลเบื้องต้นและอาการของผู้ป่วย โดยจะมีแอปพลิเคชัน RAM SmartOPD ในการกรอกข้อมูล ผู้ป่วยสามารถเลือกกรอกผ่านแอปได้เลย โดยที่พยาบาลไม่ต้องมานั่งจดข้อมูลลงกระดาษให้เสียเวลา
ข้อมูลจากพยาบาลในขั้นที่ 2 จะส่งเข้าระบบและต่อไปคือหน้าที่ของแพทย์ที่จะดึงข้อมูลเหล่านั้นออกมาดู ซึ่งจะใช้วิธีการสแกนข้อมูลจาก QR Code ของคนไข้และกระดาษเพื่อยืนยันความถูกต้อง จากนั้นแพทย์จะสามารถตรวจวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้เลย ถ้าต้องสั่งยาไปยังเภสัชกร ทางแพทย์ผู้รักษาก็จะกรอกข้อมูลเข้าในระบบซึ่งแน่นอนว่าดีกว่าการเขียนจากลายมือแพทย์แน่นอน รายการสั่งยานั้นก็จะถูกส่งตรงไปยังห้องยา โดยไม่ต้องให้ผู้ป่วยถือใบสั่งยามาที่ห้องยาด้วยตัวเอง
สุดท้ายคือ ผู้ป่วยสามารถเดินไปชำระเงินและรับยา จากนั้นก็กลับบ้านได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพิ่ม Productivity ของโรงพยาบาลได้ดีเป็นอย่างมาก
5. แล้ว iPad, iPod touch นั้นเกี่ยวกับโรงพยาบาลรามคำแหงยังไง?
อย่างที่ได้บอกไปในขั้นตอนที่บอกว่ามีการพัฒนาแอปพลิเคชันอย่าง RAM SmartWard, RAM SmartOPD เพื่อให้แพทย์และพยาบาลได้ใช้นั้นก็ต้องบอกแบบนี้ครับว่า อุปกรณ์ที่โรงพยาบาลเลือกใช้ก็คือ iPad และ iPod touch ด้วยเหตุผลที่ว่า
- iPad ช่วยให้แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ ทำงานได้อย่างคล่องตัว เข้าถึงข้อมูลสำคัญของคนไข้ได้ทุกที่ ทุกเวลา มีความถูกต้อง แม่นยำ ลดขั้นตอนและเวลาการทำงานในหลาย ๆ ส่วน และที่สำคัญมีความปลอดภัยในการดูแลรักษาข้อมูลของคนไข้
- ความสะดวกในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่พัฒนาตัวเดียวสามารถใช้งานได้ทุกอุปกรณ์ทั้ง iPad, iPod touch
- อุปกรณ์ของ Apple พร้อมทั้งระบบ iOS, iPadOS มีความเสถียรและหากมีการอัปเกรดรุ่นใหม่ก็ยังสามารถใช้งานกับแอปรุ่นเก่า ๆ ได้ไม่เกิดปัญหา
- ทาง Apple มีระบบ App Store สำหรับองค์กรให้ใช้งานซึ่งเพิ่มความสะดวกในการจัดการแอปภายในของโรงพยาบาล
- Apple มีระบบจัดการอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ชื่อว่า Apple Business Manager มาช่วยให้ผู้ดูแลระบบไอทีจัดการอุปกรณ์ iDevice ได้ง่ายและสะดวก ซึ่งสามารถจัดการหลาย ๆ อุปกรณ์ได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้ประหยัดทั้งเวลาและลดจำนวนคนที่ทำงานในจุดนี้ลง นั่นหมายถึงการลดต้นทุนลงนั่นเอง
ดังนั้น ทางโรงพยาบาลรามคำแหงและโรงพยาบาลในเครือของรามคำแหงกรุ๊ป อีก 6 แห่งได้แก่
- โรงพยาบาลสินแพทย์ รามอินทรา
- โรงพยาบาลสินแพทย์ ลำลูกกา
- โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม
- โรงพยาบาลลานนา
- โรงพยาบาลสุขุมวิท
- โรงพยาบาลขอนแก่นราม
จึงได้มีการใช้งาน iPad รวมกันทั้งหมดกว่า 2,000 เครื่อง และ iPod touch อีก 450 เครื่อง ควบคู่ไปกับแอปพลิเคชัน RAM SmartWard และ RAM SmartOPD ในการจัดเก็บ วิเคราะห์ข้อมูล บริหารการรักษา รวมถึงการจ่ายยาให้แก่คนไข้ และทำให้ภาพรวมในการให้บริการนั้นสะดวก รวดเร็ว ถูกต้องแม่นยำมากยิ่งขึ้น จนทำให้เป็นอีกหน่ึงปัจจัยที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก JCI (Joint Commission International Standard Accreditation) สหรัฐอเมริกา หลายปีติดต่อกัน
ทั้งนี้นอกจากระบบซอฟต์แวร์พร้อมกับอุปกรณ์ iPad, iPod touch ที่กล่าวมาแล้วนั้น ระบบเครือข่ายและระบบอินเทอร์เน็ตก็สำคัญด้วย ทางโรงพยาบาลรามคำแหงก็ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ที่จะป้องกันไม่ให้ระบบล่ม จึงจำเป็นต้องทำระบบสำรองทั้งไฟฟ้าและอินเทอร์เน็ตเพื่อป้องกันหากเกิดว่าฝั่งใดฝั่งหนึ่งเสีย ก็ยังมั่นใจว่าระบบในโรงพยาบาลนั้นยังทำงานได้อยู่
นี่จึงถือว่าเป็นเคสตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่า การนำระบบไอทีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในโรงพยาบาล สามารถทให้เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการมากยิ่งขึ้น
ซึ่งก็หวังว่าในทุก ๆ โรงพยาบาลของประเทศไทยของทางภาครัฐเองควรจะมีระบบนี้เอาไว้ใช้งาน พร้อมกับพัฒนาให้เท่าทันกับโรงพยาบาลเอกชน
ซึ่งภาษีของประชาชนไทยกว่า 68 ล้านคนแต่ละปีรวมกันกว่า 2 ล้านล้านบาท น่าจะไม่ใช่เรื่องยากที่จะนำเงินเหล่านั้นมาจัดสรรเป็นงบประมาณมาดูแลจุดนี้ เพราะผลประโยชน์ทั้งปวงก็จะตกแก่ประชาชนคนไทยทุกคน ให้ได้รับบริการทางการแพทย์ที่ดี สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากกว่าปัจจุบัน
เกี่ยวกับโรงพยาบาลรามคำแหง
โรงพยาบาลรามคำแหงเป็นโรงพยาบาลเอกชน จำนวน 486 เตียง ภายใต้การดูแลของ รามคำแหงกรุ๊ปที่ได้รับความไว้วางใจ ด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขา บุคลากรทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ตลอดทั้งมีคลินิกพิเศษเฉพาะทาง ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับนานาชาติจาก JCI (Joint commission international standard Accreditation) สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นหน่วยงานระหว่างประเทศที่ให้การรับรองคุณภาพโรงพยาบาลทั่วโลก โดยปัจจุบันมีโรงพยาบาลประมาณ 200 แห่งที่ได้รับการรับรองมาตรฐานนี้ ความโดดเด่นของทีมแพทย์โรงพยาบาลรามคำแหงได้แก่ การมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้บริการรักษาครบทุกสาขาพิเศษ อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด, ผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทวิทยา, ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง และผู้เชี่ยวชาญด้านการศัลยกรรมกระดูกและข้อ เป็นต้น
ผู้ให้ข้อมูล
นพ.สุธี ลีละเศรษฐกุล กรรมการบริหาร โรงพยาบาลรามคำแหง
คุณชัยยุทธ ตันประทุมวงษ์ กรรมการบริหารคอมพิวเตอร์และผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย-พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม โรงพยาบาลรามคำแหง