หากเราเป็นคนที่ชอบฟังเพลง ดูหนัง เล่นเกมส์ แต่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คนพลุกพล่านหรือมีเสียงรบกวน ทีมงานมีหูฟัง True Wireless ที่มีคุณสมบัติตัดเสียงรบกวนและใช้งานสะดวกจาก Sony รุ่น WF-1000XM3 มารีวิวให้รับชมกันค่ะ
รีวิวหูฟังบลูทูธไร้สาย Sony WF-1000XM3
หูฟัง Sony รุ่น WF-1000XM3 เป็นหูฟังบลูทูธไร้สายที่มาพร้อมขนาดเล็ก สวมใส่สะดวก ใช้งานต่อเนื่องได้ตลอดทั้งวัน และที่สำคัญคือหูฟังรุ่นนี้มีชิปเซ็ตการตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) ได้ดีมากๆ พร้อมปรับโหมดห้ามตัดเสียงรบกวนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของผู้ใช้อัตโนมัติและควบคุมด้วยการสัมผัส
ชมวิดีโอ
แกะกล่องหูฟัง Sony WF-1000XM3
ด้านหน้ากล่องแสดงรูปหูฟัง Sony WF-1000XM3 ส่วนด้านหลังอธิบายการใช้งานเบื้องต้นที่มีหลากหลายภาษาเลยทีเดียว แกะกล่องด้วยการสไลด์ออก มาดูกันเลยว่าอุปกรณ์ในกล่องหูฟัง Sony WF-1000XM3 มีอะไรบ้าง
- ชุดหูฟัง Sony WF-1000XM3 1 คู่
- เคสชาร์จหูฟัง 1 ชิ้น
- ซิลิโคนสำหรับเปลี่ยนขนาดหูฟัง 6 คู่
- สายชาร์จ USB-C 1 เส้น
- คู่มือการใช้งาน 1 ชุด
การออกแบบสวยงาม ทันสมัย ขนาดกระทัดรัด
ตัวหูฟัง Sony WF-1000XM3 ที่นำมารีวิวเป็นสีดำโรสโกลด์ มีลักษณะเป็น In-Ear ขนาดเล็กกระทัดรัด ดีไซน์สวยงามทันสมัย มีไมโครโฟนอยู่ตรงกลางหูฟังทั้ง 2 ข้าง สามารถใช้งานแยกกันได้อย่างอิสระ เช่น เวลาที่คุยสายสนทนาก็เลือกใช้งานข้างซ้ายข้างเดียว ส่วนข้างขวาชาร์จเก็บในเคสชาร์จหูฟังได้
สำหรับการสวมใส่สามารถสอดหูฟังเข้าไปพร้อมกับบิดหูฟังขึ้น เพื่อให้หูฟังกระชับกับใบหูด้านนอก แนะนำว่าควรเลือกจุกซิลิโคนที่มีขนาดเหมาะสมกับรูหูของตนเอง เมื่อสวมใส่รับรองว่าหูฟังจะกระชับแน่น ไม่หลุดระหว่างเคลื่อนไหว
ส่วนของเคสชาร์จหูฟังถูกออกแบบให้เป็นกล่องสี่เหลี่ยม ด้านล่างโค้งมนเหมือนกับเคส AirPods แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย แต่ขนาดของเคสก็ยังคงเป็นขนาดที่พกพาได้สะดวก จับถือมือเดียวได้ หรือจะพกพาใส่กระเป๋ากางเกงก็ไม่เกะกะ
ตัวเคสเป็นวัสดุพลาสติกคุณภาพดี ให้สัมผัสนุ่มมือ เคสด้านล่างมีสีดำ ส่วนฝาเป็นสีโรสโกลด์ที่ให้ความสวยงามแบบพรีเมี่ยม เปิดหรือปิดฝาได้ง่าย สามารถนำหูฟังใส่เข้าไปในเคสเพื่อชาร์จแบบไร้สายได้ โดยต้องวางตำแหน่งหูฟังให้ถูกข้าง ตัวเคสและหูฟังจะมีแม่เหล็กยึดติดกัน ทำให้หูฟังไม่หลุดออกจากเคสได้ง่าย
เชื่อมต่อบลูทูธใช้งานร่วมกับ iPhone ง่ายๆ
หูฟัง Sony WF-1000XM3 เป็นหูฟัง True Wireless ที่สามารถเชื่อมต่อแบบไร้สายได้เท่านั้น ดังนั้นการเชื่อมต่อจะต้องใช้ระบบบลูทูธ โดยเชื่อมต่อกับอุปกรณ์สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต หรือแล็ปท็อป ที่มีระบบบลูทูธ
การเชื่อมต่อก็ทำได้ง่ายมากๆ เพียงแค่นำหูฟังออกมาจากเคสหูฟัง จากนั้นก็เปิดเมนูบลูทูธบนสมาร์ตโฟน และเลือกเชื่อมอุปกรณ์ WF-1000XM3 ได้เลย
เมื่อเชื่อมต่อหูฟังกับสมาร์ตโฟนไว้แล้ว การใช้งานครั้งถัดไปจะสะดวกมากขึ้น เนื่องจากเวลาที่นำหูฟังออกมาจากเคส หูฟังก็จะเชื่อมต่อสมาร์ตโฟนให้อัตโนมัติ ก็สามารถเปิดเพลงฟังหรือดูหนังได้โดยไม่ต้องเชื่อมต่อบลูทูธใหม่
ส่วนการสลับเชื่อมต่อไปยังอุปกรณ์อื่นครั้งแรก จะต้องใส่หูฟังไว้ พร้อมกับแตะหูฟังตรง Touch Sensor ทั้ง 2 ข้างและแตะค้างไว้ประมาณ 7 วินาที จนกว่าชื่ออุปกรณ์จะปรากฏในส่วนบลูทูธของสมาร์ตโฟนเครื่อง เมื่อพบชื่ออุปกรณ์ WF-1000XM3 แล้วก็สามารถเชื่อมต่อได้เลย แต่ครั้งถัดไปก็สามารถเข้าไปเชื่อมต่อในส่วนบลูทูธได้เลยโดยไม่ต้องแตะค้าง 7 วินาที
ใช้งานร่วมกับแอป Sony Headphone ปรับแต่งการใช้งานแบบครบวงจร
เราสามารถดาวน์โหลดแอป Sony Headphone เข้ามาแล้ว ให้เปิดแอปและเชื่อมต่อกับหูฟัง WF-1000XM3 ได้เลย ทีมงานจะยกตัวอย่างการตั้งค่าหูฟังเด่นๆ ดังนี้
โหมด Adaptive control
Adaptive control เป็นการตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้ใช้ว่ากำลังนั่ง เดิน วิ่ง หรืออยู่บนยานพาหนะ เมื่อตรวจจับแล้วหูฟังจะปรับโหมดตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) หรือปรับเป็น Ambient Sound ให้เหมาะสมตามสถานการณ์หรือตามระดับที่เราตั้งค่าไว้
การปรับ EQ
เป็นการปรับเพิ่มหรือลดความถี่ของแต่ละเสียงได้โดยตรง สามารถเลือกได้หลากหลายแนว เช่น แบบเสียงใสฟังสบาย หรือเสียงโทนเบสหนัก และผู้ใช้ก็สามารถปรับเองได้ด้วยเช่นกัน แล้วแต่ความชอบว่าจะเน้นแเสียงหลมเน้นเสียงเบสก็ปรับระดับได้เลย
การปรับตั้งค่าคำสั่งหูฟังซ้ายและขวา
ผู้ใช้ยังสามารถกำหนดการทำงานให้กับหูฟังด้านซ้ายและด้านขวา เพื่อใช้งาน Touch Sensor ในการควบคุมต่างๆ เช่น ตั้งค่าให้หูฟังด้านซ้ายเป็นการควบคุมการเปิดปิดระหว่างโหมด Ambient Sound และ Noise Cacellation และตั้งค่าให้ด้านขวาเป็นการควบคุมมีเดีย (Playback) หรือจะตั้งค่าให้ทำงานร่วมกับ Google Assistance ก็ได้
นอกจากนี้ยังมีการอัปเดตซอฟต์แวร์และการปรับตั้งค่าส่วนอื่นๆ เช่น การตั้งค่าให้หูฟังหยุดเล่นชั่วคราวเมื่อเราเอาหูฟังออกและกลับมาเล่นต่อเมื่อสวมใส่ หรือจะปรับให้หูฟังปิดเองอัตโนมัติเมื่อไม่ได้ใช้งาน 5 นาที และยังมีการตั้งค่าอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเราสามารถดูและตั้งค่าได้ภายในแอป
ใช้งานด้วยคำสั่ง Touch Sensor ง่ายๆ เพียงแตะนิ้ว
Touch Sensor เป็นฟีเจอร์ที่อำนวยความสะดวกในการใช้งาน บนตัวหูฟังจะมีส่วนวงกลมที่เราสามารถแตะเพื่อควบคุมหรือออกคำสั่งการทำงานของหูฟังได้ โดยที่ไม่ต้องจัดการบนหน้าจอ iPhone ซึ่งเราจะต้องตั้งค่าการทำงานให้กับหูฟังแต่ละข้างภายในแอป
การใช้ Touch Sensor สำหรับเปิดปิด Ambient Sound
ถ้าเราตั้งค่าหูฟังด้านใดด้านหนึ่งเป็นการควบคุมการเปิดปิด Ambient Sound โดยผู้ใช้สามารถแตะที่หูฟัง 1 ครั้งสลับเปิดโหมด เปิดปิด Ambient Sound ให้ได้ยินเสียงรอบข้าง แตะแตะอีกครั้งเพื่อปิดโหมด เปิดปิด Ambient Sound Noise Canllation ที่ตัดเสียงรบกวนภายนอก และแตะอีก 1 ครั้งเพื่อเปิดโหมด Ambient Sound ที่เปิดรับให้ได้ยินเสียงภายนอก การแตะ 1 ครั้งที่หูฟังจะเป็นการสลับระหว่าง 2 โหมดนี้
อย่างเช่น เวลาที่เราต้องการความเป็นส่วนตัว ก็สามารถเปิดโหมด Noise Cancellation ไว้ แต่ถ้าหากเรากำลังเข้เดินอยู่ในที่สาธารณะก็สามารถเปิดโหมด Ambient Sound เพื่อให้ได้ยินเสียงรอบข้าง ซึ่งจะปลอดภัยมากกว่าตัดเสียงรบกวนออกทั้งหมด
นอกจากนี้เวลาที่เราเปิดโหมดตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) ไว้ แล้วต้องการได้ยินเสียงภายนอกชั่วคราว เช่น เวลาที่เพื่อนคุยด้วย หรือฟังเสียงประกาศจากภายนอก ก็สามารถแตะค้างที่หูฟังด้านที่ตั้งค่าเป็น Ambient Sound เพื่อหยุดฟัง เมื่อนำนิ้วออกหูฟังก็จะกลับเข้าสู่โหมดตัดเสียงรบกวนเหมือนเดิม
การใช้ Touch Sensor สำหรับ Playback
ถ้าเราตั้งค่าหูฟังด้านในดด้านหนึ่งเป็นการควบคุมการเล่นมีเดียหรือ Playback ไม่ว่าจะเป็นเพลงหรือการเล่นวิดีโอ สามารถควบคุมได้ดังนี้
- แตะ 1 ครั้ง เพื่อหยุดมีเดียชั่วคราวหรือเล่นต่อ
- แตะ 2 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงถัดไป
- แตะ 3 ครั้ง เพื่อเล่นเพลงก่อนหน้า
การใช้งาน Siri และ Google Assistance
ทีมงานได้ทำการเชื่อมต่อหูฟังกับ iPhone ดังนั้นจึงใช้งานร่วมกับ Siri โดยเรียกใช้ Siri จากหูฟังด้านขวาโดยการแตะข้างเพื่อเรียก Siri จากนั้นก็พูดคำสั่งที่ต้องการได้เลย และแน่นอนว่าการปรับเพิ่มหรือลดระดับเสียงหูฟัง เราจะต้องใช้สั่ง Siri ให้ช่วยลดหรือเพิ่มระดับเสียงให้เหมือนกับ AirPods
ผู้ใช้สามารถใช้งานหูฟังร่วมกับ Voice Assistance อย่าง Google Assistance ได้ โดยตั้งค่าภายในแอปให้หูฟังข้างใดข้างหนึ่งทำงานร่วมกับ Google Assistance (ใช้งานได้กับสมาร์ตโฟน Android)
- แตะค้างหูฟังด้านขวา เพื่อสั่งงานด้วยเสียง
- แตะหูฟังหูฟังด้านขวา 1 ครั้ง เพื่อรับการแจ้งเตือน
- แตะหูฟังหูฟังด้านขวา 2 ครั้ง เพื่อยกเลิกคำสั่ง
รับสายโทรเข้าและวางสาย
และเมื่อมีสายโทรศัพท์เข้า เราก็สามารถแตะหูฟังด้านขวา 2 ครั้งเพื่อรับสายได้ทันที หากต้องการวางสายก็แตะที่หูฟัง 2 ครั้งเหมือนกัน
สุดยอดหูฟังตัดเสียงรบกวนยอดเยี่ยม
จากการใส่หูฟัง Sony WF-1000XM3 โดยเปิด Adaptive Sound Control ไว้บนแอป เพื่อทดสอบการใช้งานโหมดตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) ในหลากหลายสถานการณ์ หูฟังสามารถตรวจจับสถานการณ์พร้อมปรับโหมดได้แม่นยำเลยทีเดียว
ในสถานการณ์แรกทีมงานได้นั่งอยู่กับที่ หูฟังก็ตรวจจับได้ว่าอยู่กับที่ ซึ่งเป็นสถานะ Stay พร้อมกับเปิดโหมดตัดเสียงรบกวนอัตโนมัติ
จากนั้นทีมงานก็ลองลุกขึ้นเดิน หูฟังก็จะตรวจจับได้ว่าเรากำลังเดินอยู่และปรับให้อยู่ในสถานะ Walk พร้อมกับเปิดโหมด Ambient Sound ที่ตั้งค่าไว้เพื่อให้ได้ยินเสียงการจราจรรอบข้าง ซึ่งถ้าหากเรากำลังวิ่ง สถานะก็จะอยู่ในโหมด Run หูฟังก็จะปรับระดับการได้ยินตามที่ตั้งค่าไว้ภายในแอป
และถ้าหากเรานั่งอยู่บนยานพาหนะ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถโดยสาร หรือเครื่องบิน หูฟังก็จะตรวจจับว่าเรากำลังอยู่ในสถานะ Transport พร้อมกับเปิดโหมดตัดเสียงรบกวนอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มความเป็นส่วนตัวมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนสถานะพร้อมกับเลือกโหมดที่เหมาะสมนี้ จะช่วยป้องกันอันตรายจากท้องถนนให้กับผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี หากกำลังเดินหรือวิ่งอยู่ และจะช่วยเพิ่มความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้หากกำลังนั่งทำงาน นั่งพักผ่อน หรือเป็นผู้โดยสารบนยานพาหนะ ซึ่งบอกได้เลยว่าฉลาดมากๆ
คุณภาพเสียงดี ฟังเพลงสบาย ไร้เสียงรบกวนจากภายนอก
ทีมงานทดสอบการฟังเพลงผ่านการสตรีมจากแอปเพลงทั่วไป หูฟัง Sony WF-1000XM3 ให้คุณภาพเสียงที่ดีมากๆ เสียงมีความใสและคมชัด และเมื่อใช้ควบคุมกับฟีเจอร์การตัดเสียงรบกวนก็ยิ่งทำให้เราฟังเพลงได้ชัดขึ้นและรับเสียงได้ทุกมิติ ค่อนข้างประทับใจในจุดนี้เลยทีเดียว
สำหรับการใส่หูฟัง หูฟัง Sony WF-1000XM3 ดูภาพยนตร์ พร้อมเปิดฟีเจอร์ตัดการรบกวนเป็นอะไรที่ยอดเยี่ยมมากๆ นอกจากเสียงจะชัดแจ๋วและมีมิติแล้ว ยังให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ในโรงภาพยนตร์จริงๆ โดยที่ไม่ได้ยินเสียงรบกวนรอบข้างเลย
แบตเตอรี่ การชาร์จ และระยะเวลาการใช้งาน
หูฟัง Sony WF-1000XM3 สามารถใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน 5-6 ชั่วโมง เมื่อเปิดการตัดเสียงรบกวนไว้ แต่ถ้าปิดการตัดเสียงรบกวนก็จะสามารถใช้งานต่อเนื่องได้นานถึง 7-8 ชั่วโมงเลยทีเดียว สามารถใช้งานได้ยาวนานทั้งหมด หากไม่ได้ใช้งานก็นำไปเก็บไว้ในเคสชาร์จ เพื่อชาร์จหูฟังต่อ
การชาร์จในเคสชาร์จหูฟังนั้น เป็นการชาร์จไร้สาย ชาร์จหูฟังจนแบตเตอรี่เต็มได้อีกประมาณ 3-4 รอบ โดยใช้เวลา 1.30 ชั่วโมงสำหรับการชาร์จหูฟังให้เต็มหนึ่งรอง และเคสชาร์จหูฟังยังรองรับระบบ Quick Charge ที่ชาร์จหูฟังเพียง 10 นาที ก็สามารถนำมาฟังต่อได้ถึง 90 นาที
ส่วนการชาร์จเคสจะชาร์จผ่านพอร์ต USB-C ใช้ระยะเวลาการชาร์จแบตเตอรี่ของเคสให้เต็มประมาณ 3 ชั่วโมง เคสไม่รองรับการชาร์จแบบไร้สาย
เปรียบเทียบ Sony WF-1000XM3 กับหูฟัง AirPods
ด้านคุณภาพเสียง
หูฟัง Sony WF-1000XM3 มีดีไซน์เป็นแบบ In Ear ที่ให้คุณภาพเสียงที่คมชัด กังวาลและมีมิติมากกว่าหูฟัง AirPods และผู้ใช้สามารถปรับ EQ ได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเน้นเสียงแหลมหรือเบสก็สามารถปรับเองได้ จึงทำให้เสียงที่ได้ตรงใจมากกว่า
บวกกับหูฟัง Sony WF-1000XM3 มีฟีเจอร์การตัดเสียงรบกวน (Noise Cancelling) ที่ตัดเสียงรบกวนภายนอกได้เงียบกริบ ไร้เสียงรบกวนจริงๆ จึงทำให้ได้ยินเพลงหรือเนื้อหามีเดียชัดมากๆ ซึ่ง AirPods นั้นยังไม่มีการตัดเสียงรบกวน จึงทำให้เสียงภายนอกยังคงแทรกเข้ามาอยู่ และที่สำคัญหากเรากำลังสนทนาโทรศัพท์อยู่ ฟีเจอร์การตัดเสียงรบกวนจะทำให้เราได้ยินเสียงปลายสายชัดเจนมากๆ
ด้านความสะดวกในการใช้งาน
หูฟังทั้งสองเป็นแบบ True Wireless ไร้สายจึงทำให้การใช้งานสะดวกทั้งคู่ โดยหูฟัง AirPods สามารถหยิบออกมาจากเคสและสวมใส่พร้อมใช้งานได้ทันที ส่วนหูฟัง Sony WF-1000XM3 ก็ทำได้เช่นกัน
เราสามารถหยิบหูฟังจากเคส แล้วนำมาสวมใส่ หูฟังก็จะเชื่อมต่อบลูทูธอัตโนมัติและพร้อมใช้งานทันที แต่การเชื่อมต่ออาจจะช้ากว่า AirPods เล็กน้อย แต่ก็ต่างกันประมาณ 3 วินาที ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาด้านการใช้งาน
ส่วนการสลับใช้งานไปยังอุปกรณ์อื่น หูฟัง AirPods ทำได้สะดวกและรวดเร็วมากกว่า โดยเปิดฝาเคสและจับคู่กับอุปกรณ์อื่นโดยการกดปุ่มด้านหลังได้ทันที แต่การสลับไปยังอุปกรณ์อื่นครั้งแรกของหูฟัง Sony WF-1000XM3 จะต้องแตะที่หูฟังทั้ง 2 ค้างไว้ 7 วินาที และทำการเชื่อมต่อบลูทูธในส่วนการตั้งค่า แต่วิธีการก็ไม่ได้ยากมาก
จุดพิจารณาของหูฟัง Sony WF-1000XM3
- หูฟัง Sony WF-1000XM3 ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเล็กกระทัดรัดก็จริง แต่หูฟังไม่มีคุณสมบัติการกันน้ำและไม่มีส่วนคล้องหู การนำหูฟังไปใช้ร่วมกับการออกกำลังกายแบบหนักๆ ที่มีเหงื่อเยอะก็อาจจะไม่เหมาะสม แต่ถ้าออกกำลังกายเบาๆ ในยิมก็สามารถใช้งานได้
- การตัดเสียงรบกวนของหูฟัง เป็นการตัดเสียงรบกวนที่ตัวหูฟังในฝั่งผู้พูดเท่านั้น ไม่มีการตัดเสียงรบกวนที่ไมค์ ดังนั้นหากมีการสนทนาโทรศัพท์ ผู้ฟังปลายสายยังคงจะได้ยินเสียงรบกวนรอบข้างชัดเจนปกติ
สเปคหูฟัง Sony WF-1000XM3 เพิ่มเติม
- ไดรเวอร์ 6 มม. ทรงโดม (คอยล์เสียง CCAW)
- รองรับ DSEE HX
- การตอบสนองความถี่ 20Hz – 20,000Hz
- รองรับการเชื่อมต่อระบบไร้สายบลูทูธ (Bluetooth 5.0) และ NFC
- หูฟังหนักข้างละประมาณ 8.5 กรัม
- เคสชาร์จหูฟังรองรับการจ่ายไฟแบบ Quick Charge หนักประมาณ 79 กรัม
- Digital Noise Cancelling พร้อมโปรเซสเซอร์ป้องกันเสียงรบกวนความละเอียดสูง QN1e และเซนเซอร์เสียงรบกวนแบบคู่
- มีระบบ Touch Sensor แตะควบคุมหูฟังสะดวก พร้อมฟังก์ชัน Quick Attention ช่วยให้พูดคุยได้สะดวกโดยไม่ต้องถอดหูฟังออก
- มี 2 สีให้เลือก คือ สีดำ และสีซิลเวอร์
สรุป
จุดที่ประทับใจในหูฟัง Sony WF-1000XM3 ก็คือการตัดเสียงรบกวนที่ดีมากๆ เมื่อเปิดโหมดตัดเสียงรบกวน (Noise Cancellation) แล้วบอกได้เลยว่า “เงียบกริบ” และได้ยินแต่เสียงเพลงหรือมีเดียภายในหูฟังเท่านั้น เสียงคนพูดหรือเสียงสอดแทรกภายนอกแทบจะไม่ได้ยินเลย
จากการฟังเพลงผ่านหูฟัง Sony WF-1000XM3 คุณภาพเสียงดีมากๆ ให้เสียงใส คมชัดและมีมิติ รวมถึงการใช้งานร่วมกับแอป Sony Headphone ที่เปิดโหมด Adaptive Sound Control ไว้ก็ช่วยให้การใช้งานในชีวิตประจำวันสะดวกขึ้น ไม่ว่าจะเดิน วิ่ง อยู่บนรถ หรือนั่งทำงานอยู่กับที่ หูฟังก็จะปรับสถานะและเปิดโหมดตัดเสียงรบกวนได้อย่างเหมาะสม และถ้าหากต้องการเปิดปิดโหมดตัดเสียงรบกวนเองก็สามารถควบคุมโดยการแตะที่หูฟัง (Touch Sensor) ซึ่งตรงนี้สะดวกมากๆ
สรุปท้ายสุด หูฟัง Sony WF-1000XM3 เหมาะกับการใช้งานฟังเพลงหรือดูหนัง โดยเน้นความเป็นส่วนตัว ไร้การรบกวนจากเสียงภายนอก เช่น ฟังเพลงระหว่างทำงาน ดูหนังระหว่างเดินทาง เป็นต้น และต้องการหูฟังที่มีคุณภาพเสียงดี ปรับแต่ง EQ เองได้ รวมถึงต้องการความสะดวกที่ใช้งานแบบไร้สายและควบคุมง่ายๆ ด้วยการแตะ หูฟัง Sony WF-1000XM3 ก็ตอบโจทย์ด้านความสะดวกในการใช้งานอย่างลงตัว
ราคาและสถานที่จัดจำหน่าย
Sony WF-1000XM3 จัดจำหน่ายในประเทศไทยแล้วในราคา 8,990 บาท สามารถสั่งซื้อได้ที่ Sony Store Shop ทุกสาขา หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://bit.ly/2mKOXzJ
รีวิวและเรียบเรียงโดย ทีมงาน iPhoneMod.net