ช่วงนี้ 360 Security By Qihoo 360 มีการโหมโฆษณาอยู่บ่อยครั้ง ทำให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปได้ไม่ยาก แต่สิ่งที่หลายคนถามเข้ามาคือ “มันดีจริงไหม?” และ “มันปลอดภัยจริงหรือเปล่า?” เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายคำถามจากแฟนเพจเข้ามาอยู่เหมือนกัน วันนี้จึงขอถือโอกาส เสี่ยงตาย ทดสอบดาวน์โหลดมารีวิวให้ทุกท่านได้ทราบกัน
ความประทับใจแรกพบ
จากบทความเก่า 360 Security ทำการตลาดแบบนี้ ไม่ดีเลย !! และข้อความด้านบนก็คือป้ายโฆษณาของเขาที่คุณจะต้องทึ่ง! (ไม่ใช่ละ) ความประทับใจแรกพบสำหรับหลายคนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และความสัมพันธ์ที่เริ่มต้นด้วยการหลอก ก็เหมือนกับการมองลูกค้าเป็นโคตัวหนึ่งเท่านั้นเอง
Qihoo บริษัทนี้ไม่ใช่ไก่กามาจากไหน
หากคุณกำลังนึกถึงบริษัทธุรกิจ MLM ที่แสนจะฉาบฉวยชนิดที่ว่ากำไรล้านเดียวโม้ว่าตัวเองกำไรร้อยล้าน รายได้เดือนไม่กี่พันโม้ว่าตัวเองขับรถสปอร์ตหรู ขอให้ลืมความคิดนี้ไปได้เลยอันที่จริงแล้ว Qihoo เป็นบริษัทใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อเมริกา (NYSE:QIHU) โดยในปีที่ผ่านมาทำกำไรได้ “$222 ล้านเหรียญสหรัฐ” (ประมาณ 8,011 ล้านบาท) ซึ่งรายได้ส่วนใหญ่มาจากโฆษณา
และนับได้ว่า Qihoo ถือเป็นหนึ่งในสามมังกรไอทีของจีน (Qihoo, Baidu, Tencent) ที่แข่งขันกันดุเดือดในการแย่งฐานลูกค้าเพื่อวางหมากในอนาคต และปฏิเสธไม่ได้ว่า Qihoo เองก็มีชื่อเสียงในด้าน Antivirus มาช้านาน (ทั้งในด้านชื่อเสียงที่ดีและไม่ดี) แต่รับประกันได้ว่าไม่ใช่โปรแกรมปลอมอย่างแน่นอน
หลายคนอาจมีความรู้สึกไม่ดีกับ Baidu เพราะชื่อเสียที่เคยทำ PC Faster เอาไว้ แต่ประสบการส่วนตัวของผมที่เคยได้ลอง Baidu Browser ก็ไม่ได้ถึงกับแย่ตรงเท่าไหร่ มีเครื่องมือค่อนข้างพร้อมน่าจะเหมาะกับคนไทยด้วยซ้ำ (แต่เข้าใจว่าโปรแกรมลูกพี่ลูกน้องของมันก่อวีรกรรมไว้เยอะ) และพอคู่แข่งอย่าง Qihoo เข้ามาก็กลายเป็นถูกเหมารวมไปด้วย
ส่วนสุดท้าย Tencent ที่หลายคนอาจไม่ค่อยคุ้น แต่เขาคือเจ้าของ WeChat (และอีกหลายเกมที่คนไทยชอบเล่น) รวมถึงเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของเว็บไซต์ Sanook นั่นเอง … ส่วนโปรแกรมเด็ด ๆ ยังไม่ค่อยมีมาให้เห็นเท่าไหร่นัก อาจเป็นเพราะโมเดลทำธุรกิจที่ต่างกันเล็กน้อย
เล่ามาเสียยาวเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่า
360 Security มีให้ดาวน์โหลดทั้งบน Android และ iOS สำหรับโฆษณาดูเหมือนจะเน้นไปที่ “ความปลอดภัย” และ “เร่งความเร็วเครื่อง” ข่าวดีคือ iOS เป็นระบบปิดและแทบไม่เปิด Permission ที่สำคัญให้แอปฯ นอกได้เข้าถึงเลย มันจึงเข้ามาวุ่นวายกับระบบไม่ได้เหมือนกับ Android
และด้วยเหตุนี้เองมันจึงทำให้ 360 Security เป็นเพียง “App จัดการรูปธรรมดา” ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (ตามชื่อ) เลยสักนิด
ว่าแล้วเรามาเริ่มรีวิวกันเลยดีกว่า ว่าแอปพลิเคชันจัดการรูปภาพนี้ มันจะทำอะไรได้บ้าง? (ดังนั้นใครถูกหลอกให้ดาวน์โหลดเพียงเพราะกลัวเครื่องไม่ปลอดภัยสามารถข้ามไปได้เลย … แต่ถ้าใครอยากใช้งานจะโหลดมาเพื่อจัดการรูปก็ได้ไม่ว่ากัน) เท่าที่ดูการขออนุญาตของแอปฯ มีการขอเข้าถึง
- Photos (ไม่แปลก)
- Notifications (น่าจะสำหรับแจ้งเตือนเมื่อชาร์จเสร็จ)
- Cellular Data (น่าจะสัมพันธ์กับเรื่อง “รายงานการใช้งาน”)
สำหรับข้อสุดท้ายอาจดูแปลกนิดหน่อย แต่ก็พอที่จะฟังขึ้นอยู่
360 Security By Qihoo 360
ความน่าผิดหวังอย่างแรกก็คือมันไม่มีแอปฯ เฉพาะสำหรับขนาด iPad (น่าเสียดายจัง) ถูกออกแบบมาเพื่อจัดการรูปภาพซ้ำโดยเฉพาะ (ความสามารถมันมีแค่นี้) เหมาะสำหรับคนที่ใช้ iPhone ความจุเยอะ ๆ และชอบถ่ายรูปหลัก “พันรูปขึ้นไป” และเมื่อไปที่ตั้งค่าก็มีเพียงแค่
- แจ้งเตือนเมื่อชาร์จเสร็จ
- อย่ารบกวนในช่วงกลางคืน
ที่ดูน่าสนใจคือเรื่อง “รายงานการใช้งาน” ที่ถูกเปิดมาตั้งแต่เริ่มเลย ไม่ทงไม่ถามเรื่องสุขภาพเลยซักคำ – -* อันนี้ขอเดาว่าคงเป็นการเก็บข้อมูลผู้ใช้งานเล็กน้อย ว่าออนไลน์ตอนกี่โมงใช้งานนานแค่ไหน ฯลฯ อันนี้โอเคไม่ว่ากัน
เมื่อกดไปที่ตรวจสอบระบบ จะมีการสแกนเล็กน้อยเพื่อหารูปในเครื่องแบ่งออกเป็น
- รูปภาพที่บีบอัดได้ (ส่วนใหญ่เป็นรูปขนาดใหญ่ที่โอนถ่ายมาจาก DSLR)
- รูปภาพซ้ำซ้อน (อาจเป็นรูปภาพที่คล้ายกันหรือถ่ายหลายรอบ)
- สกรีนช็อต (น่าจะหมายถึงรูปที่เรา Capture ไว้ซ้ำกัน)
- รูปที่กรองแล้ว (รูปเดียวกัน, รูปซ้ำกัน, รูปก่อนแต่งและหลังแต่)
โดยรวมแล้วฟีเจอร์ก็มีประมาณนี้ เป็นอันขอจบการรีวิวแต่เพียงเท่านี้ ~* เดี๋ยวนะ! ทำไมจบไวจัง
ความแตกต่างระหว่าง “รูปภาพซ้ำซ้อน” กับ “รูปที่กรองแล้ว” อันที่จริงตรงนี้น่าจะแปลว่า “รูปที่คล้ายกัน” กับ “รูปที่เหมือนกัน” น่าจะเข้าใจได้ง่ายกว่า (แต่ไม่เป็นไรเป็นอันว่าเข้าใจกัน) โดยตรงนี้ผู้ใช้งานสามารถเลือกรูปที่ไม่ต้องการแล้วทำการลบได้เลย
สำหรับความสามารถเรื่องประหยัดแบตเตอรี่เป็นอะไรที่ค่อนข้างไร้สาระ เพราะเป็นการบอกปริมาณแบตเตอรี่ที่เหลือ พร้อมกับการคำนวณแบบคร่าวว่าเราสามารถใช้งานได้อีกเท่าไหร่ เช่น ดูหนัง, ฟังเพลง, ถ่ายรูป, ฯลฯ
https://youtu.be/i_KTZgXVEJ0
สรุป
ไม่ได้เกี่ยวกับความปลอดภัยเลยสักนิด อันที่จริงน่าจะชื่อ “360 Photos Management” เสียมากกว่า ส่วนเรื่องประโยชน์ก็ยังพอมีอยู่บ้าง สำหรับคนที่ต้องการจัดการรูปภาพที่ซ้ำกันในเครื่อง และเพื่อความสั้นง่ายสไตล์จึงขอสรุปดังนี้
- มันไม่ได้ทำให้ปลอดภัยขึ้น
- มันไม่ได้ทำให้เครื่องไม่ปลอดภัย
แต่ที่แน่คือ “การตลาดไม่จริงใจและฉาบฉวย” เพราะเริ่มต้นด้วยการ “หลอกให้ดาวน์โหลด”
- ดาวน์โหลด : 360 Security [Free]
#จบข่าว